หน้าแรก Voice TV กรีนพีซ ชี้ นโยบายบรรจุภัณฑ์ CP ไม่เพียงพอในการแก้วิกฤตมลพิษพลาสติก

กรีนพีซ ชี้ นโยบายบรรจุภัณฑ์ CP ไม่เพียงพอในการแก้วิกฤตมลพิษพลาสติก

94
0
กรีนพีซ-ชี้-นโยบายบรรจุภัณฑ์-cp-ไม่เพียงพอในการแก้วิกฤตมลพิษพลาสติก

กรีนพีซชี้นโยบายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ไม่เพียงพอในการแก้วิกฤตมลพิษพลาสติก

25 เม.ย. 2567 กรีนพีซ ประเทศไทยแถลงวิพากษ์นโยบายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ระบุนโยบายดังกล่าวยังไม่เพียงพอในการต่อกรกับวิกฤตมลพิษพลาสติก แม้ว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์จะอ้างว่ามีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน แต่การดำเนินงานส่วนใหญ่กลับเน้นการจัดการพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ปลายทาง ซึ่งไม่มีทางที่จะแก้ปัญหามลพิษพลาสติกที่ต้นเหตุได้ กรีนพีซประเทศไทยเรียกร้องให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ลด ละ เลิกการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งตลอดห่วงโซ่การผลิต หากเครือเจริญโภคภัณฑ์ต้องการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามที่ตั้งไว้

ในรายงาน “CP’s Plastic Pollution Unmasked บทวิพากษ์ของกรีนพีซต่อนโยบายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์” [1] กรีนพีซ ประเทศไทยตรวจสอบการดำเนินงานตามนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนจากรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2565 และ 2566 ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยเน้นไปที่ 2 บริษัทหลักในเครือเจริญโภคภัณฑ์คือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ในช่วงเดียวกับสัปดาห์วันคุ้มครองโลก (Earth Day) และการประชุมระหว่างรัฐบาลเพื่อเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 4 ที่เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา กรีนพีซเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ และผู้นำโลกให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อต่อกรกับวิกฤตมลพิษพลาสติกในประเทศไทยและทั่วโลกอย่างจริงจัง

กรีนพีซ ประเทศไทยเริ่มการรณรงค์สาธารณะเพื่อผลักดันให้มีการลดและกำจัดบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและรายการสินค้าต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในวันที่ 29 กันยายน 2565 [2] การเผยแพร่รายงาน “CP’s Plastic Pollution Unmasked” คือเสียงสะท้อนไปยัง เครือเจริญโภคภัณฑ์ให้เปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยต่อกรกับวิกฤตมลพิษพลาสติกอย่างแท้จริง เริ่มจากการจัดการพลาสติกที่ต้นทางอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมผ่านนโยบายที่เน้นการลดใช้ ส่งเสริมระบบใช้ซ้ำและการเติม รายงานนี้ยังจัดทำขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะผ่านการให้ข้อมูล ส่งเสริมสิทธิและพลังของผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้เกิดการลดรอยเท้าพลาสติกของผู้ผลิต และรู้เท่าทันการนำเสนอสินค้าในเชิงการตลาดที่ใช้กลยุทธ์การฟอกเขียว

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ผลจากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของกรีนพีซ ทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อลดมลพิษพลาสติกอยู่บ้าง แต่ยังไม่เพียงพอ ในฐานะที่เป็นบริษัท FMCG รายใหญ่ของประเทศและในระดับโลก เครือเจริญโภคภัณฑ์จะต้องมุ่งมั่นลดรอยเท้าพลาสติก(plastic footprint) นำเสนอทางเลือกที่ยั่งยืนให้แก่ผู้บริโภคผ่านระบบการใช้ซ้ำ เติมสินค้า หรือการพัฒนาระบบยืมคืนเพื่อใช้ซ้ำ หมุนวนภาชนะ และยกเลิกการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อสร้างผลสะเทือนในเชิงบวก เครือเจริญโภคภัณฑ์ต้องดำเนินการให้ครบทั้งวงจรชีวิตของพลาสติก ไม่ใช่เพียงแค่การเลือกวัสดุต้นทางหรือมีระบบเก็บกลับเท่านั้น

เครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งมีทั้งธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งผลิตภัณฑ์อาหารเป็นอันดับ 1 ของไทย มีรายได้รวมกว่า 23,000 ล้านบาทในปี 2565 [3] ในกระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมาพร้อมบรรจุภัณฑ์พลาสติก จากรายงานความยั่งยืนในปี 2565 [4] เครือเจริญโภคภัณฑ์ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด 125,066 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 10.4 ของปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่จำหน่ายในประเทศ (1,197,942 ตัน) [5] แม้ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ยังมีอัตราการเติบโตของธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญต่อวิกฤตมลพิษพลาสติก

เครือเจริญโภคภัณฑ์ออกนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainable Packaging Policy) ในปี 2561 โดยกำหนดให้ทุกกลุ่มธุรกิจกำหนดเป้าหมายร่วมกันคือ ร้อยละ 100 ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นำมาใช้จะต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) หรือ นำมาใช้ใหม่ (Recyclable) หรือสามารถย่อยสลายได้ (Compostable) ในปี 2568 สำหรับกิจการในประเทศไทย และภายในปี 2573 สำหรับกิจการในต่างประเทศ

พิชามญชุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเก็บขยะและสำรวจแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก(Brand Audit) ปี 2561-2565 [6] กรีนพีซยังคงพบบรรจุภัณฑ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในสิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับหนึ่งในประเภทแบรนด์ไทย [5] แสดงให้เห็นว่า แม้เครือเจริญโภคภัณฑ์จะอ้างว่าบรรจุภัณฑ์บางส่วนของตนสามารถนำไปรีไซเคิลได้ แต่หากไม่มีระบบเก็บกลับเพื่อนำไปจัดการอย่างถูกต้องและป้องกันไม่ให้หลุดออกสู่สิ่งแวดล้อม หรือมีระบบติดตามบรรจุภัณฑ์ของบริษัทหลังการใช้งานเพื่อให้ทราบเส้นทางของขยะและอัตราการรีไซเคิลที่แท้จริง เราก็จะยังคงพบบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหล่านี้ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก

ในบรรดาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เครือเจริญโภคภัณฑ์มีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นฟิล์ม ซอง หรือถุงที่ผลิตจากพลาสติกหลายชนิด (multi-material) ถาดโฟมที่ผลิตจากพลาสติก PS และฟิล์ม PVC ซึ่งไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ แม้ว่าตามหลักการ The Resin Identification Codes จะระบุว่าวัสดุตั้งต้นดังกล่าวสามารถรีไซเคิลได้ก็ตาม เพราะในประเทศไทยยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอและระบบจัดการอย่างถูกต้อง รวมถึงหากวัสดุมีการปนเปื้อน ก็ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

ในการจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติก เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังคงพึ่งพาการนําขยะพลาสติกไปเผาเป็นพลังงาน (Waste-to-Energy, WtE) ซึ่งไม่ควรนับเป็นส่วนหนึ่งของหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เนื่องจากไม่ได้ทําให้วัสดุหมุนเวียนเข้าสู่ระบบได้จริง โดยจุดจบของวัสดุคือการเผาทําลาย การเผาพลาสติกทําให้เกิดมลพิษทางอากาศ เถ้าหนัก (Bottom ash) เถ้าลอย (Fly ash) และขี้เถ้า/ตะกรันในหม้อต้มน้ำ (boiler ash/slag) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และโลกด้วยการปล่อยสารระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ สารไดออกซิน/ฟิวแรน (Dioxin/Furan) ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง โลหะหนัก เช่น ปรอท แคดเมียม และตะกั่ว และก๊าซเรือนกระจกซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

กรีนพีซ ประเทศไทยเรียกร้องให้ภายในปี 2573 เครือเจริญโภคภัณฑ์ต้องมุ่งมั่นที่จะ

  1. ออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยไม่พึ่งพาพลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง 100%
  2. พัฒนาระบบยืมคืน มัดจำภาชนะ และริเริ่มระบบเติมสินค้าเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการลดพลาสติก 100%
  3. ลด “บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้” ให้อยู่ในระดับเทียบเท่าปี 2561
  4. หลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด (false solution) เช่น การเผาขยะผลิตไฟฟ้าและพลาสติกชีวภาพ

โดยการดำเนินการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์สามารถลงมือทำทันทีเพื่อต่อกรกับวิกฤตมลพิษพลาสติก เริ่มจาก

  1. งดแจกถุงและหลอดในร้านสะดวกซื้อทุกสาขาทั้งที่ดำเนินการโดย CP และสาขาในเครือทั้งหมด
  2. รับแก้วและกล่องส่วนตัวของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ
  3. รับคืนบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลังการใช้งานของผลิตภัณฑ์ในเครือทั้งหมดมิให้เล็ดลอดออกสู่สิ่งแวดล้อม 
  4. ติดตามตรวจสอบปริมาณขยะพลาสติกที่บริษัทรับกลับคืนเพื่อนำมาวิเคราะห์ต้นทุนภายนอกและนำไปสู่การออกแบบนวัตกรรมที่จะช่วยลดบรรจุภัณฑ์พลาสติก

หมายเหตุ ภาพโดย ธัชกร กิจไชยภณ / กรีนพีซ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่