2 ปี เห็นทันตา! ‘คณะซอฟต์พาวเวอร์ X กรุงเทพฯ’ จับมือเดินหน้าพัฒนาตลาดนัดจตุจักร เป็น Thailand Soft Power Gateway จุดหมายระดับโลกที่ทุกคนต้องมาเที่ยว เล็งรื้อระบบค่าเช่าให้เป็นธรรมทุกฝ่าย
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 (ครั้งที่ 8) โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และได้นำเสนอในส่วนของการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร เพื่อพัฒนาศักยภาพของตลาดนัดเป็น Thailand Soft Power Gateway เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวสูงสุด กว่า 300,000 คนต่อวัน มีสินค้าที่ประสบความสำเร็จระดับโลก ที่เริ่มจากการเปิดร้านในตลาดจตุจักร ตลาดจตุจักร จึงเป็นตลาดนัดที่มีศักยภาพในการยกระดับเป็น Thailand Soft Power Gateway ของทั้ง 13 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์
และทางกรุงเทพมหานคร ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ฯ เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาตลาดจตุจักร และบริเวณพื้นที่โดยรอบ ผลักดันสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ตลอดจนเสนอเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาศักยภาพตลาดจตุจักรอย่างเป็นรูปธรรม
หลักการประชุม นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญเรื่องตลาดนัดจตุจักร จากมติ ครม. เดิมกำหนดให้เพดานค่าเช่าที่ทาง กทม.เรียกเก็บจากผู้เช่าได้จำนวน 1,800 บาทต่อล็อคต่อเดือน แต่ในความเป็นจริงแล้วค่าเช่าอยู่ระดับหลายหมื่นถึงแสนบาท แต่ไม่ได้เป็นเงินที่ตกมาถึง กทม. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการตลาดจตุจักร
เพราะฉะนั้น เรื่องของการบริหารจัดการให้มีการจัดระบบภายใน มีการสร้างความประทับใจของตลาด ให้สอดคล้องกับการเป็นจุดหมายระดับโลกที่นักท่องเที่ยวจะต้องมาเที่ยว ดังนั้น จึงมีข้อเสนอต่อคณะกรรมการว่า จะต้องมีการศึกษาแนวทางเพื่อการพัฒนาศักยภาพตลาดจตุจักรอย่างจริงจัง
ซึ่งทาง กทม.ก็ได้มีการศึกษาไว้เบื้องต้นแล้วอย่างเต็มรูปแบบ และที่ประชุมเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่เรื่องนี้ โดยมีตนเป็นประธาน และมีรองผู้ว่าฯ กทม. และนายดวงฤทธิ์ บุนนาค เป็นรองประธาน มีอนุกรรมการ เช่น ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ
“คาดหมายว่าเราจะสามารถพัฒนาตลาดจตุจักรให้เสร็จภายใน 2 ปี กระบวนการทั้งหมดนี้จะเร่งดำเนินการเพื่อให้ตลาดนัดจตุจักรเป็นศูนย์กลางซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย โดยยังไม่ได้พูดถึงงบประมาณ แต่ กทม.ได้ศึกษาพิมพ์เขียวไว้เบื้องต้นแล้ว และเห็นเป็นทิศทางที่น่าสนใจ น่าจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเราจะยังคงเสน่ห์เดิมที่ทำให้เป็นตลาดซึ่งคนมาแล้วไม่เหมือนเดินตามห้างหรู ได้บรรยากาศผ่อนคลาย และรู้สึกมีอิสระในการเยี่ยมชมความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย”
นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับอัตราค่าเช่าของผู้เช่า ได้มีการปรึกษาหารือให้ค่าเช่าของผู้เช่าเป็นไปตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ก็จะไปกระทบกับคนบางส่วนได้
เรื่องนี้มี 2 ส่วนคือ ส่วนแรกคือการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำไปสู่การขยายเพดานค่าเช่าไปสู่สภาพความเป็นจริง ส่วนที่สองคือเรื่องการทำสัญญาต่าง ๆ โดยตรงกับ กทม.จะทำให้คนกลางที่ได้รับผลประโยชน์ส่วนต่างก็จะไม่ได้รับอีกต่อไป หลังจากนี้จะมีความคืบหน้าชัดเจน เชื่อว่าจะได้ความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตลาดนัดจตุจักรมีพื้นที่ทั้งหมด 68 ไร่ และมีผู้ค้าอยู่ประมาณหนึ่งหมื่นแผง โดยมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาตลาดนัดจตุจักรสูงสุด 300,000 คน และน้อยที่สุด 80,000 คนต่อวัน
จะเห็นได้ว่าสถานที่แห่งนี้มีศักยภาพสูงในแง่ของแหล่งท่องเที่ยว แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของที่ดิน เนื่องจากที่ดินของตลาดนัดจตุจักรเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีมติว่าให้กำหนดเก็บค่าแผงในราคา 1,800 บาทต่อล็อคต่อเดือน
หากจะมีการปรับปรุง ลงทุนพัฒนา ต้องขออนุญาตการรถไฟฯ ก่อน ส่งผลให้ความคล่องตัวและความสะดวกในการพัฒนานั้นมีน้อย และจะมีการปรึกษาหารือว่าควรมีซอฟต์พาวเวอร์แพลตฟอร์มที่รวบรวมซอฟต์พาวเวอร์ในทุกด้านให้มีพื้นที่ในการจัดแสดง
ซึ่งตลาดนัดจตุจักรเป็นพื้นที่ที่ประกอบไปด้วยซอฟต์พาวเวอร์ในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ แฟชั่น ศิลปะ หัตถกรรม อาหาร ดนตรี จึงเป็นพื้นที่แรกที่เราเลือกที่จะพัฒนา