วันนี้ (23 ต.ค.2567) ก่อนที่คดีสลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ จะหมดอายุความในอีก 2 วันข้างหน้า มีแถลงการณ์ข้อเรียกร้องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 3 ข้อ ต่อรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความยุติธรรมเกี่ยวกับคดีนี้ ข้อเรียกร้องของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ประกอบด้วย
- เร่งนำตัวผู้ต้องหาในคดีนี้ทุกรายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อมิให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด โดยอาศัยช่องว่าง จากการดำเนินคดีล่าช้าและการขาดอายุความของคดี
- ให้เยียวยาความเสียหายที่มิใช่เฉพาะตัวเงิน แต่ต้องทำความจริงให้ประจักษ์ เพื่อเคารพในศักดิ์ศรีของเหยื่อ และผู้สูญเสีย
- ผลักดันแก้ไขกฎหมายให้คดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เป็นคดีที่ไม่มีอายุความ
ซึ่ง กสม.ระบุในแถลงการณ์อีกว่า ในโอกาสที่รัฐบาลไทย ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ HRC วาระปี 2568 – 2570 รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการอำนวยความยุติธรรม และการเยียวยาความเสียหายกรณีตากใบอย่างจริงจัง
“ทวี” หวั่นต่ออายุความ “ตากใบ” ขัดรัฐธรรมนูญ
ข้อเสนอให้ออก พ.ร.ก.ต่ออายุความคดี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ระบุว่า ยังไม่มีข้อสรุป ขอให้ไปถามรองนายกฯ ที่กำกับดูแลด้านความมั่นคง แต่โดยปกติการออก พ.ร.ก. มีกระบวนการออกกฎหมาย ที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญว่า การออก พ.ร.ก. เป็นการเฉพาะสำหรับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่เป็นการออกทั่วไป ต้องมีการศึกษาว่าทำได้หรือไม่ เพราะอาจขัดรัฐธรรมนูญ
รมว.ยุติธรรมยังระบุถึงข้อกังวลเรื่องเงื่อนเวลาคดีตากใบที่จะกำลังจะหมดอายุความในอีก 2 วันว่า อายุความเป็นเรื่องของกฎหมาย และ พ.ร.ก.จะใหญ่กว่ากฎหมายไม่ได้ พร้อมย้ำว่า เท่าที่ทราบ ทุกหน่วยงานทำงานอย่างเต็มที่ และยอมรับว่า อาจมีสัญญาณที่ดีในการติดตามผู้ต้องหาบางคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ และถือว่ายังไม่หมดหวัง เพราะยังมีเวลา
และไม่กังวลว่า กรณีคดีตากใบจะกระทบกับฐานเสียงของพรรคประชาชาติในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล เพราะสิ่งที่ต้องกังวลมากกว่า คือเรื่องความยุติธรรมที่สังคมต้องพิจารณาให้รอบด้าน และรัฐบาล พยายามคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย
อ่านข่าวอื่น :
โกรธ 10 ครั้งไม่เท่าอภัยครั้งเดียว “อนุทิน” ยัน รบ.ยุติธรรมคดีตากใบ
“7 รัฐสมรภูมิ” ตัวแปรแห่งชัยชนะ ศึกใหญ่ชี้ชะตา “แฮร์ริส-ทรัมป์”