พลันที่ปรากฏข่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินสายพูดคุยช่วยเจรจาชนกลุ่มน้อยเมียนมา แม้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะออกมาระบุว่า ไม่ทราบเรื่องนี้ แต่เชื่อมั่นว่าทุกท่านมีความหวังดีต่อประเทศ โดยยืนยันว่าฝ่ายความมั่นคง และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พูดคุยกับทุกกลุ่มอยู่แล้ว อยู่ในชั้นความลับ-เปิดเผยไม่ได้
แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกลับถูกตั้งคำถามว่า นายทักษิณ เป็นตัวแทนพูดคุยในฐานะใด
พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่งคงแห่งชาติ (สมช.) ตั้งข้อสังเกตว่า ข่าวที่หลุดออกมาเป็นเรื่องจริง เพราะมีการยืนยันข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากหลายฝ่าย รวมถึงไทยที่ปฏิเสธด้วยท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ สอดคล้องกับสำนักข่าวไทยและต่างประเทศที่เกาะติดสถานการณ์นี้ และส่วนตัวได้รับคำยืนยันจากชนกลุ่มน้อยว่า มีความเคลื่อนไหวจริง
อดีตรองเลขาฯ สมช. เชื่อว่า นายทักษิณมีเจตนาดี และในหลักการนั้น การแสวงหาสันติภาพเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ต้องพูดคุยวิธีการและดำเนินการในช่วงเวลาเหมาะสม ส่วนประเด็นของนายทักษิณ ไม่แน่ชัดว่าไปเจรจาในนามส่วนบุคคล หรือไปหาช่องทางล่วงหน้า หากลงตัวแล้วค่อยให้รัฐบาลรับรองอีกครั้ง สุดท้ายข่าวปูดออกมาก่อน จึงกลายเป็นอลเวง
การเจรจาต้องขับเคลื่อนโดยรัฐบาลไทยเพื่อให้เกิดผล ที่สำคัญในช่วงเวลานี้สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ยังไม่ใช่เวลาเจรจาสันติภาพ เพราะมีการสู้รบอยู่ อาจมีฝ่ายได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ
การเคลื่อนไหวดังกล่าวมองได้ 2 ประเด็น คือ ความเคลื่อนไหวของนายทักษิณจะรบกวนการรบของทั้งสองฝ่ายหรือไม่ เพราะมีทั้งฝ่ายที่ได้เปรียบ และฝ่ายเสียเปรียบ ส่วนอีกประเด็น นายทักษิณเข้าไปในฐานะใด จะมีการให้คุณให้โทษในฐานะของรัฐบาลไทยหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เคยบอกว่าต้องให้ประชาชนร่วมมือกันและหยุดยิง แต่ไม่มีใครยอมรับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ขณะที่จีนพยายามจัดการเจรจาหยุดยิง แต่ไม่มีใครยอมเช่นกัน
เห็นชัดเจนตอนนี้กำลังตะลุมบอนกันอยู่ และไม่มีการปฏิบัติตามข้อเสนอต่าง ๆ แน่นอน จนกว่าจะเห็นชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมา ชนกลุ่มน้อย และ PDF เป็นศึก 3 เส้า ไม่ใช่ 2 เส้า
พล.ท.พงศกร ระบุว่า อยากเสนอให้รัฐบาลไทย แถลงจุดยืนให้ชัดเจนและนำเรื่องนี้เข้าสู่ระบบ พร้อมกำหนดทิศทางให้ชัดเจนว่าจะดูแลประชาชนทุกฝ่ายอย่างดีที่สุด และเปิดให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาดูแลผู้หนีภัยสงคราม รวมทั้งเปิดการค้า เพื่อให้ประชาชนมีอาหาร น้ำ และยาเพียงพอจนกว่าสงครามจะจบ อย่าเพิ่งไปแตะเรื่องใหญ่อย่างการเจรจาหยุดยิง หรือเปลี่ยนทิศทางรบ ย้ำว่าขณะนี้ไม่ใช่เวลาเจรจาสันติภาพ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีชาวเมียนมาอพยพเข้าไทยจำนวนมาก ทั้งแบบผิดกฎหมาย หรือวีซ่าจะหมดอายุ แต่กลับประเทศไม่ได้ เพราะนอกจากในประเทศเมียนมายังมีการสู้รบอยู่ ยังมีปัญหาประชาชนถูกบังคับให้เกณฑ์ทหาร จึงทำให้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยหลบหนีเข้ามาทำงานในไทย จึงมีการเสนอให้ ครม.มีมติผ่อนผันให้ผู้หนี้ภัยสงครามอยู่ในไทยได้อย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันการรีดไถจากเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ได้กลับบ้านเกิด ก็จะรู้สึกว่าไทยเป็นมิตร
นายทักษิณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหารเมียนมา แต่เท่าที่ทราบ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยังไม่ตอบรับ สะท้อนว่าเขาอาจไม่สบายใจ เพราะเขาถือว่ายังได้เปรียบ เขารบกันอยู่ เราทำอะไรมากไม่ได้ สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือดูแลประชาชนทุกฝ่าย รอจนกว่าเขารบกันจบ เมื่อเขาหมดแรงหรือพร้อมคุย ค่อยไปล็อบบี้ช่วงนั้น ทำได้แค่นั้น อย่างอื่นทำยาก เราไม่ควรไปยุ่งขนาดนั้น อันนี้ผมเห็นว่าล้ำหน้าไปนิดนึง
สำหรับข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมของการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ อดีตรองเลขาฯ สมช.มองว่า มีข้อดีที่นายทักษิณได้เริ่มคุยกับชนกลุ่มน้อย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่กล้าคุย รัฐบาลจึงควรใช้โอกาสพูดคุยกับชนกลุ่มน้อยเรื่องการดูแลประชาชน ส่วนเอกสารที่กลุ่มดังกล่าวยังไม่เซ็นให้นายทักษิณเป็นตัวกลาง เพราะอาจไม่ตรงใจ และน่าจะไม่สบายใจเรื่องนี้ จึงต้องรีบเคลียร์ประเด็นนี้ เพื่อไม่ให้กลายเป็นไทยเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเข้าใจว่าเป็นการบีบให้ยอมแพ้ ยอมเจรจา ยอมเลือกตั้ง และหยุดการสู้รบ
พล.ท.พงศกร มองว่า รัฐบาลทหารเมียนมามองความมั่นคงสำคัญกว่าการต่างประเทศ ไทยจึงควรใช้กระบวนการด้านความมั่นคง และควรมีท่าทีชัดเจนว่าพร้อมดูแลทุกฝ่าย โดยมี กต. และ สมช. เป็นเจ้าภาพหลักขับเคลื่อนให้เป็นทิศทางชัดเจน และเป็นรูปธรรม
อ่านข่าว
“เศรษฐา” ปัด “ทักษิณ” เจรจาคู่ขนานสันติภาพเมียนมา
KNDF ยิงเฮลิคอปเตอร์เมียนมาตก ตาย 5 รวมนายทหารระดับสูง
ทหารเมียนมาโจมตีฐานกองกำลังกะเหรี่ยง 2 จุดในเมียวดี