หน้าแรก Voice TV ปี 66 ‘คนกรุง’ สูดฝุ่นพิษ PM 2.5 พบเทียบเท่าการ ‘สูบบุหรี่’ 1,379.09 มวน

ปี 66 ‘คนกรุง’ สูดฝุ่นพิษ PM 2.5 พบเทียบเท่าการ ‘สูบบุหรี่’ 1,379.09 มวน

93
0
ปี-66-‘คนกรุง’-สูดฝุ่นพิษ-pm-25-พบเทียบเท่าการ-‘สูบบุหรี่’-1,379.09-มวน

ปี 2023 คนกรุงเทพฯ มีวันอากาศดีเพียง 31 วัน น้อยกว่าปีก่อนที่มี 49 วัน สูดฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,379.09 มวน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฝุ่น PM2.5 เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ประเด็นดังกล่าวก็ยิ่งได้รับการพูดถึงมากขึ้นไปอีกเมื่อมีกรณีของ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “สู้ดิวะ” ที่พบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย แม้เขาจะไม่สูบบุหรี่และออกกำลังกายเป็นประจำ แต่สาเหตุของการป่วยการเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายนั้นอาจมาจากสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และท้ายที่สุด ในช่วงเช้าของวันที่ 5 ธันวาคม 2023 หมอกฤตไทได้จากไปอย่างสงบหลังจากต่อสู้กับมะเร็งปอดมานานนับปี

ที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคประชาสังคมพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาฝุ่นพิษขึ้น ผ่านการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ.… หรือเรียกย่อๆว่า “ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด” เพื่อหาแนวทางในการจัดการฝุ่นรวมไปถึงการกำหนดโทษต่างๆ สำหรับผู้ฝ่าฝืน ทว่าร่างนี้แม้จะมีความพยายามผลักดันตั้งแต่ปี 2019 (พ.ศ.2562) แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สำเร็จ ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2023 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ X หลังทราบข่าวหมอแทนไท โดยระบุว่ารู้สึกสะเทือนใจอย่างยิ่งกับการจากไป ทั้งยังระบุว่า “ผมจะสู้ให้เต็มที่ ร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพราะอากาศสะอาดต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวคุณหมอกฤตไทอีกครั้งครับ” 

Rocket Media Lab ชวนสำรวจภาพรวมสภาพอากาศของกรุงเทพฯ ในปี 2023 ว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นอย่างไร การแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 จะเกิดขึ้นได้จริงไหม 

กรุงเทพฯ และสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในปี 2023

จากการทำงานของ Rocket Media Lab โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project ซึ่งค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดี คืออยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 31 วัน คิดเป็น 8.52% ของทั้งปี น้อยกว่าปี 2022 ที่มีอากาศดี 49 วัน และน้อยกว่าในปี 2021 ที่มีถึง 90 วัน ในขณะที่ส่วนใหญ่นั้นเป็นวันที่อากาศมีคุณภาพปานกลาง คือเกณฑ์สีเหลือง 241 วัน หรือคิดเป็น 66.21% ของทั้งปี แต่หากเทียบกับปี 2022 ที่มีอากาศในเกณฑ์สีเหลือง 261 วันแล้วก็นับว่าลดน้อยลงจากปีก่อนหน้า ส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษหรือสีส้มนั้นมี 78 วัน หรือคิดเป็น 21.43% ของทั้งปี มากกว่าปี 2022 ที่มีจำนวน 52 วัน และวันที่มีอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออยู่ในเกณฑ์สีแดงนั้นมีมากถึง 14 วัน หรือคิดเป็น 3.85% ของทั้งปี และเมื่อเทียบกับปี 2021 ที่มีเพียง 3 วัน กล่าวคือวันที่มีอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออยู่ในเกณฑ์สีแดงนั้นเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 11 วัน

3 เดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุด: เดือนเมษายนยังยืนหนึ่ง

เดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2023 ยังคงเป็นเดือนเมษายนเช่นเดียวกับปี 2022 โดยมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ทั้งเดือนอยู่ที่ 115.47 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลย สำหรับวันที่มีสีเหลืองหรือคุณภาพอากาศปานกลางพบว่ามี 12 วัน ส่วนสีส้มหรือคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 14 วัน และสีแดง หรือมีผลต่อสุขภาพ 4 วัน

รองลงมาคือเดือนมีนาคม โดยไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลย ขณะที่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 13 วัน และสีส้ม คุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 12 วัน และสีแดง หรือมีผลต่อสุขภาพ 6 วัน 

ตามมาด้วยเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งก็ไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลยเช่นเดียวกัน ขณะที่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 12 วัน และสีส้ม คุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 13 วัน ส่วนวันที่มีสีแดง หรือมีผลต่อสุขภาพมี 3 วัน

หากสำรวจวันที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปี พบว่าเป็นวันที่ 8 มีนาคม ซึ่ง โดยมีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 179 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าวันที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปี 2022 อย่างวันที่ 9 เมษายน 2022 โดยมีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยวันที่มีอากาศเลวร้ายของปีล่าสุด มีค่าเฉลี่ยอากาศเพิ่มมา 6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้จะเห็นว่า 3 เดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2023 เป็นเดือนในช่วงต้นปี และจะพบว่าเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดมักปรากฏซ้ำในช่วงเวลาเดียวกันทุกปี โดยเป็นช่วงหน้าแล้ง มีระยะเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม – เมษายน เป็นช่วงที่มีสภาวะอากาศแห้งทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นสามารถแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานขึ้น เช่นเดียวกับในปี 2022 ที่พบในเดือนธันวาคม มกราคม และเมษายน ปี 2020 และ 2021 ที่พบในเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ แต่ข้อสังเกตที่พบเพิ่มเติมคือในปี 2023 เดือนที่อากาศเลวร้ายเพิ่มจำนวนเดือนมากขึ้น มีระยะเวลาติดต่อกันนานขึ้น

เดือนกันยายนอากาศดีที่สุด

เดือนที่มีอากาศดีที่สุดในปี 2023 คือเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ทั้งเดือนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่น โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 13 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 27 วัน 

รองลงมาคือเดือนกรกฎาคม โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 6 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 25 วัน ตามมาด้วยมิถุนายน มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 7 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 23 วัน ทั้งนี้เดือนกันยายน เดือนกรกฎาคม และมิถุนายน

1compare_to_cigarette.jpg

ซึ่งเป็น 3 เดือนที่อากาศดีที่สุดนั้น ไม่พบวันที่มีอากาศในเกณฑ์สีส้มและแดงเลย ในขณะที่วันที่อากาศดีที่สุดในปี 2023 คือวันที่ 16 กันยายน 2023 โดยมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ปี 2022 คือวันที่ 30 กันยายน โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 16 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

ข้อสังเกตที่พบในปี 2023 พบว่าเดือนมีอากาศดีที่สุดเปลี่ยนมาเป็นเดือนกันยายน ตามมาด้วยกรกฎาคม และมิถุนายน ขณะที่เดือนที่มีอากาศดีที่สุดในปี 2022 ก็คือกรกฎาคม ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในปี 2023 นี้พบวันที่มีอากาศในเกณฑ์สีเขียวซึ่งหมายถึงอากาศดีมีจำนวนวันเพิ่มขึ้น 2 วันจากปีก่อนด้วย

อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งหนึ่งอาจจะมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกทุกเขต

ถ้าค่าฝุ่น PM 2.5 22 มคก./ลบ.ม. = บุหรี่ 1 มวน ปี 2023 ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไปกี่มวน

จากงานของ Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งหากนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2023 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ Richard Muller จะพบว่า

ในปี 2023 ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,370.09 มวน เพิ่มมากขึ้นถึง 154.32 มวน หรือเฉลี่ยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 7.7 ซองจากปี 2022 ที่มีจำนวน 1,224.77 มวน และปี 2021 ที่มีจำนวน 1,261.05 มวน อาจกล่าวได้ว่าอากาศปี 2023 เลวร้ายมากกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนผ่านเดือนที่มีอากาศในเกณฑ์สีส้มและสีแดงที่เพิ่มจำนวนเดือนขึ้น

5hotspot_in_ agricultural_plants.jpg

สำหรับเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2023 อย่างเดือนเมษายน คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 157.45 มวน คิดเป็นเฉลี่ยวันละ 5.24 มวน ซึ่งมีจำนวนของมวนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2022 อย่างเดือนเมษายน ที่มีจำนวน 127.77 มวน หรือเฉลี่ยวันละ 4.26 มวน 

หรือในเดือนที่อากาศดีที่สุดในปี 2023 อย่างเดือนกันยายน คนกรุงเทพฯ ก็ยังสูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 70.14 มวน เฉลี่ยวันละ 2.33 มวน ถือว่าสูบบุหรี่น้อยลงกว่าเดิม เมื่อเทียบกับเดือนที่อากาศดีที่สุดในปี 2022 อย่างกรกฎาคมที่มีจำนวน 74.36 มวน เฉลี่ยวันละ 2.4 มวน 

แผนแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 แก้แบบใดห์? แก้ไปถึงไหนแล้ว?

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2562 -2567 ซึ่งเป็นแผนแม่บทของรัฐบาลในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย Rocket Media Lab ชวนนำแผนแก้ปัญหาวาระฝุ่นแห่งชาติมากางดูอีกครั้ง พร้อมตรวจสอบว่าปัจจุบันมาตรการแต่ละเรื่องในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2562 -2567 มีอะไรคืบหน้าไปแค่ไหนบ้างในแต่ละปีนับแต่มีแผนนี้ 

จากแผนดังกล่าวแบ่งสามารถออกเป็น 3 มาตรการด้วยกันคือ คือ มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และมาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยแบ่งช่วงเวลาในการดำเนินการออกเป็น 3 ช่วงคือ ระยะเร่งด่วน/ช่วงวิกฤต ระยะสั้น (2562-2564) ระยะยาว (2565-2567) 

โดยในแผนวาระฝุ่นแห่งชาติ 2562 มีการกำหนดตัวชี้วัดไว้ 3 ข้อด้วยกันคือ

1) จํานวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น

2) จํานวนจุดความร้อน (Hotspot) ภายในประเทศลดลง

3) จํานวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ (ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ) ลดลง

ในตัวชี้วัดแรก จํานวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น เมื่อนำข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งมีรายงานว่าในปี 2563 มีจำนวนวันที่ค่าเฉลี่ย PM2.5 เกินมาตรฐาน 70 วัน ซึ่งลดลงเรื่อยๆ ในปีต่อมา คือ 67 วัน และในปี 2565 เหลือเพียง 26 วัน ก่อนจะสูงขึ้นในปี 2566 จำนวน 52 วัน ในขณะที่จากการรวบรวมข้อมูลโดย Rocket Media Lab ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก AQI พบว่าในปี 2563 มีวันที่อากาศดี 71 วัน และเพิ่มขึ้นในปีต่อมาเป็น 90 วัน ก่อนที่ในปี 2565 จะลดลงเหลือเพียง 49 วัน และลดลงอีกในปี 2566 เหลือเพียง 31 วัน

จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลา 4 ปีผ่านมา แม้จะมีช่วงปีที่ค่าเฉลี่ย PM2.5 ลดลง หรือมีวันที่อากาศดีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น อย่างเช่นในปี 2564 ที่เพิ่มจากปี 2563 ขึ้นมาจาก 71 วันเป็น 90 วัน แต่ในปีต่อมาในปี 2565 และปี 2566 ที่ผ่านมาคุณภาพอากาศกลับแย่ลงอีกครั้ง 

2fact_check_from_action_plan.jpg

ส่วนของตัวชี้วัดที่ 2 เรื่องจํานวนจุดความร้อน (Hotspot) ภายในประเทศลดลง ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ จุดความร้อนในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 ซึ่งมีจำนวน 146,915 จุด เหลือเพียง 111,682 จุดและลดลงอย่างมากในปี 2565 เหลือเพียง 53,673 จุด ก่อนจะกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้งในปี 2566 จำนวน 178,203 จุด ซึ่งสูงขึ้นกว่า 4 ปีที่ผ่านมา

และในตัวชี้วัดที่ 3 จํานวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ (ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ) ลดลง จากข้อมูลของกระทรงสาธารณสุขพบว่า ตัวเลขผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจลดลงในปี 2564 เพียงปีเดียว โดยจากในปี 2563 ที่มีจำนวน 1,163,632 ราย ปี 2564 เหลือเพียง 712,342 ราย ก่อนจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2565 จำนวน 911,453 ราย และสูงขึ้นอย่างมากในปี 2566 จำนวน 2,293,667 ราย 

โดยสรุป จะเห็นได้ว่า หากวัดความสำเร็จจากตัวชี้วัดทั้ง 3 ข้อ ข้อมูลในแต่ละประเด็นในปี 2566 ล้วนแสดงให้เห็นว่าแผนวาระฝุ่นแห่งชาติไม่ประสบความสำเร็จตามตัวชี้วัดที่ได้ตั้งไว้ 

จากนั้นเมื่อนำเอาเฉพาะมาตรการที่มีแนวทางการดำเนินงานและมีตัวชี้วัดและการวัดผลชัดเจน มาติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานและผลสำเร็จของแต่ละมาตรการจะพบว่า

ในส่วนของกฎหมาย PRTR หรือกฎหมายว่าด้วยระบบการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ และการส่งเสริมการจัดการสารเคมี ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่บรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ในปี 2562 ในมาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) พบว่าตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาภาครัฐยังไม่มีการผลักดันกฎหมาย PRTR อย่างจริงจัง ปัจจุบันมีเพียงร่างกฎหมาย PRTR ของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนเท่านั้นที่อยู่ในระหว่างเตรียมยื่นร่างฯ เข้าสู่สภาฯ 

มาตรการต่อมาคือ จุดความร้อนในประเทศลดลง จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่าจากปี 2563-2566 จุดความร้อนลดลงเพียงเล็กน้อยในปี 2564 จาก 146,915 จุดในปี 2563 เหลือเพียง 111,682 จุด และลดลงอย่างมากในปี 2565 เหลือเพียง 53,673 จุด อย่างไรก็ตามในปี 2566 จุดความร้อนก็กลับมาเพิ่มอีกครั้งและสูงถึง 178,203 จุด โดยสูงขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมา

และเมื่อพิจารณาแนวนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน จากแผน “11 มาตรการเร่งด่วนป้องกันฝุ่น PM 2.5 ปี 67” ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะพบว่ายังคงวางแนวนโยบายเดิมคือลดจำนวนจุดความร้อนลง แต่มีความชัดเจนมากขึ้นโดยกำหนดไว้ว่าต้อง “ควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาใน 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า จัดระเบียบควบคุมผู้เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อลดการเกิดไฟในพื้นที่ป่าให้ได้ 50% จากปี 2566”

มาตรการต่อมาก็คือการติดตั้งเครื่อง CEMS (ตรวจวัดมลพิษแบบอัตโนมัติมลพิษอากาศจากปล่องระบาย) ที่โรงงานอุตสาหกรรม โดยหลังจากมีมาตรการนี้ในแผนวาระฝุ่นแห่งชาติปี 2562 พบว่า กว่าจะมีคำสั่งจากกระทรวงอุตสาหกรรมก็ล่วงเลยมาจนถึงปี 2565 โดยคำสั่งนี้กำหนดให้โรงงานขนาดใหญ่ 13 ประเภทที่ระบายมลพิษจากปล่องกว่า 600 โรงงานทั่วประเทศ ต้องติดตั้งเครื่อง CEMS และเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อควบคุมเฝ้าระวังการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบ Real time ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป และโรงงานที่ขออนุญาตใหม่ต้องติดตั้ง CEMS ให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มประกอบกิจการโรงงาน ส่วนโรงงานเก่าต้องติดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 9 มิถุนายน 2567 แต่ในปัจจุบันพบว่ายังไม่ครอบคลุมทุกประเภทโรงงาน  

และเมื่อพิจารณาแนวนโยบายของรัฐในปัจจุบัน จะพบว่าในประเด็นนี้มีเพียงการกำหนดว่า “ให้ลดปริมาณฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างและอื่นใด” เพียงเท่านั้น ส่วนมาตรการการกำหนดให้ใช้น้ำมัน Euro 6/VI ภายในปี 2565 ปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้และเลื่อนออกไปจนถึงปี 2569 ในขณะที่มาตรการของรัฐบาลใหม่ในเรื่องนี้ยังคงยึดจากแผนเดิมจากปี 2562 โดยกำหนดไว้ว่า “ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 การลดปริมาณฝุ่นละอองจากรถบรรทุก รถยนต์ รถจักรยานยนต์” ซึ่งในปัจจุบันนี้น้ำมันยูโร 5 มีจำหน่ายในปั๊มบางจากเพียง 224 สาขาในกรุงเทพฯ 

ส่วนที่ถือว่ามีความคืบหน้าก็คือการปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ตาม WHO โดยค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ถูกปรับจากเดิมต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เป็นจะ 37.5 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี จาก 25 มคก./ลบ.ม. เป็น 15 มคก./ลบ.ม. ในปี 2565 เป็นการปรับจากระดับ 2 ไปยังระดับ 3 อย่างไรก็ตามเกณฑ์ของ WHO นั้นมีถึง 5 ระดับ 

นอกจากการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 แล้ว ยังมีการปรับมาตรฐานค่าควันดำรถยนต์อีกด้วย โดยมีการปรับในปี 2565 จากการตรวจวัดค่าควันดำด้วยเครื่องวัดควันดำระบบวัดความทึบแสง ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ เป็นสูงสุดไม่เกิน 30% จากเดิม 45% และการตรวจวัดควันดำด้วยระบบกระดาษกรอง ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ เป็นสูงสุดไม่เกิน 40% จากเดิม 50% โดยในส่วนของนโยบายของรัฐบาลในปี 2567 นั้นกำหนดไว้ว่า “เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีและการตรวจจับควันดำ การเข้มงวดวินัยจราจร การคืนพื้นผิวจราจรบริเวณการก่อสร้างรถไฟฟ้า การลดจำนวนรถยนต์ในท้องถนนโดยเฉพาะในพื้นที่เมือง สร้างจุดจอดแล้วจร และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนใช้รถยนต์ไฟฟ้า” 

4Hotspot.jpg

สำหรับมาตรการป้องกันหมอกควันข้ามแดน มีความพยายามในการสร้างความร่วมมือผ่านแผนต่างๆ จนมาถึงแผนงานอาเซียนปลอดหมอกควัน (Haze Free ASEAN Roadmap) แต่สุดท้ายก็ไม่มีข้อตกลงหรือสภาพบังคับใดๆ ในขณะที่แผนในปี 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาพร้อมแผนความร่วมมือชื่อใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) เพื่อสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ (ไทย ลาว พม่า) แต่ก็ยังไม่เห็นถึงมาตรการในการหาข้อตกลงร่วมหรือมีสภาพบังคับต่อกันระหว่างปไทยกับระเทศเพื่อนบ้านในการลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน นอกจากนั้นยังมีแนวนโยบายออกมาเพิ่มเติมอีกว่า ให้เพิ่มเงื่อนไขเรื่องการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในการนำเข้า – ส่งออกสินค้า เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน

อีกหนึ่งมาตรการที่เกิดขึ้นจากแผนปี 2562 ก็คือ การจัดซื้อรถเมล์ NGV 489 คัน ซึ่งมีการจัดซื้อครบจำนวนแล้วตั้งแต่ปี 2563 อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้เป็นเพียงการจัดซื้อรถเมล์ NGV เพิ่ม แต่ไม่ได้หมายถึงการใช้รถเมล์ NGV หรือรถเมล์ไฟฟ้าทดแทนรถเมล์น้ำมันทั้งหมดแต่อย่างใด โดยปัจจุบันมีรถเมล์เก่าที่ใช้น้ำมันยังคงให้บริการอยู่ ส่วนแผนการเปลี่ยนรถเมล์เป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมดนั้นอยู่ภายใต้แผนการปฏิรูปรถเมล์อยู่แล้ว 

อีกหนึ่งมาตรการที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนปี 2562 ก็คือการผลักดันให้ประเทศไทยมี พ.ร.บ. อากาศสะอาด โดยปัจจุบันนี้ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ เช่นเดียวกันกับมาตรการการเพิ่มพื้นที่สีเขียว 9 ตรม./คน ที่ยังคงไม่ประสบความสำเร็จ โดยปัจจุบันกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 6.99 ตรม./คน

สำหรับมาตรการห้ามการเผาในที่โล่ง แม้จะพบว่ามีประกาศจากทางกระทรวงมหาดไทยในการห้ามเผา โดยให้มีการกำหนดช่วงเวลาให้เผาและต้องแจ้งต่อพื้นที่ก่อนจะได้รับอนุญาตในการเผานั้น แต่กลับพบว่ายังคงมีการลักลอบเผาเรื่อยมา เช่นเดียวกันกับมาตรการ “ไม่ให้มีการเผาในไร่อ้อยร้อยละ 100 ภายในปี 2565” ซึ่งยังพบว่ายังคงมีอ้อยเผาเข้าหีบเพิ่มมากขึ้นทุกปี ยกเว้นในปี 2564 ที่ลดลง ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันนั้นมีแนวนโยบายในเรื่องว่า “ไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ” 

นอกจากนั้นนโยบายปี 2567 ในส่วนของ 17 จังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ ยังมีนโยบายพิเศษคือ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 17 จังหวัดในภาคเหนือ ต้องดำเนินการลดการเผาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 10 แห่ง และป่าสงวนทั้ง 10 แห่ง ลงให้ได้ 50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมใน 17 จังหวัดภาคเหนือก็ต้องลดลง 50% เช่นกัน 

สำหรับพื้นที่นอกเหนือจากพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมถึงพื้นป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนนอกเหนือจากพื้นที่ข้างต้น ตั้งเป้าว่าต้องลดการเผาลง 20% ส่วนพื้นที่เกษตรอื่น ๆ นอกภาคเหนือให้ลดลง 10% นอกจากนั้นได้กำหนดว่าค่าเฉลี่ยของฝุ่นควัน PM2.5 ในภาคเหนือจะต้องลดลง 40% กรุงเทพฯ ลดลง 20% ภาคตะวันออกเฉลียงเหนือต้องลดลง 10% และภาคกลางลดลง 10% สำหรับจำนวนวันที่มีฝุ่นควันเกินค่ามาตรฐานกำหนดให้ ภาคเหนือต้องลดลง 30% กรุงเทพฯ ลดลง 5% ภาคตะวันออกเฉลียงเหนือลดลง 5% ภาคกลาง 10%

ห้ามก็ยังเผา ให้เงินก็ยังเผา ถึงเวลาทบทวนมาตรการและงบฯ แล้วหรือยัง?

ประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงขึ้นก็คือ “การเผา” ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลของ Rocket Media Lab ในงาน “สืบจากค่าฝุ่น : อะไรกันแน่ที่ดันค่าฝุ่น PM2.5 ใน กทม. ให้พุ่งสูง” ที่นำเอาข้อมูลตัวแปรต่างๆ มาเปรียบเทียบให้เห็นว่าในช่วงวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงขึ้นอย่างผิดปกตินั้นมีตัวแปรอะไรบ้างที่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งก็พบว่าการเผาในพื้นที่เกษตรในจังหวัดใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ มีจำนวนพุ่งสูงขึ้นอย่างผิดปกติในช่วงเวลาเดียวกันกับวันที่ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ พุ่งสูงสูงอย่างมาก 

ในขณะที่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เริ่มสูงขึ้นมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานอีกครั้ง ซึ่งมีรายงานว่าพบจุดการเผาในประเทศกัมพูชาเกินกว่า 1,000 จุด ซึ่งเท่ากับว่าการเผาทั้งในประเทศและนอกประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ และในจังหวัดต่างๆ พุ่งสูงขึ้น จากข้อมูลของ GISTDA ในปี 2023 มีจุดความร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมด 178,203 จุด ทั่วประเทศ หากแยกเป็นจังหวัดจะพบว่าจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือเชียงใหม่ 14,035 จุด รองลงมาคือ กาญจนบุรี 12,778 จุด น่าน 11,848 จุด เชียงราย 10,475 จุด และตาก 10,275 จุด โดยจะพบว่าจุดความร้อนส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก ในขณะที่จุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านนั้น พบจุดความร้อนในประเทศพม่ามากที่สุด 420,481 จุด รองลงมาคือลาว 257,146 จุด และกัมพูชา 119,325 จุด 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากลักษณะของพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อนในประเทศไทยจะพบว่า เป็นพื้นที่ป่ามากที่สุด 114,546 จุด คิดเป็น 64.28% รองลงมาคือ นาข้าว 23,420 จุด คิดเป็น 13.14% เกษตรอื่นๆ 14,562 จุด คิดเป็น 8.17% ข้าวโพดและไร่หมุนเวียน 11,553 จุด คิดเป็น 6.48% อ้อย 4,928 จุด คิดเป็น 2.77% และอื่นๆ 9,194 จุด คิดเป็น 5.16% อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจุดความร้อนนั้นนับจำนวนจุด แต่ไม่ได้ระบุขนาดพื้นที่ที่ถูกเผา ดังนั้นจึงไม่อาจวัดได้ว่าแต่ละพื้นที่ที่มีการเผานั้นมีขนาดพื้นที่ที่ถูกเผามากน้อยแค่ไหน 

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า แม้จุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านจะมีจำนวนสูงมากกว่าในประเทศไทย แต่เนื่องจากนโยบายที่ผ่านมาเป็นเพียงการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูล ไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมายหรือบทลงโทษต่อกัน จึงไม่อาจจะวัดความสำเร็จของนโยบายได้ ในขณะที่จุดความร้อนในประเทศนั้นมีมาตรการที่ชัดเจน รวมไปถึงการใช้บทบังคับและงบประมาณในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะส่วนของพื้นที่การเกษตรที่มีนโยบายเป็นรูปธรรมกว่าในส่วนของพื้นที่ป่า ซึ่งจะเห็นได้ว่า นาข้าว

ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรที่พบจุดความร้อนมากที่สุด และข้าวโพดเป็นพื้นที่การเกษตรที่ใช้เพียงมาตรการกำหนดเงื่อนไขในการเผามาตั้งแต่แผนปี 2562 และในแผน “11 มาตรการเร่งด่วนป้องกันฝุ่น PM 2.5 ปี 67” ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก็ยังคงใช้มาตรการเดิมจากแผนปี 2562 คือกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตการเผาและการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตรโดยสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่

ในขณะเดียวกันก็มีการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมคือ นำระบบการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2.5 Free) มาใช้กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การจัดหาและสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เหมาะสม จัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยนำมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ และจัดตั้งศูนย์รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 

ซึ่งจากข้อมูลจุดเผาตั้งแต่ปี 2564-2566 จะพบว่า นาข้าวมีจุดเผาลดลงจาก 22,696 จุดในปี 2564 เหลือเพียง 14,937 จุดในปี 2565 และกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกในปี 2566 ซึ่งสูงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา จำนวน 23,420 จุด เช่นเดียวกันกับข้าวโพด ซึ่งจุดเผาลดลง จาก 6,704 ในปี 2564 เหลือเพียง 4,375 จุด ในปี 2565 และกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 2566 สูงถึง 11,553 จุด 

ในขณะที่อ้อยนั้นพบว่า นอกจากมาตรการจากแผนวาระฝุ่นแห่งชาติ ปี 2562 ที่กำหนดไว้ว่า “ไม่ให้มีการเผาในไร่อ้อยร้อยละ 100 ภายในปีพ.ศ. 2565” ยังพบว่าในแต่ละปี ภาครัฐยังมีนโยบายและการอุดหนุนเงินงบประมาณเพื่อสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ตัดอ้อยสดคุณภาพดีโดยไม่เผาเพื่อลดฝุ่น PM2.5 อีกด้วย โดยพบว่าในฤดูกาลหีบอ้อย 2563/2564 มีงบประมาณอุดหนุนเป็นวงเงิน 5,934 ล้านบาท ปี 2564/65 จำนวน 8,159.14 ล้านบาทและปี 2565/66 เป็นเงิน 7,990.60 ล้านบาท

แต่จากข้อมูลจุดที่เกิดในพื้นที่การปลูกอ้อยจะพบว่าไร่อ้อยมีจุดเผาลดลง จาก 4,535 จุดในปี 2564 เหลือเพียง 2,807 จุดในปี 2565 และกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกในปี 2566 ซึ่งสูงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา จำนวน 4,928 จุด นอกจากนั้น หากดูข้อมูลปริมาณอ้อยเผาเข้าหีบก็ยังพบว่าปริมาณอ้อยเผาเข้าหีบมีจำนวนลดลงในปี 2564 จากจำนวน 38,553,979.5 ตัน ในปี 2563 เหลือเพียง 17,610,220.42 ตันในปี 2564 และกลับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 25,118,943.55 ตัน ในปี 2565 และ 30,781,303.2 ตันในปี 2566 

จะเห็นได้ว่า มาตรการ “ไม่ให้มีการเผาในไร่อ้อยร้อยละ 100 ภายในปีพ.ศ. 2565” จากแผนปี 2562 ไม่ประสบความสำเร็จ โดยจุดเผาในพื้นที่ไร่อ้อยในปี 2566 ที่ผ่านมานั้นสูงกว่าปีก่อน แต่ที่น่าสังเกตมากไปกว่านั้นก็คือ การใช้งบประมาณอุดหนุนจากรัฐแก่ชาวไร่อ้อยปีละหลายพันล้านบาทเพื่อให้ตัดอ้อยสด ลดการเผาอ้อยนั้น ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากตัวเลขอ้อยเผาเข้าหีบในปีล่าสุด 

การใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อลดฝุ่น PM2.5 จากไร่อ้อยโดยพยายามจูงใจให้เกษตรกรเลิกเผาอ้อยและตัดอ้อยสดมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าจำนวนอ้อยเผาเข้าหีบกลับยิ่งสูงขึ้นนั้น ก่อให้เกิดคำถามถึงมาตรการในการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล รวมถึงเกิดคำถามว่า เหตุใดอ้อยจึงเป็นพื้นที่การเกษตรชนิดเดียวที่มีงบประมาณสนับสนุนทางตรงแก่เกษตรกร ในขณะที่นาข้าวกับข้าวโพดนั้น นอกจากจะไม่มีมาตรการที่ชัดเจนแล้วยังไม่มีงบประมาณในการจูงใจหรือช่วยเหลือเกษตรกรอีกด้วย โดยในประเด็นนี้ดร.เจน ชาญณรงค์ รองประธานสภาลมหายใจ กทม. ให้สัมภาษณ์กับ Rocket Media Lab ไว้ว่า

“โดยพื้นฐาน ราคาอ้อยให้ผลตอบแทนติดลบ ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ การที่เกษตรกรจะต้องหารถตัดอ้อยมาตัด ยิ่งไปเพิ่มต้นทุนเขาอีก ประการที่สอง หลายพื้นที่ใช้รถตัดอ้อยไม่ได้ เพราะเป็นแปลงเล็ก พื้นที่ไม่เรียบ มีโคก มีดอน มีคันนา นอกจากรถจะเข้าไปตัดไม่ได้แล้วจำนวนรถก็อาจจะไม่พออีก เลยเผากันเสียก่อนแล้วมีแรงงานมาตัด ถ้าเกิดไม่เผาก็ตัดไม่ได้ แรงงานก็พร้อมแล้วก็เลยต้องเผา ไม่งั้นเข้าหีบไม่ทัน เป็นเรื่องของการจัดเวลาด้วย  

“การบอกให้ลดการเผาอ้อยเหลือ 0% เป็นไปไม่ได้ สหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ศูนย์เลย สิ่งแรกเราต้องยอมรับว่ามันลดให้เป็น 0% ไม่ได้ แต่ว่าจะเผาอย่างไรให้มันไม่รบกวนดีกว่า ในประเด็นที่ว่าทำไมพืชการเกษตรอื่นๆ ถึงไม่มีมาตรการที่ชัดเจนเหมือนอ้อย ดร.เจน ชาญณรงค์ กล่าวว่า

“เพราะกลไกมันง่าย ลำอ้อยที่เข้าโรงงานน้ำตาลมันเห็นชัดเลยว่าไหม้หรือไม่ไหม้ ส่วนข้าวนี่เวลาเราเกี่ยวข้าว เราเอาเมล็ดมาใส่ยุ้งฉางไว้แล้วค่อยเอามาส่ง เวลาโรงสีเห็นเมล็ดข้าวเปลือกก็ตอบไม่ได้ว่ามาจากนาที่เผาหรือไม่เผาเพราะเมล็ดมันเหมือนกันหมด ไม่เหมือนอ้อยที่เห็นว่าดำก็รู้เลยว่าเผามา เพราะฉะนั้นกลไกเลยให้คุณให้โทษไม่ได้ อีกอย่าง ข้าวมันไม่มีสำนักงานอ้อยและน้ำตาลเหมือนการทำไร่อ้อย มันก็เลยควบคุมไม่ได้

“อีกอย่างคือชาวนาไม่ได้เผาตอนเกี่ยวข้าว นาข้าวมันเกี่ยวข้าวไปแล้วก็ทิ้งต้นข้าวไว้ในนา อีกสักเดือนค่อยกลับมาเผา แต่อ้อยมันเผาตอนตัดลำ จริงๆ แล้วรัฐสามารถใช้ดาวเทียมดูว่าแปลงไหนเผาแล้วก็ทำบัญชีหนังหมาขึ้นมา คนนี้เผาบ่อยเวลาไปกู้เงิน ธ.ก.ส. มีชื่ออยู่ในบัญชี ดอกเบี้ยก็แพงหน่อย หรือเวลาจำนำข้าว ถ้ามีชื่อในลิสต์ราคาจำนำก็จะถูกลง เรื่องพวกนี้ทำได้หมด แต่ว่าจะทำหรือเปล่าเป็นอีกเรื่อง เพราะเกษตรกรเป็นฐานเสียงทางการเมืองขนาดใหญ่ ประเด็นนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค แต่มีประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย 

นอกจากกลไกที่ไม่เหมือนกันที่อาจจะทำให้ไม่สามารถใช้มาตรการเดียวกันหรือใกล้เคียงกันแล้ว ดร.เจน ชาญณรงค์ ยังย้ำว่า เราควรจะไปโฟกัสที่พื้นที่ที่มีการเผามากที่สุดอย่างป่ามากกว่า “เราปลูกข้าวประมาณ 60 ล้านไร่ เราเผาเฉลี่ย 2 ล้านไร่ ก็คิดเป็น 3% แล้วเราปลูกอ้อยน้อยกว่าเยอะ แต่ พื้นที่ที่มีการเผาใหญ่กว่านั้นคือป่ารองลงมาก็คือนาข้าว ถ้าอยากแก้ปัญหาการเผาอาจจะต้องแก้ 2 ตัวนี้ก่อน อ้อยมันมีกลไกชัดเจนเรื่องราคารับซื้อที่สามารถใช้กำกับได้ แต่กับนาข้าวหรือป่าเรายังไม่เห็นกลไกนั้นอย่างชัดเจน” 

หมายเหตุ: 

  • อ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project ซึ่งค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง https://aqicn.org/city/chiang-mai 
  • ค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งหนึ่งอาจจะมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกทุกเขต 
  • PM2.5 เทียบกับบุหรี่ http://berkeleyearth.org/air-pollution-and-cigarette-equivalence 
  • แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2562 -2567 กรมควบคุมมลพิษ
  • อ้างอิงข้อมูลจุดความร้อนจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA
  • อ้างอิงจุดความร้อนจากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า ปี 2566 จาก GISTDA
  • จำนวนจุดเผาไม่ได้สะท้อนพื้นที่การเผาของพืชทุกชนิด
  • อ้างอิงข้อมูลปริมาณอ้อยเข้าหีบ จากรายงานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย https://www.ocsb.go.th/report_area_yield/ 
  • อ้างอิงข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกจากสถิติการเกษตรของประเทศไทย ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
  • อ้างอิงมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และกลไกการบริหารจัดการ จากการประชุมคณะรัฐมนตรี 19 ธันวาคม 2566 https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/76368?fbclid=IwAR08OpW3oXc6uRyV7cdKgvGcrHCYcfB3iMsTkn7n192r7sj3wpV9r0DE-uE 

ดูข้อมูลได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-bkk-pm-25-2023

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่