จุดเริ่มต้นนายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เล่าว่านายทักษิณ ประสบความสำเร็จในการทำงานและอยากทำพรรคการเมือง ซึ่งตรงกับความเห็นของตนที่เป็นคน 14 ตุลาคม คนที่เราผ่านกระบวนการประชาธิปไตยมา แล้วอยากเห็นประชาธิปไตยมีความมั่นคงมากขึ้น แต่เข้าใจว่า การที่จะทำงานตรงนี้ได้ดีก็ต้องไปทำพรรคการเมืองและต้องมีเงิน ไม่มีเงินทำยาก
นายทักษิณเป็นผู้ก่อตั้งคนหนึ่งที่สำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการตั้งพรรค ระดมทุนจากที่ต่าง ๆ มาใช้ได้ เพราะว่าหากไม่มีเงินทำงานยาก และนายทักษิณมีฐานะแล้วเขารู้สึกว่าเขาอยากจะทำงานที่เสียสละ และรู้สึกได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศดังนั้นมาชนกับเราที่เป็นผู้ที่เอาใจใส่เรื่องการทำงานการเมือง จึงเกิดพรรคไทยรักไทย ขึ้นมา
ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เปิดเผยว่า ก่อนเปิดตัวพรรค ใช้เวลานานกว่า 3 ปี ลงพื้นที่สอบถามประชาชนถึงความต้องการ และความเดือดร้อน รวมถึงความรู้ ความคิดใหม่ ๆ ก่อนจะนำมากลั่นกรอง เป็นนโยบายและจัดตั้งพรรคการเมือง แม้กระทั่งชื่อ “ไทยรักไทย” ก็มาจากความเห็นของประชาชน ก่อนก้าวลงสนามเลือกตั้ง พร้อมนโยบายหาเสียง
14 กรกฏาคม ปี 2541 เปิดตัวพรรคไทยรักไทย โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รวม 25 คน แคมเปญแรก “คิดใหม่ ทำใหม่” เพราะหากคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม คนในพรรคไทยรักไทย เชื่อว่า พรรคไปไม่รอด ประเทศก็จะไปไม่รอดเช่นกัน และตอนนี้ ก็ไม่คิดว่า จะมาได้ไกลขนาดนี้ด้วย ซึ่งจุดแข็งที่มั่นใจคือ ไทยรักไทย คือพรรคที่มีส่วนร่วมจากประชาชน จึงมีประชาชนสนับสนุน
ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย มั่นใจว่า “ไทยรักไทย” มาพร้อมความเชื่อมั่นในตัว นายทักษิณ ชินวัตร ที่ประชาชนรู้จักและไว้วางใจ ผ่านการสื่อสารแรกทางการเมือง ด้วยสโลแกน “ตาดูดาว เท้าติดดิน” ที่บอกเล่าถึงความเป็นตัวตน บวกกับเกิดเปิดนโยบาย ที่ตรงใจประชาชน
เมื่อเราจะเสนอผู้นำคนใหม่ให้คนรู้จักผู้นำ ก็เริ่มต้นด้วยการเขียนประวัติ ของนายทักษิณ เราอยากให้เขาเห็นว่าเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ ตอนนั้นอายุ 40 กว่า เป็นคนมีวิสัยทัศน์และมีความตั้งใจประสบความสำเร็จในชีวิตมาแล้ว เราถึงได้ไปขุดดู ว่า หลักฐานสำคัญที่ทำให้เข้าประสบความสำเร็จคืออะไร เราก็เลยทำหนังสือ ตาดูดาวเท้าติดดิน ขึ้นมา หนังสือเล่มนี้เป็นการสะท้อนชีวิตตั้งแต่เริ่มต้นของนายทักษิณว่ามีพ่อแม่แบบไหน มีครอบครัวแบบใด มีแนวคิดอย่างไรจนทำให้คนรู้จักเป็นจำนวนมาก
ส่วนนโยบายที่ครองใจประชาชนในสมัยนั้น อาทิ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน, หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์, พักชำระหนี้ให้เกษตรกร, จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชุนเมืองแห่งละ 1 ล้านบาท เร่งจัดตั้งสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด ควบคู่ไปกับการปราบปรามและป้องกัน ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามคอรัปชัน
หลังพรรคไทยรักไทย ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ เหตุจากคดีจ้างวานเลือกตั้ง จากนั้นก็ก่อตั้งพรรคพลังประชาชน แม้จะเปลี่ยนคณะผู้บริหารพรรค เป็นรูปแบบและสัญลักษณ์ แต่นโยบายยังถูกถอดความมาใช้และชนะเลือกตั้ง แต่แล้วก็ต้องเผชิญกับคดีทุจริตเลือกตั้ง และถูกสั่งยุบพรรคอีกครั้ง ก่อนจะก่อเกิดเป็นพรรคเพื่อไทย และยังคงเดินตามรอยกัน
พรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 2 ในสนามเลือกตั้ง ปี 2566 แต่ด้วยเหตุผลทางการเมือง จึงได้รับฉันทามติเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะเพื่อไทย 1 หรือ เพื่อไทย 2 พรรคก็ยังคงผลักดันในนโยบายหาเสียงเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล-วอลเล็ต แม้จะไม่ปฏิเสธการสานต่อ แต่ก็ยอมรับในเหตุบกพร่อง
เมื่อต้องก้าวจากยุคพ่อ เป็นยุคลูก การบริหารคน 2 รุ่น จึงเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญ นอกเหนือจากหลักการ นโยบาย และการบริหารจัดการในยุคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่ใช่ความท้าทายของพรรคเท่านั้น แต่ยังเป็นของบุคคล ที่ไม่เพียงจะสืบเนื่องต่อไป แต่จะทำอย่างไรให้ดำรงอยู่ทางกลางการยอมรับ แม้จะมีข้อครหา มรดกการเมือง “ชินวัตร”
อีกหนึ่งในข้อสังเกตทางการเมือง เรื่อง มรดกการเมือง คือ ตลอด 23 ปีของการเมืองไทย มี 4 นายกรัฐมนตรี จากทั้งหมด 31 คน มาจากคนในตระกูล “ชินวัตร”
แม้คนในพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน จะยืนยันการเป็นผู้นำ ภายใต้ความแตกต่างของบุคคล และเหตุผลของการได้มาซึ่งตำแหน่ง แต่ว่านักวิชาการ ด้านการเมืองการปกครอง ชี้ว่า ไม่ต่าง ทั้งหมดคือ “นอมินี” นายทักษิณ ชินวัตร
อดีตในปี 2544 นายทักษิณ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ในขณะที่เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ท่ามกลางสายตาที่จับจ้อง 1.เป็นคนหน้าใหม่ในทางการเมือง 2.มาจากพรรคการเมืองใหม่ในวงการเมือง ซึ่งผู้ร่วมก่อตั้งพรรค “ภูมิธรรม เวชยชัย” ยืนยันถึงคุณลักษณะ มีน้ำใจ กล้าตัดสินใจ ไม่ลืมบุญคุณ และเป็นผู้นำที่ดี
ขณะที่ปัจจุบัน ปี 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อำนาจทางการเมือง กำลังถูกถ่ายโอน จากพ่อถึงลูก และคุณลักษณะของลูก ก็ไม่ต่างกับพ่อ
เพิ่มเติมคือความอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมรับฟังจากทุกฝ่าย ประสานทุกส่วน แต่ไม่ว่าพ่อหรือลูก ก็ยังคงข้อครหา “ธุรกิจการเมือง” หากแต่ว่า คนในพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า ไม่มีสังคมคิดเหมือนกันทั้งหมด
รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ไม่ปฏิเสธว่า นายทักษิณ เป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ เพราะช่วงเข้ารับตำแหน่งประเทศก็เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ และการเข้ามารับบทผู้นำ ก็ย่อมเป็นที่คาดหวัง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเข้ามาของนายทักษิณครั้งนั้น นำประเทศเข้าสู่ความขัดแย้ง
เริ่มจากวิวาทะ ก็กลายเป็นวาทกรรม โดยเฉพาะคำประกาศ จะไม่ทำงานการเมืองน้ำเน่า ไม่สังฆกรรมกับนักธุรกิจการเมือง หรือกลุ่มก๊วนทางการเมือง สุดท้ายทำไม่ได้ บรรดาพรรคเล็กพรรคน้อย กลุ่มทางการเมือง อีกทั้งนโยบายหลายอย่างถูกวิจารณ์มีผลประโยชน์ทับซ้อน
ตลอด 23 ปีของการเมืองไทย นอกจาก 3 นายกรัฐมนตรี จากทั้งหมด 31 คน มาจากคนในตระกูล “ชินวัตร” ซึ่งไม่ใช่นายทักษิณแล้ว ทั้งน.แพทองธาร หรือจะหมายถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
หรือจะรวมไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน และนายสมัคร สุนทรเวช เสียงสะท้อนตรงกันว่า คือ นอนิมีนายทักษิณ และที่ยังหนีไม่พ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ คือไม่ว่าจะเป็นใคร ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี นั่นคือชนวนเหตุของความขัดแย้งทางการเมือง
เรื่อง : อัจฉารา โพธิ์ศรี
อ่านข่าว : “แพทองธาร” แจงปมก้มอ่านไอแพดวงประชุม ACD
ครม.เคาะที่ปรึกษานายกฯ มีชื่อ “ชัยเกษม” – “ฉัตรชัย” เลขาฯ สมช.
ทางโล่ง “ฉัตรชัย บางชวด” ลูกหม้อตึกแดง เลขาสมช.คนที่ 25