หน้าแรก Voice TV 'ดีอี' เร่งเครื่อง 7 มาตรการ เดินหน้าปราบโจรออนไลน์เฟส 2

'ดีอี' เร่งเครื่อง 7 มาตรการ เดินหน้าปราบโจรออนไลน์เฟส 2

87
0
'ดีอี'-เร่งเครื่อง-7-มาตรการ-เดินหน้าปราบโจรออนไลน์เฟส-2

‘ดีอี’ เดินหน้าจับโจรออนไลน์เฟส 2 ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี จับมือ ‘ตำรวจ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง’ เร่งเครื่อง 7 มาตรการ ปราบอาชญากรรมไซเบอร์เด็ดขาด

วันที่ 9 พ.ค. 2567 ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แถลงผลการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ตามข้อสั่งการของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี 

ประเสริฐ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ กระทรวงดีอี ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์เป็นระยะที่ 2 ต่อเนื่องจากการดำเนินการในระยะแรก 30 วัน (1-30 เมษายน 2567) โดยผลการดำเนินงาน ระยะแรก 30 วันที่ผ่านมาใน 10 เรื่องที่สำคัญมีดังนี้

1. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ในเดือนเมษายน 

– การจับกุมคดีออนไลน์รวมทุกประเภท เม.ย. 67 มีจำนวน 6,624 คน เพิ่มขึ้น 2.7 เท่า เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 2,430 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม – มีนาคม 2567

– การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ เม.ย. 67 มีจำนวน 3,667 คน เพิ่มขึ้น 3.1 เท่า เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 1,174 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม – มีนาคม 2567

– การจับกุมคดีบัญชีม้า-ซิมม้า เม.ย. 67 มีจำนวน 361 คน เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 187 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม – มีนาคม 2567

2. การปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน

– ปิดโซเชียลมีเดียและเว็บ ผิดกฎหมายทุกประเภท เม.ย. 67 จำนวน 16,158 รายการ เพิ่มขึ้น 18 เท่า จาก เม.ย. 66

– ปิดเว็บพนัน เม.ย. 67 จำนวน 6,515 รายการ เพิ่มขึ้น 38.8 เท่า จาก เม.ย. 66

3. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 30 เมย 2567 มีดังนี้ 

– ระงับบัญชีม้าแล้วกว่า 700,000 บัญชี แบ่งเป็น ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี AOC ระงับ 101,375 บัญชี ปปง.ปิด 325,586 บัญชี

– กำหนดมาตรการและเงื่อนไขการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการนำไปกระทำความผิดโดยเพิ่มกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง Customer Due Diligence หรือ CDD โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง โดยธนาคารต้องตรวจสอบให้เคร่งครัดมากขึ้นก่อนอนุมัติเปิดบัญชี โดยจะเริ่มภายในเดือน พฤษภาคม 2567 ซึ่งปัจจุบันบางธนาคารได้มีการดำเนินการแล้ว

– การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานการระงับบัญชีต้องสงสัยทันที กรณีที่ธนาคารได้รับแจ้งข้อมูลจากศูนย์ AOC 1441 และผู้เสียหายได้ลงแจ้งความออนไลน์เรียบร้อยแล้ว และเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศูนย์ AOC จะช่วยการอายัดบัญชีโดยส่งเรื่องไป ปปง.

นอกจากนี้ ให้ศูนย์ AOC 1441 เป็น Platform รับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้าและบัญชีต้องสงสัย ได้แก่ สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยทำงานแบบอัตโนมัติ (Automation) และใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) ช่วยลดเวลาและเพิ่มความแม่นยำในการระงับบัญชีม้า บัญชีต้องสงสัย รวมทั้ง สนันสนุนการติดตามเส้นทางการเงินเพื่อการจับกุมและคืนผู้เสียหาย

4.การแก้ไขปัญหาและกวาดล้างซิมม้า

ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 30 เมย 2567 มีดังนี้ 

– ตร. ดีอี ระงับซิมม้า-ซิมต้องสงสัยแล้ว 800,000 หมายเลข 

– การระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน แล้ว 36,641 หมายเลข 

– การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ใน

การลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนสำหรับผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม โดยครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 2.58 ล้านหมายเลข และยังไม่มายืนยันตัวตน อีกจำนวน 2.5 ล้านหมายเลข ซึ่งที่ไม่ได้มายืนยันตัวตน ถูกระงับหมายเลขแล้ว 1.46 ล้าน หมายเลข และ อยู่ระหว่างดำเนินการระงับ 1.04 ล้าน หมายเลข 

– การเข้มงวดในการเปิดใช้ ซิมใหม่ ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนของ กสทช. เพื่อป้องกัน การนำซิมไปใช้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา พบการปล่อยปละละเลยการเปิดใช้ซิมใหม่ จำนวนมากๆ ตลอดจนมีการสวมรอยใช้พาสปอร์ทชาวต่างชาติ หรือขโมยบัตรประชาชนคนไทย มาเปิดซิมจำนวนมาก

5. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน 

– สำนักงาน กสทช. ร่วมกับกระทรวงกลาโหม และ ตร. เร่งดำเนินการกวาดล้างและจับกุมผู้กระทำความผิดในการใช้เสาและสายสัญญาณสื่อสารที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน 

นอกจากนี้ AOC ตร. และ กสทช. ระหว่างจัดอบรมกำลังพลของกองทัพให้สามารถตรวจสอบ เสาและสายสัญญาณสื่อสารผิดกฎหมายตามแนวชายแดน

– ปฏิบัติการตัดวงจรซิม-สาย-เสา สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยจับกุมครั้งสำคัญ เมษายน 2567 เช่น เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ดำเนินการจับกุมการลักลอบเดินสายอินเทอร์เน็ตผ่านชายแดนไปประเทศกัมพูชา ในพื้นที่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เป็นต้น

6. การร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยเฝ้าระวังช่างต่างชาติที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยกระทรวงมหาดไทยร่วมกับ ตร. ดีอี และหน่วยงานเกี่ยวข้อง สนับสนุนการเฝ้าระวังและจับกุม ปราบปราม ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการชักชวน หลอกลวงคนไทยเพื่อพาไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ให้ความสำคัญกับจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

7. การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปรามจับกุม โดยกระทรวงการต่างประเทศให้การสนับสนุนการประสานงานในการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ในประเด็นการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เว็บพนันออนไลน์ รวมถึงประเด็นปัญหาอาชญกรรมออนไลน์อื่นๆ และ ตร. โดยเฉพาะ ตม. เคร่งครัดการตรวจสอบบุคคลเข้า-ออก และการเข้า-ออกผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อลดปัญหาการเดินทางไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการขนเงินออกนอกประเทศ นอกจากนี้ มีแผนประชุมหารือ กับประเทศสาธารณประชาธิปไตรประชาชนลาว และ หารือในกลุ่มประเทศสมาชิก ASEAN 

8. การกำกับดูแลแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผิดกฎหมาย โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ส่งข้อมูลผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเป็นการป้องกันมิให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการนำทรัพย์สินจากการกระทำผิดไปฟอกเงิน อันเป็นการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 

9. การบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยศูนย์ AOC 1441 เป็น Platform รับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยทำงานแบบอัตโนมัติ(Automation) และใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต่อไป 

10. มาตรการด้านกฎหมาย 

– สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เร่งจัดทำ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์โดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. … เพื่อแก้ปัญหา บริการเก็บเงินปลายทางสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Cash on Delivery) ช่วยขจัดปัญหาการหลอกซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก ซึ่งคาดว่า ประกาศดังกล่าว จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งประเมินว่า มาตรการนี้ จะช่วยลดจำนวน คดีหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

– อื่น ๆ อาทิ การแก้ปัญหาซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลอย่างผิดกฎหมาย การเร่งคืนเงินให้ผู้เสียหาย และ การแก้ปัญหาคนร้ายโอนเงินโดยใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย 

สำหรับในระยะต่อไป 7 มาตรการสำคัญ เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

1. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ โดยหน่วยงานด้านการปราบปราม อาทิ ตร. ดีเอสไอ จะเร่งปูพรมจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง

2. การป้องกันปราบปรามบัญชีม้า ซิมม้าและจับกุมผู้เกี่ยวข้อง โดยบูรณาการข้อมูลบัญชีต้องสงสัยร่วมกันระหว่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการการเปิดบัญชีใหม่ โดยกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง Customer Due Diligence หรือ CDD และ เป้าหมายการปิดบัญชีม้าไม่ต่ำกว่า 100,000 บัญชีต่อเดือน ต่อเนื่อง

3. การแก้ปัญหาหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะบริการเก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery) หรือ COD โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะเร่งจัดทำประกาศควบคุมฯ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการหลอกซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก โดยประเมินว่า มาตรการนี้จะช่วยลดจำนวนคดีหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

4.การเร่งรัดคืนเงินและเยียวยาผู้เสียหาย ได้มอบหมายให้ศูนย์ AOC 1441 เป็น Platform รับและแลกเปลี่ยนข้อมูลและบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อช่วยลดเวลาและเพิ่มความแม่นยำในการติดตามเส้นทางการเงินเพื่อการจับกุมและคืนเงินให้กับผู้เสียหาย     

5.การเพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และผู้ให้บริการทางการเงิน 

6.การรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างภูมิคุ้มกันอาชญากรรมออนไลน์ แบบเจาะจงเรื่องการหลอกลวงลงทุน การหลอกหารายได้ และแก๊ง call center 

7.การเร่งรัดปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ในประเด็นสำคัญดังนี้

– การเร่งคืนเงินให้กับผู้เสียหาย 

– การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล

– การป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลทฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฏหมาย 

“ในภาพรวมของการดำเนินงานอย่างบูรณาการ เร่งรัดจับกุมคนร้าย กวาดล้างบัญชีม้าและซิมม้า เร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ มีผลงานชัดเจน เป็นตัวเลขที่สูงขึ้นมากในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งการปราบปรามจับกุมคนร้าย กวาดล้างบัญชีม้า ซิมม้า ปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงต่อเนื่อง แก้ปัญหาหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ เพื่อให้จำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ลดลงโดยเร็ว ช่วยลดความเดือนร้อนของประชาชน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าว 

สำหรับ สถิติแจ้งความคดีออนไลน์ พบว่า การรับแจ้งความคดีออนไลน์พบว่าในเดือน เมษายน 2567 เฉลี่ย 992 คดี/วัน สูงกว่า การแจ้งความ ในเดือน มีนาคม 2567 ที่มีการแจ้งความเฉลี่ย 855 คดี/วัน ขณะที่ด้านมูลค่าความเสียหายของคดีอาชญากรรมออนไลน์รวมทุกประเภท พบว่าเมษายน 2567 มีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ย 110 ล้านบาท/วัน มีมูลค่าความเสียหายลดลง จากเดือน มีนาคม 2567 ที่มีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ย 149 ล้านบาท/วัน 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่