หน้าแรก Thai PBS เปิดผลสอบ! “เรือหลวงสุโขทัย” ล่ม อดีต ผบ.เรือลาออก เหตุขาดความรอบคอบ

เปิดผลสอบ! “เรือหลวงสุโขทัย” ล่ม อดีต ผบ.เรือลาออก เหตุขาดความรอบคอบ

86
0
เปิดผลสอบ!-“เรือหลวงสุโขทัย”-ล่ม-อดีต-ผบ.เรือลาออก-เหตุขาดความรอบคอบ

วันนี้ (9 เม.ย.2567) พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ แถลงผลสอบสวน กรณี “เรือหลวงสุโขทัย” อับปางในทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2565

วันเกิดเหตุคลื่นลมแรง มีเรือล่มใกล้กัน 7 ลำ

โดยข้อมูลจากวิดีทัศน์ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ข้อมูลสำคัญระบุว่า มาจากสภาพอากาศและคลื่นลม สภาพอากาศแปรปรวน เปลี่ยนแปลงฉับพลัน รุนแรงคลื่นสูง 6 ม.จนทำให้เรือหลวงสุโขทัยล่ม 

ทั้งนี้ รล.สุโขทัย สามารถเดินเรือได้ที่ Sea Stage 5 ในระดับคลื่นที่มีความสูง 2.5 – 4 ม.โดยสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจริงมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ฉับพลัน จากที่มีการพยากรณ์ไว้ จึงทำให้เรือโคลงมาก ควบคุมเรือได้ยาก การทรงตัวของเรือและกำลังพลอยู่ในภาวะไม่ปกติ การทำกิจวัตรหรือปฏิบัติงานไม่สามารถทำได้เหมือนในภาวะปกติ

เป็นคืนเดือนมืดเป็นอุปสรรคต่อการมองเห็น มีข้อจำกัดในการและช่วยเหลือ และคลื่นลมแรงทำให้ลูกเรือถูกพัดกระจายตัวออกไป และเป็นอุปสรรคในการเอาชีวิตรอด

นอกจากนี้ ในวันที่ 18 – 19 ธ.ค.มีเรืออับปางในอ่าวไทยถึง 7 ลำ เรือขนาดใหญ่สุด คือ เรือสินค้าที่ใหญที่สุดมีขนาด ขนาด 2,123 ตันกรอส อันเนื่องมาจากสภาพอากาศแปรปรวน เปลี่ยนแปลงฉับพลัน รุนแรง โดยเรือที่ล่มทั้ง 7 ลำ มีดังนี้ 1.รล.สุโขทัย 2.เรือสินค้าอนุบูลย์ 3.เรือสันทัดสมุทร 4.ซัมเมอส์ซัคเซสอุตมะ และ 5.เรือ ส.4 นพรัตน์ 6.เรือประมงทรัพย์สุนันท์ 7.เรือประมง ส.เอกรัตน์ 19

เรือรั่วเกิดจากการกระแทกจากภายนอก

ด้าน พล.ร.ต.อภิรมย์ เงินบำรุง เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค และคณะกรรมการสอบสวนระบุว่า ข้อมูลจากวัตถุพยาน หลังเรือหลวงสุโขทัยอับปาง กองทัพเรือ ลงดำน้ำสำรวจเรือทั้งหมด 4 ครั้ง โดยครั้งที่ 4 มีการปฏิบัติการร่วมกับกองทัพเรือ และสหรัฐฯ

วัตถุประสงค์ในการสำรวจครั้งที่ 4 คือ ค้นหาศพที่ติดค้างในเรือซึ่งไม่พบ การปลดวัตถุอันตราย และสำรวจภายในและภายนอก ทั้งนี้การที่เรือกจมมาจากการที่น้ำเข้าเรือจาก 2 กรณี คือ 1.จากทางท้องเรือทำให้สูญเสียกำลังลอย 2.น้ำเข้าทางด้านบนเหนือจุดศูนย์ถ่วงของเรือ (จุด CG)ทำให้เรือเอียง สุดท้ายทำให้ทราบว่า เรือหลวงสุโขทัยเอียงก่อนโดยน้ำเข้าทางดาดฟ้าและจากนั้นจึงจมทางท้ายเรือ

พล.ร.ต.อภิรมย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่แผ่นกันคลื่นมีอาการยุบ มีพื้นที่เสียหายราว 148 ตร.น.ซึ่งใหญ่มาก จากคลื่นลมแรงทำให้ดาดฟ้าเปิดเป็นช่องเมื่อเรือมุดคลื่นจึงทำให้น้ำเข้ามาในเรือมาก

จุดที่ 2 ตำแหน่งป้อมปืนยุบลงไปโดยไม่ได้เกิดจากคลื่นเพราะสามารถทดกำลังกดได้ ซึ่งสาเหตุที่ยุบ เพราะโดนของแข็งกระแทก แต่ไม่พบหลักฐานว่า วัตถุดังกล่าวติดอยู่บริเวณป้อมปืน

ขณะที่รอยรั่วของเรือที่ยุบเข้าไป เกิดจากวัตถุภายนอกกระแทก ไม่ได้เกิดจากตะเข็บของเรือ ซึ่งเกิดจากการกระแทก แต่ไม่พบวัตถุตกอยู่เช่นกัน ยาว 1 ฟุต กว้าง 3-4 นิ้ว

พล.ร.ต.อภิรมย์ กล่าวว่า ขณะที่จากการสำรวจบริเวณหัวเรือ ซึ่งเป็นห้องเก็บเชือกในการเทียบเรือ ซึ่งเป็นห้องที่มีโอกาสที่ทำให้น้ำเข้าได้ และทำให้เรือเอียง รวมถึงประตูใต้ป้อมปืนที่ปิดไม่สนิท ทำให้น้ำไหลไปห้องทางเดิน และไปท่วมห้องเครื่อง

ความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการเสียการทรงตัวคือ แผ่นกันคลื่น ป้อมปืน 76 มม. ทะลุบริเวณกราบซ้าย ห้องกระชับเชือกหัวเรือ และประตูด้านท้ายป้อมปืน แผลพวกนี้ทำให้น้ำเข้าเรือ และท่วมไปยังห้องด้านหลัง และทำให้เรือเสียการทรงตัวเอียงและจมในที่สุด

ขณะที่การเดินเรือจากท่าเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี เวลา 02.00 น. เครื่องจักรใหญ่เริ่มขัดข้อง คาดว่าจากน้ำมันเกิดสกปรกเพราะเรือโยนไปมาทำให้สิ่งสกปรกเข้าไป เวลา 04.00 – 06.00 น. น้ำเริ่มเข้าเรือมากขึ้น จากสัตหีบไปหาดทรายรี ไม่เกี่ยวข้องกับการอับปางของเรือ เพราะน้ำเข้าประตู ช่องเล็กช่องน้อย สามารถจัดการได้ และระดับน้ำไม่สูงมาก โดยกำลังพลใช้วิธีตักออก

คลื่นแรง-น้ำเข้า-ไฟดับ-คุมเรือไม่ได้-อับปาง

กระทั่งเวลา 07.00 น. เรือเจอคลื่นที่แรงเพราะสวนคลื่นตรง ๆ ทำให้แผ่นกันคลื่นเกิดล้าและฉีกออกเป็นรู ทำให้น้ำเข้าใต้ป้อมปืน 76 มม. และเกิดเหตุการณ์หลายอย่าง ทั้งไฟไหม้ ไฟฟ้าดวงจร ไฟรั่ว ไฟดูดกำลังพล โดยการตัดสินใจนำเรือกลับสัตหีบ ส่วนคลื่นทำให้น้ำเข้าอย่างมาก และมีปัญหาใบจักรชำรุด

เวลา 15.45 น.เปลือกไฟเบอร์กลาสป้อมปืน 76 มม.ชำรุด โดยชำรุดมาก่อน และเพิ่งมาเจอ ซึ่งขณะนั้นเรือเอียงมากว่า 45 องศา ระบบต่าง ๆ เริ่มใช้การไม่ได้ และเวลา 24.00 น.เรือจมลง ซึ่งตอนเรือออก ค่า GM (ค่าการทรงตัวของเรือ) อยู่ที่ 3.89

ต่อมา เวลา 15.00 น.ค่า GM อยู่ที่ 0.0034 ดังนั้นเมื่อคลื่นซัดไปทางไหน เรือก็จะถูกซัดไปทางนั้น และเมื่อน้ำเข้าเรือ เหนือจุด G จนทับจุด M ทำให้เรือสูญเสียการทรงตัวค่ามาตรฐานไม่น้อยกว่า 0.49 ฟุต

และเมื่อเรือเอียงระดับ 15-30 องศา ทำให้น้ำเริ่มเข้าเรือทางช่องระบายอากาศต่าง ๆ ทำให้น้ำไหลไปถึงข้างท้ายเรือได้ ซึ่งมีน้ำหนักน้ำค่อนข้างมาก เรือหลวงสุโขทัยจึงจมในทางท้ายเรือ

ขณะที่การผนึกน้ำ กรณีเรือรั่วและน้ำเข้าท้องเรือ ถ้าสามารถปิดผนึกได้ เรือจะไม่จม แต่กรณีเรือเอียง น้ำเข้า เราไม่สามารถผนึกน้ำได้ เพราะน้ำเข้าไปถึงห้องนั้น ๆ เลย

บทสรุปการอับปาง 1.เรือรั่วหลายจุด 2.สภาพคลื่นลมที่มีความรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน รวมถึงเรือหลวงสุโขทัยเก่าโดยใช้งานไปกว่า 30 ปี 3.เกิดความเสียหายในตำแหน่งที่ทำให้น้ำเข้าสู่ห้องเรือ

4.เมื่อเรืออยู่ในสภาวะเอียง น้ำทะเลเข้าทางช่องระบายอากาศต่อเนื่อง และไหลเข้าเครื่องจักรใหญ่ และส่วนท้าย 5.เรือสูญเสียการทรงตัวตั้งแต่เวลา 15.00 น.จนจม เวลา 24.00 น.ใช้เวลา 9 ชั่วโมง แสดงว่า การผนึกน้ำทำได้ดี แต่น้ำเข้าจากช่องทางอื่น

6.การป้องกัน การตรวจสอบสาเหตุน้ำเข้า ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะคลื่นลมแรง จึงต้องพยายามนำน้ำออก เกิดการชำรุดของเครื่องจักรใหญ่ ระบบไฟฟ้าลัดวงจร ไฟไหม้ ทำให้การแก้ไขทำได้ยาก กรณีไฟดูดต้องตัดไฟ ทำให้สูบน้ำออกจากเรือไม่ได้ สู้กับน้ำที่เข้ามาไม่ได้

ยอมรับตัดสินใจพลาด นำเรือกลับสัตหีบ

พล.ร.อ.สุรศักดิ์ สิงขรวัฒน์ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทัพเรือภาคที่ 1 กล่าวว่า 1.ความพร้อมของเรือก่อนการส่งมอบ ภายหลังการซ่อมบำรุงปี 2564 ทดสอบแล้วพบว่า ทำตามมาตรฐาน

2.เสื้อชูชีพเบิกจ่ายไป 120 ตัว กำลังพล 105 นาย เสื้อชูชีพเพียงพอกับกำลังพล และประกาศให้กำลังพลสมทบไปรับเสื้อชูชีพ กำลังพลสมทบไม่ได้ไปรับเสื้อชูชีพ และกำลังพลบางส่วนไม่สามารถลงไปใส่เสื้อชูชีพได้ แพชูชีพจำนวน 6 แพ อยู่บริเวณทางกราบซ้าย-ขวา เมื่อเกิดเหตุสามารถปลดเรือชูชีพกราบขวาได้ 2 แพ อีก 4 แพ อยู่ในพื้นที่อันตรายเข้าถึงยาก เมื่อเรืออับปาง เรือชูชีพทั้งหมดจึงหลุดออกจากที่ติดตั้ง

ทั้งนี้ยังพบว่า ผู้บังคับการ รล.สุโขทัย ระบุว่า ภารกิจนี้ไม่ใช่ภารกิจรบเต็มรูปแบบจึงจัดกำลังเพียง 75 นายจาก 100 นาย รวมถึงจัดที่พักอาศัยบนเรือให้หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งรวม 30 นาย เมื่อไปถึงภาวะที่ต้องปฏิบัติงานที่ภาวะคลื่นลมรุนแรง ทำให้ประสิทธิภาพลดลงและต้องปกป้องความเสียหายหลายสถานที่พร้อมกันจึงทำให้ทำได้อย่างจำกัด

มีอุปกรณ์ป้องกันความเสียหายครบทั้งหมด และเมื่อพบว่าน้ำเข้า จึงผนึกน้ำทันที แต่ไม่สามารถไปตรวจสอบความเสียหายนอกตัวเรือได้ โดยลูกเรือช่วยป้องกันเต็มที่

6.ผลกระทบจากคลื่นลมวันเกิดเหตุอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรง รวดเร็วฉับพลัน ซึ่งเป็นประเด็นให้เรือโคลงมาก ทำให้เรือเอียง และอับปาง รวมถึงการช่วยเหลือลูกเรือลำบาก

7.การตัดสินใจนำเรือกลับฐานทัพเรือสัตหีบ ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ตัดสินใจนำเรือกลับฐานทัพสัตหีบ จ.ชลบุรี แม้ว่าจะไกล และใช้เวลามากว่านำเรือเข้าเทียบท่าประจวบฯ แต่ตัดสินใจเพราะคลื่นลมหน้าท่ารุนแรง หากนำเรือเทียบท่าจะไม่สามารถจัดเรือลากจูงเข้าสนับสนุนการเทียบเรือได้ การเข้าเทียบอาจเกิดอันตราย รวมถึงเวลานั้นยังไม่ได้ข้อมูลว่าแผ่นกันคลื่นฉีกขาดและหากนำเรือพ้นพื้นที่ใกล้ฝั่ง คลื่นลมอาจเบาบางลง ซึ่งเป็นการตัดสินใจภายใต้ข้อมูลจำกัด

สรุปว่า เรืออับปางไม่ได้เกิดจากการจงใจของผู้บังคับการและลูกเรือ แต่เพราะสภาพอากาศที่รุนแรงฉับพลัน และน้ำทะเลเข้าตัวเรือ ทำให้เรือเอียงและจม

สั่งขัง ผบ.เรือฯ 15 วัน คดีรอ สภ.บางสะพาน

อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับการ รล.สุโขทัย ตัดสินใจนำเรือกลับฐานทัพเรือสัตหีบ ที่มีระยะทางไกลและใช้เวลานานมากกว่าการนำเรือเข้าท่าเรือประจวบฯ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยขาดความรอบคอบ จึงเชื่อว่า การอับปางเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ เป็นการใช้ดุลยพินิจ โดยขาดความรอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหาย เป็นความผิดตาม มาตรา 5 ตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร พ.ศ.2476 เห็นสมควรลงทัณฑ์ กักเต็มอำนาจการลงทัณฑ์ ของ ผบ.ทร.เป็นเวลา 15 วัน ขณะที่คดีอาญาอยู่ในขั้นตอนของ ตำรวจ สภ.บางสะพานจ.ประจวบคีรีขันธ์

ผบ.เรือฯ ไม่ได้จงใจ ไม่ต้องชดใช้ทางแพ่ง

ด้าน พล.ร.อ.ชัยณรงค์ บุณยรัตนกลิน คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดชอบทางละเมิด ระบุว่า เมื่อเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ ต้องหาผู้ต้องรับผิด กรณีจงใจ หรือปฏิบัติเลินเล่ออย่างร้ายแรง

โดยคณะกรรมการรวมรวมข้อเท็จจริง จากคณะกรรมการชุดต่าง ๆ พบว่า สาเหตุที่เรืออับปาง 1.จัดกำลังพลไม่ครบตามอัตราทำให้การป้องกันการเสียหายลดลง โดยผู้บังคับการหลวงสุโขทัยระบุว่า ไม่ใช่ภารกิจการรบเต็มรูปแบบ แต่สภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรง ตัวเรือเสียหายตามส่วนต่าง ๆ กำลังพลพยายามเข้าช่วยแก้ไขเต็มความสามารถแล้ว

แต่มีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถตรวจสอบได้เพราะอากาศรุนแรง ไม่ได้เกิดจากการจงใจ แต่เป็นเพราะสภาพอากาศรุนแรง และในวันดังกล่าวมีเรือจม 7 ลำ

รวมถึงการตัดสินใจนำเรือกลับสัตหีบแทนการเทียบที่ท่าเรือบางสะพาน คณะกรรมการสอบปากคำ ผู้บังคับการเรือแจ้งว่า เรือสามารถผนึกน้ำได้ และเครื่องจักรที่เหลือ 1 เครื่อง สามารถนำเรือกลับไปได้อย่างปลอดภัย แม้ยุทโธปกรณ์เสียหายและหากนำเรือกลับได้ จะได้รับการซ่อมแซม ขณะที่การนำเรือเข้าไม่สามารถทำได้ เพราะคลื่นลมแรง จะไม่ได้รับการสนับสนุนในการเทียบเรือ

การตัดสินใจของ ผบ.เรือ เป็นดุลยพินิจที่สามารถทำได้ และไม่ได้จงใจให้เรือหลวงสุโขทัยอับปางแต่อย่างใด

จากข้อสรุปของสาเหตุเรืออับปางทั้ง 3 ประเด็น และ ผบ.เรือ และลูกเรือ พยายามแก้ไขสถานการณ์แล้ว มีความเห็นว่า

การอับปางของเรือหลวงสุโขทัย เกิดจากสภาพคลื่นลมรุนแรงเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากการจงใจของผู้บังคับการเรือ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด จึงไม่เข้าเงื่อนไข ในการรับผิดทางละเมิด ตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการปฏิบัติความเสียหายที่เกิดกับทางราชการ หรือทรัพย์สินของทางราชการ อันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ผบ.และเจ้าหน้าที่จึงไม่ต้องชดใช้ความเสียหายทางแพ่ง

ผบ.ทร.ยันดูแลผู้สูญเสียอย่างดีที่สุด

พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร.กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี เศษที่ผ่านมา กองทัพเรือตระหนักถึงความสูญเสียกำลังพล อันเป็นกำลังสำคัญและเป็นที่รักของครอบครัว โดยได้มอบเงินสวัสดิการและเงินช่วยเหลือให้ได้ครบตามสิทธิ

ผู้สูญหายกองทัพเรือไม่เคยละความพยายามในการค้นหา และกำลังพลที่สูญหาย 2 ราย ที่ต้องรอค่าสวัสดิการฌาปนกิจ จนกว่าจะครบ 2 ปี กองทัพได้อนุมัติเงินไปก่อนแล้ว และขอพระราชทานยศสูงขึ้น และให้การบรรจุทดแทนบุตร หรือญาติกำลังพลที่เสียชีวิต และเตรียมบรรจุบุตรธิดาที่ยังไม่จบการศึกษา และปรับปรุงที่พักอาศัย ซึ่งช่วยเหลือหมดแล้ว เหลือเพียงการซ่อมแซมบ้านอีก 2 หลัง

ยืนยันว่า ดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างตรงไปตรงมา สามารถตรวจสอบได้ อุบัติเหตุครั้งนี้นับเป็นความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ของกองทัพเรือ และให้จเรกองทัพเรือนำความผิดพลาดไปศึกษาและเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก

 

อ่านข่าว : รู้จัก “เรือหลวงสุโขทัย” ใช้งานมาแล้ว 35 ปี  

ไทม์ไลน์ 16 ชั่วโมง “เรือหลวงสุโขทัย” อับปางกลางอ่าวไทย  

เริ่มแล้ว! “กู้เรือหลวงสุโขทัย” ทัพเรือไทย-สหรัฐฯ ร่วมปฏิบัติภารกิจ  

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่