หน้าแรก Thai PBS สะพัด!ธรรมนัส ยกก๊วนย่องพบ “เฉลิมชัย” ดีลปชป.ร่วมเพื่อไทย

สะพัด!ธรรมนัส ยกก๊วนย่องพบ “เฉลิมชัย” ดีลปชป.ร่วมเพื่อไทย

62
0
สะพัด!ธรรมนัส-ยกก๊วนย่องพบ-“เฉลิมชัย”-ดีลปชป.ร่วมเพื่อไทย
สะพัด!ธรรมนัส ยกก๊วนย่องพบ “เฉลิมชัย” ดีลปชป.ร่วมเพื่อไทย

วันนี้ (21 ส.ค.2567) แหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่า เมื่อเวลา 23.00 น.วานนี้ (20 ส.ค.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิ การพรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วยนายไผ่ ลิกค์ และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร เดินทางเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่บ้านพักส่วนตัว

คาดว่าในการเข้าพบกลางดึกเมื่อครั้งนี้ จะมีการหารือในการที่จะดึงพรรคประชา ธิปัตย์ (ปชป.) เข้าร่วมรัฐบาล หลังจากที่มีปัญหาภายในในพรรคพลังประชารัฐเนื่องจาก ร.อ.ธรรมนัส มีการกล่าวระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับทางกลุ่มพลังประชารัฐ ที่ให้การสนับสนุนกับ ร.อ.ธรรมนัสว่า จะมีความชัดเจนว่ากลุ่มใดในส่วนของพรรคจะได้อยู่ในโควตารัฐบาลแพทองธารเวลา 08.30 น. 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการหารือในพรรคประชาธิปัตย์หลังมีการเจรจากับแกนนำพรรคเพื่อไทย โดยมีการดีลขอเก้าอี้กระทรวงทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ขอโควตาเก้าอี้ 1 รัฐมนตรีว่าการ และ 1 รัฐมนตรีช่วยแทนโควตาแทน ร.อ.ธรรมนัส เนื่องจากทางพรรคเพื่อไทย ยังกังวลเรื่องคุณสม บัติของ ร.อ.ธรรมนัส ที่มีความเสี่ยงถูกตรวจสอบคุณสมบัติด้านจริยธรรม

ก๊วนสส.ที่ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หารือทิ้ง บิ๊กป้อม

ก๊วนสส.ที่ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หารือทิ้ง บิ๊กป้อม

7 ความเสี่ยงรัฐบาลแพทองธาร

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออกมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” เรื่อง “7 ความเสี่ยง รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” ระบุว่า 7 ความเสี่ยง รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

ความเสี่ยงในคุณสมบัติของ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี จะต้องแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ให้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และไม่มีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีจะต้องถูกตรวจสอบในมาตรฐานนี้ต่อไปด้วย

แปลว่าคณะรัฐมนตรีที่มีข้อสงสัยว่าจะไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง หากมีการเสี่ยงฝืนแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ย่อมส่งผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา170 วรรคหนึ่ง (4) ซ้ำร้อยอดีตนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน

ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรี ให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอรายชื่อรัฐมนตรีวันนี้ เพื่อส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบคุณสมบัติ “ทุกวงเล็บ” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ในเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อแสดงความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ของนายกรัฐมนตรีเอง แม้อาจจะสร้างความไม่พอใจกับ ส.ส.บางกลุ่ม จนอาจต้องมีการแยกก๊วนย้ายพรรค แต่ก็เชื่อว่าในที่สุดแล้วจะเป็นที่เข้าใจได้ต่อทุกพรรคการเมืองในการ “ลดความเสี่ยง”ต่อสถานภาพของผู้แต่งตั้งคือนายกรัฐมนตรีที่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง

ส่วนกรณีของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นั้นจะขาดคุณสมบัติหรือไม่ คงไม่น่าจะสามารถพิสูจน์ได้ง่ายในเรื่องอดีตที่เกี่ยวกับการศึกษาและการสอบในสมัยวัยเด็กที่ผ่านมานานแล้ว

ถือหุ้นสนามกอล์ฟอัลไพน์ 

แต่การถือหุ้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในบริษัทที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งเป็นที่ดินธรณีสงฆ์ โดยศาลฎีกามีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 ก.พ.2563 ไม่รับอุทธรณ์ของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งผลทำให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ต้องโทษจำคุก 2 ปี เพราะใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ต่างตอบแทน หวังให้ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งระดับสูงในภายหลัง

คดีดังกล่าวน่าจะยังมีความเสี่ยงต่อคุณสมบัติต่อรัฐมนตรี ซึ่งย่อมถูกนำไปเทียบเคียง กับคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำที่ คมจ. 1/2564 ของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ที่ได้รับมรดกจากบิดาที่เข้าครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยศาลฎีกาได้สั่งเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 ให้น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ และต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวันที่ 6 เม.ย.2565 มีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรค 4 และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 มาตรา 81, 87 และมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ข้อ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง

คำถามที่มากรณีการส่งรายชื่อคณะรัฐมนตรีให้กฤษฎีกา ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี “ทุกวงเล็บ” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 นั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะกล้าหาญเพียงพอเพื่อสอบถามกฤษฎีกาในคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จากรณีการถือหุ้นอัลไพน์ด้วยหรือไม่?

ถ้าจะเลือกปฏิบัติหรือ “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ที่จะไม่สอบถามกฤษฎีกาในประเด็นของตัวเองด้วยแล้ว จะพิสูจน์ลักษณะซ้ำรอยนายเศรษฐา ทวีสิน ในกรณีที่รู้อยู่แล้ว แต่ยังไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่

นายทักษิณ ชินวัตร

นายทักษิณ ชินวัตร

ความเสี่ยงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ความเสี่ยงต่อระบบสภาผู้แทนราษฎร โดยฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาชนก็มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง หรือตัดสิทธิทางการเมือง ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคประชาชน 44 คน จากรณีเคยเข้าชื่อกัน เพื่อยกเลิกและแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

และกรณีความเสี่ยงการประกาศบริจาคเงินเข้าพรรคประชาชนที่มีความเสี่ยงทางกฎหมายในหลายมิติแบบดิ้นได้ยากในขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งก็มีความเสี่ยงถูกดำเนินคดีความในฐานอนุญาตปล่อยให้พรรคก้าวไกลไปหาเสียงนโยบายอันเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ได้นั้น

ทั้ง 2 ประการข้างต้น ทำให้เห็นถึงความเสี่ยงไม่เพียงต่อระบบในสภาผู้แทนราษฎรต่อฝ่ายค้านและรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมีความเสี่ยงต่อระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรอยู่ข้างหน้าอีกด้วย

กับดักดิจิทัลวอลเล็ต

นอกจากนี้ประเด็นที่ 3 ความเสี่ยงในนโยบายเรือธง ของพรรคเพื่อไทยเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่อาจเสื่อมเสียทางการเมืองเพราะผิดสัญญาประชาคม (โดยครอบครัวชินวัตรเอง) หรือหากเดินหน้าแบบเดิมก็อาจจะมีความเสี่ยงต่อกฎหมายถึงขั้นเสี่ยงคุกตะรางเช่นกัน

ในขณะที่นโยบายที่น.ส.แพทองธาร เคยหาเสียงเอาไว้ ประชาชนย่อมต้องทวงถามนโยบายการลดราคาพลังงาน “ทันที” ว่าจะทำได้หรือไม่ เมื่อมองไปแล้วเห็นแต่ความเสื่อม และความเสี่ยงรออยู่ข้างหน้า อย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ม.112-ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

ความเสี่ยงในเรื่องความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ เช่น ความพยายามแก้ไขเรื่องของการโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพด้วยอำนาจทางการเมือง และความพยายามในการสมรู้ร่วมคิดแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อประโยชน์ของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างยิ่งในการต่อต้านของประชาชน ที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการรัฐประหารได้ทั้งสิ้น

รวมทั้ง ความเสี่ยงในนโยบายที่อาจจะเกี่ยวข้องกับประโยชน์ในครอบครัวชินวัตร เช่น พื้นที่แหล่งพลังงานที่อ้างสิทธิทางทะเลระหว่างไทยกัมพูชา หรือการออกฎหมายนิรโทษกรรมให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากไม่เดินหน้าก็อด แต่เดินหน้าต่อไปความเสี่ยงทางการเมืองและกฎหมายอย่างแน่นอน

คดีความทักษิณ-โซ่ตรวนคล้องคอ

ประเด็นที่ 6 ความเสี่ยงคดีทั้งหลายของนายทักษิณ ชินวัตร ทั้งเรื่องการไม่ติดคุกเลยแม้แต่วันเดียว การแต่งชุดขาวอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีเหล่านี้จะเป็นความเสี่ยง เสมือนโซ่ตรวนคล้องคอแล้ว กระตุกนายทักษิณ ชินวัตรหรือไม่ และเมื่อไหร่ ไม่มีใครทราบได้ และจะนำไปสู่การผลักดันนิรโทษกรรมให้กับคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อเอื้อประโยชน์ของทักษิณหรือไม่

ในขณะที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะอาศัยอำนาจในการดำเนินกระบวนการที่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบิดาตัวเองหรือไม่

และสุดท้ายประเด็นที่ 7 ความเสี่ยงจากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจรุมเร้า ทั้งจากหนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น หนี้สินภาครัฐสูงขึ้น ปัญหาปากท้องรุมเร้า ราคาพลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทยอยปิดโรงงานอุตสาหกรรม การแย่งแข่งขันทางการค้าและการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงจากต่างประเทศ

แต่ยังมีเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีความเสี่ยงถึงขั้นเป็นความขัดแย้งหรือสงครามระดับโลก

น.า.แพทองธาร ชินวัตร จะเป็นนายกรัฐมนตรีและทีมงานจะมีวิสัยทัศน์และความสามารถในการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่ผันผวน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้หรือไม่ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้าน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและยารักษาโรค ฯลฯ

ดูจากสถานการณ์ความเสี่ยงทั้ง 7 ด้านดังที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยจะบริหารประเทศต่อไปด้วยความยุ่งยาก และยากลำบากอย่างยิ่ง และมีความเสี่ยงที่จำต้องมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อจากน.ส.แพทองธาร ด้วยหรือไม่

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่