หน้าแรก Voice TV 3 ข้อกังวล – 4 ข้อลุยเปิดวงถก คกก.ดิจิทัลวอลเล็ต – ‘บิ๊กราญ’ นั่งปธ.อนุฯ อุดช่องทุจริต

3 ข้อกังวล – 4 ข้อลุยเปิดวงถก คกก.ดิจิทัลวอลเล็ต – ‘บิ๊กราญ’ นั่งปธ.อนุฯ อุดช่องทุจริต

72
0
3-ข้อกังวล-–-4-ข้อลุยเปิดวงถก-คกกดิจิทัลวอลเล็ต-–-‘บิ๊กราญ’-นั่งปธ.อนุฯ-อุดช่องทุจริต

หลังป.ป.ช.แถลงข้อเสนอแนะต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เมื่อ 15 ก.พ.67 คณะกรรมการใหญ่ดิจิทัลวอลเล็ตเพิ่งได้ประชุมหารือกันไปว่าจะเดินอย่างไรต่อ ‘วอยซ์’ สรุปการหารือดังกล่าวในเบื้องต้น

การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 1/2567 (คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่) เมื่อ 15 ก.พ.2567 ที่มีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมถูกจับตาอย่างมาก หลังถูกตั้งคำถามว่านโยบายเรือธงของรัฐบาลจะสะดุดหรือไม่ หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งข้อเสนอแนะมายังรัฐบาลและดูเหมือนจะไม่เห็นด้วยในหลายส่วน

มีรายงานว่า บรรยากาศการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ได้เปิดให้กรรมการทุกคนเสนอความเห็นเต็มที่ ทั้งคนที่สนับสนุนให้เดินหน้าและคนที่เป็นกังวลกับการเดินหน้า

สำหรับฝ่ายที่สนับสนุนให้เดินหน้า ระบุ 4 ปัจจัยหลักที่รัฐบาลควรเดินหน้าเต็มกำลัง คือ

1.เศรษฐกิจประเทศในขณะนี้เข้าขั้นวิกฤต เห็นได้จากประชาชนไม่มีกำลังซื้อ

2.ห้างร้านค้าต่างๆ ยอดขายไม่ขยับตัวขึ้น

3.ธุรกิจเอสเอ็มอีตอนนี้เข้าสู่ขั้นวิกฤต

4.เห็นว่าเศรษฐกิจประเทศไทย ต้องได้รับการกระตุ้นอย่างเร่งด้วย โดยรีบเริ่มตั้งแต่ระยะสั้นไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ฝ่ายที่กังวลมี 3 ประเด็นหลักๆ คือ

1.อยากให้โครงการเมื่อดำเนินการแล้วจะถูกต้องตามกฎหมาย

2.ไม่มีช่องโหว่หรือจุดอ่อนในการคอร์รัปชัน

3.เมื่อดำเนินโครงการต้องมีคุ้มค่า

ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติตั้งทีมงานและอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาและตอบข้อสงสัยต่างๆ 3 จุด โดยในส่วนการชี้แจงข้อกฎหมายเพื่อตอบข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา มีการมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายฯ (กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์) เป็นอนุกรรมการร่วมหารือกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางในการรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อตอบข้อสังเกตการณ์

นอกจากนี้มีมติตั้งอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำอันเข้าข่ายการผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีการเสนอชื่อขึ้นมาหนึ่งเดียว คือ พล.ต.อ.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ให้เป็นประธาน มีบทบาทหน้าที่ในการวางระบบระบบไม่ให้โครงการรั่วไหลผิดหลักเกณฑ์ หรือเอื้อประโยชน์จนนำไปสู่การคอร์รัปชัน

นอกจากนี้คณะกรรมการยังมอบหมายให้กระทรวง DES และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) ศึกษาและดำเนินการตามข้อหารือ และข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางการขยายขอบเขตการพัฒนาระบบ

อย่างไรก็ตามต้องติดตามว่า หลังจากนี้ 30 วัน การทำงานของอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นและนำผลข้อสังเกตไปศึกษาเพื่อมารายงานต่อคณะกรรมการชุดใหญ่จะมีความก้าวหน้าอย่างไร และทิศทางของโครงการจะใส่เกียร์ว่างหรือเดินหน้าเต็มสูบ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่