หน้าแรก Voice TV ​นายกฯแพทองธาร กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันสหประชาชาติ ย้ำเจตนารมณ์ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์รอบด้าน ผ่าน 3 เสาหลัก

​นายกฯแพทองธาร กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันสหประชาชาติ ย้ำเจตนารมณ์ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์รอบด้าน ผ่าน 3 เสาหลัก

31
0
​นายกฯแพทองธาร-กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันสหประชาชาติ-ย้ำเจตนารมณ์ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์รอบด้าน-ผ่าน-3-เสาหลัก
​นายกฯแพทองธาร กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันสหประชาชาติ ย้ำเจตนารมณ์ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์รอบด้าน ผ่าน 3 เสาหลัก

​นายกฯแพทองธาร กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันสหประชาชาติ เน้นย้ำเจตนารมณ์ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์รอบด้าน ผ่าน 3 เสาหลัก เพื่อโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน เยาวชน และคนรุ่นต่อไปในอนาคต

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัย เนื่องในวันสหประชาชาติ ประจำปี 2567 ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ (24 ตุลาคม 2567) โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งโอกาส ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และ “คน” ที่มีศักยภาพ รัฐบาลมุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ ด้วยพลังจากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาและทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทางโอกาส และการสร้างความปลอดภัย ซึ่งเป็นเหตุผลที่สหประชาชาติ หรือ UN มีบทบาทสำคัญสำหรับความร่วมมือในการแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ นี้

วันที่ 24 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันครบรอบการก่อตั้งของสหประชาชาติ ที่เป็นรากฐานของความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ 

1) การสร้างสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญด้วยการส่งบุคลากรเข้าร่วมกองกำลังพิทักษ์สันติภาพกว่า 20 แห่งทั่วโลก เพื่อช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ความขัดแย้ง 

2) การผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล โดยไทยได้เผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มุ่งมั่นสร้างความสมดุลระหว่างความเจริญทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน 

3) การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โลกที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ ไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สำหรับปี 2568-2570 พร้อมให้คำมั่นว่าประเทศไทยจะส่งเสริมและเสริมสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของไทย และเป็นสะพานเชื่อมเพื่อเสริมสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระดับโลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

ประเทศไทยสนับสนุนการดำเนินงานของ UN เพื่อการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของประเทศสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานของนโยบายการเป็น “ผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน” ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางของ UN ในภูมิภาค ที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงาน UN กว่า 40 แห่ง รวมถึง UN ESCAP

โดยประเทศไทยยินดีกับความสำเร็จของการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคตเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และมุ่งหน้าผลักดันคำมั่นเพื่ออนาคต (Pact for the Future) ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า การจะทำให้โลกดีขึ้น ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นทางการเมือง การลงมือทำ และการสนับสนุนของทุกประเทศ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ต่อการดำเนินงานของ UN และประชาคมโลก เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนในวันนี้ และเยาวชนและคนรุ่นต่อไปในอนาคต

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่