สหรัฐฯ และประเทศในสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ระบุว่า ชาติของพวกเขาจะไม่ส่งทูตเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียในสมัยที่ 5 ของ วลาดิเมียร์ ปูติน ในวันอังคาร (7 พ.ค.) หลังจากปูตินในวัย 71 ปีชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค. ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าการเลือกตั้งในครั้งนั้นขาดความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งล่าสุด ปูตินได้รับคะแนนเสียง 87.28% ไม่กี่สัปดาห์หลังจากการเสียชีวิตลงอย่างกะทันหันในเรือนจำอาร์กติกของ อเล็กซี นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านที่ต่อต้านปูตินคนสำคัญที่สุดในรัสเซีย
“เราจะไม่มีตัวแทนในการเข้าร่วมพิธีสาบานตนของเขา” แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าว “เราไม่ได้ถือว่าการเลือกตั้งนั้นเสรีและยุติธรรมอย่างแน่นอน แต่เขาเป็นประธานาธิบดีของรัสเซีย และเขาจะทำหน้าที่ต่อไปในตำแหน่งนั้น”
ในอีกทางหนึ่ง สหราชอาณาจักรและแคนาดากล่าวว่าพวกเขาจะไม่ส่งทูตของตัวเองเข้าร่วมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีรัสเซีย ในขณะที่โฆษกของสหภาพยุโรประบุกับสำนักข่าว Reuters ว่า เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำรัสเซียจะไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตนดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับจุดยืนของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปส่วนใหญ่
รัฐบอลติก 3 ประเทศ ได้แก่ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ซึ่งเรียกตัวเอกอัครราชทูตของประเทศออกจากการประจำการในกรุงมอสโก ก็ต่างปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพิธีสาบานตนของปูตินด้วย
“เราเชื่อว่าการโดดเดี่ยวรัสเซีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำที่เป็นอาชญากรจะต้องดำเนินต่อไป” กาเบรียลอุส ลันด์สแบร์กิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลิทัวเนียกล่าว “การเข้าร่วมในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของปูตินไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับลิทัวเนีย ลำดับความสำคัญของเรายังคงสนับสนุนยูเครนและประชาชนในการต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย”
นอกจากนี้ สาธารณรัฐเช็กคาดว่าจะปฏิเสธการเข้าร่วมพิธีดังกล่าวด้วย ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีกล่าวว่าตัวแทนของเยอรมนีจะไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตนของปูตินเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ สาธารณรัฐเช็กได้เรียกเอกอัครราชทูตของประเทศกลับจากข้อกล่าวหาเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ของรัสเซียต่อสาธารณรัฐเช็ก
เจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวว่า หัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตต่างประเทศทั้งหมดในกรุงมอสโก รวมถึงผู้ที่มาจาก “รัฐที่ไม่เป็นมิตร” ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีสาบานตนประธานาธิบดีรัสเซียด้วย
ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศยูเครนระบุในแถลงการณ์ว่า “ยูเครนไม่เห็นเหตุผลทางกฎหมายในการยอมรับเขา (ปูติน) เป็นประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยและถูกต้องตามกฎหมายของสหพันธรัฐรัสเซีย” ยูเครยยังย้ำอีกว่าพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีรัสเซียนี้ พยายามที่จะสร้าง “ภาพลวงตาของความชอบธรรมกฎหมาย สำหรับการครองอำนาจเกือบตลอดชีวิตของบุคคลที่เปลี่ยนสหพันธรัฐรัสเซียให้เป็นรัฐผู้รุกราน และระบอบปกครองที่เป็นเผด็จการ”
สำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวทางการทูตที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า แม้จะมีการประกาศคว่ำบาตรต่อรัสเซีย แต่ฝรั่งเศส ฮังการี และสโลวาเกีย ต่างคาดว่าจะส่งตัวแทนเข้าร่วมพิธีสาบานตนประธานาธิบดีรัสเซียโดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 พ.ค.) เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวร่วมกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ว่า “เราไม่ได้ทำสงครามกับรัสเซียหรือชาวรัสเซีย และเราไม่ปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในกรุงมอสโก”
แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสประณามบริบทการปราบปรามฝ่ายค้านที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งรัสเซีย ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งขาดทางเลือกที่แท้จริง ตลอดจนการจัดการเลือกตั้งในดินแดนยูเครนที่รัสเซียยึดครอง ซึ่งฝรั่งเศสมองว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ
ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศส-รัสเซียย่ำแย่ลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากทางการฝรั่งเศสได้เพิ่มการสนับสนุนยูเครน นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาครงกล่าวว่าจะเป็นเรื่องชอบธรรมสำหรับฝรั่งเศสที่จะส่งทหารไปยังยูเครน หากรัสเซียบุกทะลวงแนวหน้ารบของยูเครน และทางการฝรั่งเศสได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากยูเครน
ที่มา: