- เรื่องน่ารู้ การเลือก สว.67 สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13 ของประเทศไทย
- ที่มาตัวเลข “สว.ชุด 13” 200 คนจาก 20 อาชีพ
ไม่เกินเดือน กรกฎาคม 2567 คนไทยจะได้เห็นโฉมหน้า “สว.ชุดใหม่” 200 คน โดยในระหว่างกระบวนการสรรหา “สว. 250 คน” ชุดแต่งตั้งโดย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) จะยังรักษาการณ์อยู่
เมื่อได้ สว.ชุดใหม่ จะมีอายุ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ กกต.ประกาศผลการเลือก ส่วน สว. ชุดเก่าจะต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี เว้นแต่จะเป็น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น (ilaw)
ขณะที่ สว.ชุดใหม่ที่จะมีขึ้นในปี 2567 นี้จะเป็นลำดับวุฒิสภา “ชุดที่ 13” โดย สว.ชุดแรก หรือที่เรียกว่า “พฤฒสภา” หรือ สภาของผู้สูงอายุ เริ่มในปี 2489 ซึ่งเลือกตั้งโดย “สภาผู้แทนราษฎร”
“สว.” ย่อมาจาก “สมาชิกวุฒิสภา” เป็นตัวแทนของ “ประชาชน” เหมือนกับ สส. หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังมีข้อที่แตกต่างกันอยู่ทั้ง “จํานวน ที่มา และการสังกัดพรรคการเมือง”
รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ความแตกต่างจำวน สว.
- รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 : ได้กําหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจํานวน 200 คน
- รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 : ได้กําหนดให้วุฒิสภามีจํานวน 150 คน โดยมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และมาจากการสรรหาเท่ากับจํานวนรวมข้างต้นหักด้วยจํานวน สว.ที่มาจากการเลือกตั้ง
- รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 : ได้กําหนดให้จํานวนและที่มาของวุฒิสภาไว้ 2 ช่วงเวลา คือ
ช่วงที่ 1 : เป็นไปตามบทเฉพาะกาลที่กําหนดให้ สว. มีจํานวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคําแนะนําโดยมาจากการเลือกของ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) จํานวน 50 คน
และมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา สว. จํานวน 194 คน รวมกับผู้ดํารงตําแหน่ง ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ
ส่วนในช่วงที่ 2 : คือ เมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งดังกล่าวแล้วให้ สว. มีจํานวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางานหรือเคยทํางานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทําให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้
ความแตกต่าง – ที่มา ของ สว. 2 ยุค
สำหรับที่มา ของ สว. 2 ยุค คือ แตกต่างกันตรงที่ สว. ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือที่เรียกว่า สว.ชุดพิเศษมาจากความเห็นชอบของ คสช. จำนวน 250 คน กับ สว.จาก 20 กลุ่มอาชีพ ที่ต้องผ่านการ “เลือกกันเอง” และเลือกไขว้ แบบไต่ระดับเลือก ระดับอำเภอ, ระดับจังหวัด, ระดับประเทศ
ส่วนหน้าที่ สว.ทั้ง 2 ยุค มี 3 หน้าที่หลักเหมือนกัน แต่ความต่างอยู่ตรงที่ สว.ชุดใหม่ จะไม่มีอำนาจในการร่วมโหวต “นายกรัฐมนตรี” อย่างนั้น สว. มีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญ อย่างไรบ้าง มีรายละเอียดดังนี้
- พิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย : การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ, การกลั่งกรองร่าง พ.ร.บ., การอนุมัติพระราชกำหนด และ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
- ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล : โดยการตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาหรือที่ประชุมรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการ
- ให้คำแนะนำหรือความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง : ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น
จำนวน สว. ชุด 250 คน
เรียกได้ว่า สว.ชุด 250 อยู่ในวังวนของข้อครหามาตั้งแต่เริ่ม เพราะที่มาที่ออกแบบไว้ไม่ว่าจะสรรหากันเอง หรือแบ่งสัดส่วนให้แต่ละกลุ่มมีส่วนร่วมอย่างไร ในขั้นสุดท้ายผู้ที่เคาะคือ คสช. รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเวลานั้น นอกจากนี้ ยังเคยถูกผู้ชุมนุมบางกลุ่มนำไปเป็นประเด็นปราศรัยบนเวทีหลายครั้ง
ที่มาของ สว.จำนวน 250 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่ม สว.โดยตำแหน่ง 6 คน : ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
กลุ่มที่สอง 50 คน : มาจากการเลือกกันเอง โดยให้ กกต. ดำเนินการจัดให้มีการเลือก สว. โดยให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์หลายด้าน กลุ่มวิชาชีพ หรือกลุ่มผลประโยชน์ เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน
กลุ่มที่สาม 194 คน : มาจากการสรรหาที่ คสช.แต่งตั้งจากผู้มีความรู้และประสบการณ์ เป็นกลางทางการเมือง 10 คน ทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่ง สว. จำนวนไม่เกิน 400 คน แล้วหลังจากนั้น คสช.คัดเหลือ 194 คน
นอกจาก 6 คน ที่ต้องเป็นโดยตำแหน่ง และมักถูกวิพากษ์วิจารณ์บทบาทที่ยึดโยงกับรัฐบาลแล้ว ส่วนที่เหลือล้วนแต่ถูกเคาะในขั้นสุดท้ายโดย คสช.ทั้งสิ้น
จำนวน สว.ชุด 200 คน
มาถึงในปี 2567 ไทยกำลังจะได้ สว.ชุดใหม่ ที่จะมีสมาชิกเหลือแค่ 200 คน และแทนที่จะมาจากการแต่งตั้งเหมือนชุดที่ผ่านมา ครั้งนี้จะมาจาก 20 กลุ่มอาชีพ โดยวิธีการคัดเลือกแบบ “การเลือกกันเอง”
ส่วนกระบวนการเลือกจะเป็นแบบไต่ระดับ ตั้งแต่ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ไปจนถึงขั้นสุดท้ายคือระดับประเทศ เพื่อให้ได้ตัวแทนจากกลุ่มอาชีพกลุ่มละ 10 คน รวมเป็น 200 คน
ที่มา สว.200 คน
เรื่องนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกระเบียบว่าด้วยการเลือก สว. ออกมา ขั้นตอน เกี่ยวกับการได้มาซึ่ง สว.200 คน ซึ่งแตกต่างจากการเลือกชุดก่อน โดยครั้งนี้ กกต. เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 20 ไปจนถึง วันที่ 24 พ.ค. ซึ่งได้รับความสนใจกว่า 20,600 คนแล้ว ในช่วงเวลา 3 วัน (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พ.ค.67)
เลือก สว. ระดับอำเภอ
เริ่มจากวันที่ 9 มิถุนายน 2567 เป็น “วันเลือก สว. ระดับอำเภอ” สำหรับขั้นตอนในการเลือกระดับอำเภอ แบ่งเป็น 2 รอบ
การเลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 5 คน) โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่ม จะเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้
การเลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรก ของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น โดยที่ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้
ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มจะผ่านเข้ารอบไปเลือกในระดับอำเภอ ในกลุ่มที่ตนเองสมัคร
เลือก สว. ระดับจังหวัด
วันที่ 16 มิถุนายน 2567 เลือก “สว.ระดับจังหวัด” วิธีการเลือกเช่นเดียวกับระดับอำเภอ เลือก สว.ระดับจังหวัด แบ่งเป็น 2 รอบ
การเลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 5 คน) โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่ม จะเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้
การเลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรก ของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น โดยที่ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้
ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก ของแต่ละกลุ่มจะเป็นผู้ที่ถูกเลือกระดับจังหวัดในกลุ่มนั้น เพื่อไปเลือก สว.ระดับประเทศ
เลือก สว.ระดับประเทศ
และในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 “เลือก สว.ระดับประเทศ”
การเลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-40 เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 40 คน) โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่มได้ไม่เกิน 10 คน จะเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้
การเลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้ได้รับคะแนนลำดับที่ 1-10 เป็น สว. และลำดับที่ 11-15 อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น โดยที่ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละไม่เกิน 5 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้
ประกาศผลการเลือก สว.
เมื่อ กกต.ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศแล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้า กกต. เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้องสุจริต และเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา
ในเดือน กรกฎาคม ประกาศผลเลือกตั้ง สว. จำนวน 200 คน รายชื่อสำรองอีก 100 คน
อ่านข่าว : เปิดระเบียบการแนะนำตัว สว. 2567 มีเงื่อนไข อะไรทำได้ – ห้ามทำ
โบกมือลา “สว.250” วาระ 5 ปี ก่อนส่งไม้ต่อ สว.ชุดใหม่
กางปฏิทิน “เลือก สว.” ชุดใหม่ เช็ก “วิธี-เอกสาร” สมัครรับเลือก มีอะไรบ้าง