หน้าแรก Voice TV 'ศศินันท์' แนะ 4 ข้อ ลงทุนสร้างสวัสดิการ ห่วงวิกฤเด็กเกิดต่ำ

'ศศินันท์' แนะ 4 ข้อ ลงทุนสร้างสวัสดิการ ห่วงวิกฤเด็กเกิดต่ำ

92
0
'ศศินันท์'-แนะ-4-ข้อ-ลงทุนสร้างสวัสดิการ-ห่วงวิกฤเด็กเกิดต่ำ

‘ศศินันท์’ ถามนายกฯ ตกใจเด็กเกิดต่ำ แต่ทำไมจัดงบไม่สะท้อนวิกฤต แนะนำรัฐบาล 4 ข้อ ลงทุนสร้างสวัสดิการ เอื้อประชาชนตัดสินใจมีลูกง่ายขึ้น เรียกร้องนายกฯ เซ็นรับรองร่างคุ้มครองแรงงานก้าวไกล เพิ่มวันลาคลอด 180 วัน

วันที่ 5 มกราคม 2567 ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพ เขต 11 พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายในการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 กล่าวถึงปัญหาเด็กเกิดต่ำในรอบ 71 ปี ว่าหลังจากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุเด็กเกิดต่ำเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องทำการบ้าน รวมถึงกรณี รมว.สาธารณสุข ที่ประกาศแก้วิกฤตเด็กเกิดต่ำเป็นนโยบายเร่งด่วนพร้อมออกแคมเปญส่งเสริมการมีบุตร แต่ในทางกลับกัน ตัวเลขงบประมาณของโครงการกลับไม่ได้แตกต่างอะไรกับการทำจัดทำงบประมาณปี 2566 

ศศินันท์กล่าวว่า วิกฤตเด็กเกิดต่ำเป็นวิกฤตที่ทั่วโลกเผชิญพร้อมกัน และจำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบายและการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่ใช่แค่การ “ขอร้อง” ให้ประชาชนมีลูกดังที่รัฐบาลไทยทำ ยกตัวอย่าง รัฐบาลเกาหลีใต้ ทุ่มงบประมาณอุดหนุนการดูแลเด็กเพิ่มขึ้น 8 เท่าใน 14 ปี และเพิ่มเงิน 2 เท่าให้คนมีลูก จาก 7,000-8,000 บาทต่อเดือน เป็น 26,000 บาทต่อเดือน หรือไต้หวัน เพิ่มเงินอุดหนุนเด็ก จาก 15,000 ล้านเหรียญไต้หวัน เป็น 80,000 ล้านเหรียญ คิดเป็น 5 เท่าของงบประมาณและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

ตนจึงขออภิปรายงบประมาณพร้อมกับเสนอแนวคิดจัดการวิกฤต ผ่าน baby birth journey หรือเส้นทางการเกิดอย่างมีคุณภาพของเด็ก โดยรัฐต้องใส่ใจและส่งเสริมเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา หากรัฐเข้าไปดูแลประชาชนจะได้คลายความกังวลที่จะต้องมีลูก หรือคนที่ตั้งใจจะมีลูกจะได้อุ่นใจขึ้น แต่ในงบประมาณปี 2567 มีโครงการในกลุ่มแม่และเด็ก เพื่อความพร้อมด้านสุขภาพของแม่ในช่วงตั้งครรภ์ มีงบในการดำเนินงานอยู่ทั้งหมด 46 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับโครงการกระทรวงอื่นๆ ที่ไม่ได้มีวาระแห่งชาติเสียด้วยซ้ำ

นอกจากนี้งบประมาณในการขับเคลื่อนประเด็น “ส่งเสริมการมีบุตร” ใช้งบประมาณ 2,184,000 บาท ซึ่งตนก็ไม่มั่นใจว่าตัวเลขเท่านี้เป็นรายละเอียดสำหรับค่าใช้จ่ายในด้านใด เพราะถ้าเทียบกับสัดส่วนงบประชุมของกระทรวง งบเท่านี้ จ่ายค่าประชุมและเบี้ยกรรมการก็หมดแล้ว นอกจากนี้ งบประมาณปี 2566 และปี 2567 ในโครงการสุขภาพแม่และเด็ก มีงบประมาณต่างกันไม่ถึงสองแสนบาท หากรัฐบาลต้องการเห็นการแก้ไขวิกฤตจริง จะไม่สะท้อนผ่านงบเช่นนี้ 

โดยสรุป ศศินันท์มองว่าการแก้ปัญหาเรื่องวิกฤติเด็กเกิดต่ำ ไม่ใช่แค่เรื่องความสัมพันธ์ทางกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ประชากรไทยไม่อยากมีลูก เกิดจากโครงสร้างของประเทศที่ไม่ได้เอื้อให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ หากมีการจัดสวัสดิการที่ดีและเอื้อต่อการมีบุตร จะช่วยให้การตัดสินใจมีบุตรง่ายขึ้น 

พร้อมเสนอคำแนะนำ 4 ข้อต่อรัฐบาลดังนี้ (1) รัฐบาลจะต้องลงทุนสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้าตามมติของคณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า และยกระดับวงเงินอุดหนุนเด็ก (2) ให้สิทธิผู้ปกครองเด็กได้ลาคลอดอย่างน้อย 180 วันและได้รับเงินค่าจ้างเต็มจำนวนตลอดวันลา โดยขอให้นายกรัฐมนตรีเซ็นรับรองร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่พรรคก้าวไกลเสนอเข้าสภาฯ เพื่อคุณภาพชีวิตของคนทำงานที่ต้องมีลูกด้วย (3) รัฐบาลจะต้องลงทุนส่งเสริมสวัสดิการต่างๆ ที่เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตร เช่น สนับสนุนมุมนมแม่ ห้องให้นมทั่วถึงในสถานประกอบการ โดยนำร่องในกระทรวงต่างๆ และ (4) สร้างและพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก Day Care ให้มีมากขึ้นและมีมาตรฐานด้วย

“หากรัฐบาลยังจัดงบโดยไม่เข้าใจว่าวิกฤตเด็กเกิดต่ำ คืออนาคตของประเทศที่วิกฤต การตัดใจไม่มีลูกของคนในวัยนี้ จะกลายเป็นเสียงประท้วงรัฐบาลของพวกเขาได้ดังที่สุด ว่ายังใช้ภาษีในการจัดสรรสวัสดิการในการดูแลประชาชนไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะไม่มีพ่อแม่คนไหน อยากให้ลูกอยู่ในประเทศที่ไร้ซึ่งความหวัง” ศศินันท์กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่