หน้าแรก Voice TV เปิดมติ ครม. รับรายงานสถานบันเทิงครบวงจร-ซื้อขายข้าวแบบ G to G

เปิดมติ ครม. รับรายงานสถานบันเทิงครบวงจร-ซื้อขายข้าวแบบ G to G

85
0
เปิดมติ-ครม.-รับรายงานสถานบันเทิงครบวงจร-ซื้อขายข้าวแบบ-g-to-g

เปิดมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำวันที่ 9 เมษายน 2567  มีมติรับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร บทราบแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (9 เม.ย. 2567) คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอ

คณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้พิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมในกลุ่ม Fun economy มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมตั้งแต่การท่องเที่ยว กีฬา สถานบันเทิง ธุรกิจการจัดประชุมและจัดนิทรรศการ (MICE) ประกอบด้วยธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ เช่น Meeting, Incentives, Conventions (หรือ Conferencing) และ Exhibitions ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพที่สามารถต่อยอดอุตสาหกรรม Fun economy ได้โดยผ่านการส่งเสริมให้มีสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่และเพิ่มเติมรายได้เข้าประเทศ ในขณะเดียวกันสถานบันเทิงครบวงจรจะเป็นการนำธุรกิจกาสิโนและการพนันถูกกฎหมายให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างมีมาตรฐาน ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย และมีการจัดเก็บรายได้และภาษีอย่างถูกต้อง 

คณะกรรมาธิการฯ จึงได้พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบในด้านต่าง ๆ หากรัฐจะมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร ขึ้นในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 

1. ด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการมีสถานบันเทิงครบวงจร โดยศึกษาถึงผลกระทบในภาพรวม ทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่จะส่งผลต่อนโยบายของการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา และด้านศาสนาและจริยธรรม จากการมีสถานบันเทิงแบบครบวงจรในประเทศไทย

ข้อสังเกต 

• การมีสถานบันเทิงครบวงจรจะทำให้รัฐสามารถควบคุมหรือกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบางประเภทที่มีผลกระทบต่อประชาชนในภาพรวมได้ดีขึ้น เช่น ธุรกิจกาสิโน หรือการเล่นพนันถูกกฎหมาย และจะทำให้เกิดประโยชน์และผลกระทบ ดังนี้ 

1) กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้นทั้งในด้านการอุปโภค บริโภค รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นย

2) ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ที่มีการจัดตั้งสถานบริการครบวงจร ตลอดจนเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพในพื้นที่

3) อาจทำให้เกิดปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน โดยอาจระบุในเงื่อนไขใบอนุญาตให้มีคนไทยทำงานในสถานที่ดังกล่าวไว้ในสัดส่วนที่เหมาะสม 

• การสร้างการรับรู้และความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง  

1) ควรมีกระบวนการสร้างความเชื่อมั่น จัดทำเวทีประชาคมในพื้นที่ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชน

2) ควรมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการศึกษาผลกระทบของการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรอย่างละเอียดรอบด้าน

3) หากมีการเปิดแอปพลิเคชันให้มีการรับฟังความคิดเห็น ควรเปิดให้มีการรับฟังความเห็นด้านผลกระทบทั้ง 6 ด้านรวมทั้งแนวทางในการเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

4) กรมสุขภาพจิตควรจะเป็นหน่วยงานหลักที่จะเป็นกลไกการลดผลกระทบจากการพนัน 

5) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรมีการดำเนินงานในเชิงรุก เพื่อแสวงหาวิธีการป้องกันหรือลดผลกระทบ โดยการขับเคลื่อนกิจกรรมทางศาสนา

6) ควรมีมาตรการป้องกันดูแลผลกระทบอย่างเหมาะสม 

2. ด้านโครงสร้างทางธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรและการเก็บรายได้เข้ารัฐ การศึกษาถึงโครงสร้างทางธุรกิจเกี่ยวเนื่องกันกันสถานบันเทิงครบวงจร รวมถึงการจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาตต่าง ๆ จากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรหรือสถานบันเทิงที่มีสถานกาสิโนรวมอยู่ด้วย เพื่อนำมาเป็นรายได้เข้ารัฐ สำหรับนำไปขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ต่อไป 

ข้อสังเกต

• รูปแบบของการตั้งสถานบันทิงครบวงจร หากรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนเองแล้ว อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านงบประมาณที่รัฐจะต้องจัดหามาใช้ในการลงทุนดังกล่าว แนวทางที่จะช่วยลดปัญหาจึงอาจจะต้องเป็นในรูปแบบการให้ใบอนุญาตกับเอกชนตามระยะเวลาที่กำหนด

• ควรพิจารณาถึงรูปแบบการลงทุนที่เปิดกว้าง โดยรัฐลงทุนร่วมกันกับเอกชน หรือการให้สัมปทานหรือให้ใบอนุญาตกับเอกชน จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน รอบคอบ 

• พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจะตั้งเป็นสถานบันเทิงครบวงจร เช่น ต้องอยู่ใกล้กับสนามบินนานาชาติ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานสามารถรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก 

• ควรมีการตั้ง “ภาษีกาสิโน” ขึ้นมาโดยเฉพาะ และควรมีการกำหนดอัตราภาษีและค่าธรรมเนียม   ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และเป็นการเฉพาะต่างหากจากอัตราภาษีปกติทั่วไปที่มีอยู่ 

• ควรจัดตั้งหน่วยงานในการกำกับดูแลการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบเชิงวัฒนธรรม มาตรการทางกฎหมายสำหรับสถานประกอบกิจการที่อยู่ในความรับผิดชอบ มาตรการทางสังคมในลักษณะการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน

• ควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อลดผลกระทบจากการพนันและสถานบันเทิงครบวงจร โดยจัดสรรเงินรายได้จากธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรและการพนันเข้ากองทุน

3. ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงครบวงจร การศึกษาถึงรูปแบบ วิธีการ รวมถึงระเบียบหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง สถานประกอบการ ตลอดจนการเล่นการพนันที่ใช้บังคับในปัจจุบัน เพื่อนำมาพัฒนาหรือแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัย หรือยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสภาพการณ์ และบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

ข้อสังเกต

• ควรมีการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ รวมถึงการร่างกฎหมายเฉพาะในกิจการสถานบันเทิงครบวงจร ควรปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงครบวงจรอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ยังมีมติเห็นชอบในหลักการการขอยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าว ซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ตม. 6) ที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง เป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 15 เมษายน 2567 – 15 ตุลาคม 2567 

กระทรวงการต่างประเทศ ได้ยกร่างประกาศ มท. เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยได้รับการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบ ตม. 6 ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2567 – 15 ตุลาคม 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ช่วงเดือนเมษายน – ตุลาคม 2567 อีกทั้งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และลดความแออัดบริเวณหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง ดังนี้

1.ขยายให้คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรผ่านช่องทางของด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา ได้รับการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบ ตม. 6 เป็นการชั่วคราวต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 – 15 ตุลาคม 2567

2.กำหนดให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรผ่านช่องทางของด่านตรวจคนเข้าเมืองทางบก ได้รับการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบ ตม. 6 จำนวน 7 ด่าน ได้แก่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงแสน จ.เชียงราย ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จ. หนองคาย ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 จ.มุกดาหาร ด่านตรวจคนเข้าเมืองคลองลึก จ.สระแก้ว ด่านตรวจคนเข้าเมืองสุไหงโกลก จ. นราธิวาส ด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง จ. ยะลา และด่านตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์ จ.สงขลา

3.กำหนดให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรผ่านช่องทางของด่านตรวจคนเข้าเมืองทางน้ำที่เดินทางมากับเรือสำราญและกีฬา ได้รับการยกเว้นการยื่นแบบ ตม. 6 จำนวน 5 ด่าน ดังนี้ (กำหนดเพิ่มเติม) ตรวจคนเข้าเมือง จ.ภูเก็ต ตรวจคนเข้าเมืองจ. ระยอง ตรวจคนเข้าเมือง จ. ชลบุรี ตรวจคนเข้าเมือง จ. กระบี่ และตรวจคนเข้าเมือง จ.สุราษฎร์ธานี

โดยที่แบบ ตม. 6 เป็นเอกสารที่เก็บข้อมูลของคนต่างด้าวเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและติดตามคนต่างด้าว เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของประเทศ จึงมอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับกำกับติดตามและประเมินผลกระทบจากการออกประกาศ มท. ฉบับนี้ภายหลังครบระยะเวลาที่ประกาศไว้ (6 เดือน) ทั้งนี้ หากมีผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอาจเสนอต่อ ครม. พิจารณายกเลิกประกาศ มท. ดังกล่าวต่อไปได้

ขณะเดียกันที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Government to Government: G to G) ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 นบข. ครั้งที่ 1/2567 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติฯ โดยมีการปรับปรุงรายละเอียดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ ตลอดจนการยกระดับราคาข้าวเปลือกให้แก่เกษตรกรในช่วงระยะเวลาที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดจำนวนมาก แต่ยังคงอยู่ภายใต้หลักการเดิมที่ ครม. ได้เคยมีมติรับทราบไว้เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเรื่องต่างๆ 

ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดหลักการสำคัญในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G และการเปิดเผยข้อมูลในสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G โดยมอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศประสานรายละเอียดกับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อในเบื้องต้น

การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถระบายผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ในปริมาณมากและในระยะเวลาที่รวดเร็ว โดยรัฐบาลไทยจะทำสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลต่างประเทศที่มีความต้องการซื้อข้าวโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยระบายผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ในปริมาณมาก ในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อรองรับผลผลิตส่วนเกินและรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวในประเทศ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่