3 องค์กรหลักภาคเอกชน มั่นใจศักยภาพรัฐบาลนายกฯ ‘แพทองธาร’ ไปได้แน่ หลังหารือร่วมกัน ด้านนายกฯ พร้อมรับข้อเสนอด้านเศรษฐกิจเร่งสานต่อนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา พร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคเอกชน วางเป้าหมาย ประเทศไทยเศรษฐกิจต้องฟื้นในทุกมิติในเร็ววันนี้
วันนี้ (28 ตุลาคม 2567) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้หารือแนวทางการส่งเสริมและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และนายสุธีร์ สธนสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เป็นนิมิตหมายอันดีที่จะพบปะหารือกับคณะกรรมการร่วมเอกชน ซึ่งจากการรับฟังครั้งก่อนได้รับประโยชน์และนำไปปรับปรุง ในการบริหารงานของรัฐบาลได้อย่างมาก ซึ่งประเทศไทยประสบปัญหาศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกิดหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น จึงต้องการให้ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันในทุกมิติ ทั้งนี้การปรับโครงสร้างหนี้เพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายหารายได้ใหม่ ๆ เข้าประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ที่ผ่านมาไม่กี่เดือนรัฐบาลได้เร่งทำเรื่อง “ซอฟต์พาวเวอร์” โดยได้ร่วมมือกับเอกชนจำนวนมากซึ่งถือเป็นภาคสำคัญในการทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งรัฐบาลและภาคเอกชนจะทำงานร่วมกันเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจต่อประชาชน ทั้งนี้รัฐบาลพร้อมสนับสนุนและรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน เพื่อนำไปปรับให้เข้ากับนโยบายของรัฐบาลต่อไป”
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่า วเชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมเสนอรายงานผลจากการระดมความเห็นจากตัวแทนภาคธุรกิจในสาขาต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลนำไปประกอบเป็นแนวทาง กำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ให้สอดรับกับสถานการณ์ของโลกและภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศโดยมีเป้าหมายไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
2.การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
3.การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ
4.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวเสนอรัฐบาล ว่า ขอให้เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยเสนอให้รัฐบาลจัดทำโครงการ “คนละครึ่ง” ต่อเนื่องจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เพื่อเป็นการกระตุ้นในระยะเร่งด่วน โดยเฉพาะต้นปีหน้านี้ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน และเทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงที่ประชาชนต้องจับจ่ายซื้อของและเดินทางท่องเที่ยว พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลเร่งรัดให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ขอให้รัฐบาลสนับสนุนส่งเสริม ประชาชนที่ใช้รถเพื่อการพาณิชย์เช่นรถกระบะในการทำมาหากิน โดยขอให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน อาทิ การขยายเวลาการผ่อนชำระ การยกเว้นดอกเบี้ยปรับ ค่างวดรถที่ค้างชำระ และขอให้ ผ่อนปรนในการยึดรถ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีรถใช้ทำมาหากินได้ต่อไป ส่วนด้านการท่องเที่ยว ขอให้รัฐบาลเร่งประชาสัมพันธ์เทศกาลท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเฉพาะงานพืชสวนโลก ซึ่งจังหวัดอุดรธานีจะเป็นเจ้าภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว
ส่วนเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ขอให้รัฐบาลพิจารณา นโยบายนี้ในสมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำมาต่อยอดเดินหน้าโครงการต่อไป เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและต่อพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ และขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ พร้อมเสนอให้มีการพบปะหารือระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันกับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลทุกๆ 6 เดือน
ขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณภาคเอกชนสำหรับข้อเสนอและแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยจะนำข้อเสนอไปพิจารณาและจะติดตามการดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ในรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นของอดีตนายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ทำไว้ดีอยู่แล้ว ให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่ให้สะดุด ในส่วนของกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดต้นทุนแฝงและกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ขอให้ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาล ซึ่งพร้อมพิจารณาดำเนิน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังตอบรับข้อเสนอของภาคเอกชนในการพบปะหารือร่วมกันอย่างน้อย 6 เดือนอีกด้วย