หน้าแรก Thai PBS พปชร.แนะ รัฐบาลทำ MOU ใหม่ บนหลัก กม.ทางทะเลร่วมกัน

พปชร.แนะ รัฐบาลทำ MOU ใหม่ บนหลัก กม.ทางทะเลร่วมกัน

19
0
พปชรแนะ-รัฐบาลทำ-mou-ใหม่-บนหลัก-กม.ทางทะเลร่วมกัน
พปชร.แนะ รัฐบาลทำ MOU ใหม่ บนหลัก กม.ทางทะเลร่วมกัน

วันนี้ (8 พ.ย.2567) พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จัดแถลงข่าวในหัวข้อ “MOU 2544 ภาคต่อ EP 2” นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ยังไม่ต้องการเห็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนสำเร็จ ซึ่งไม่ได้มีเจตนาคัดค้านการเจรจาการแบ่งปันผลประโยชน์ แต่มุ่งหวังที่จะเสนอแนะการเจรจานั้นสัมฤทธิผล

นายสนธิรัตน์ ยังกล่าวว่า ยืนยันว่าเกาะกูด เป็นของประเทศไทย แต่น่านน้ำถูกละเมิดสิทธิ์ ดังนั้นการตั้งต้นกรอบการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนด้วยการละเมิดน่านน้ำเกาะกูด เป็นจุดเริ่มต้นพื้นที่ทับซ้อนที่ยาก ในการตกลงร่วมกัน และกรณี MOU 2544 พรรคยืนยันจุดยืนว่าเป็นอุปสรรคต่อการเจรจา เป็นสาเหตุให้พรรคยกเลิก

เพราะเกิดการถกเถียงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เริ่มมาจากกรณีไม่ได้มีการเจรจาอาณาเขตทางทะเลตามกฎหมายสากล กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ต่างฝ่ายต่างเคลม เป็นจุดเริ่มต้นในการเจรจา เป็นสาเหตุที่เราเห็นว่า หากไม่ได้เริ่มต้นเจรจาอยู่บนกรอบของกฎหมายสากลในการแบ่งอาณาเขตทางทะเลแล้วยอมรับในเรื่องของการนำจุดตั้งต้นนั้น เป็นจุดการเจรจา เราพบแล้วว่า จะเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุข้อตกลงและการยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย

นายสนธิรัตน์ ระบุว่า อาจจะนำไปสู่การแบ่งผลประโยชน์ที่ไม่ชอบและไม่เป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นหลักการเจรจาจะต้องเริ่มต้นตามหลักกฎหมายสากล เพื่อจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งผลประโยชน์ที่เป็นธรรม ซึ่งพรรคพลังประชารัฐยืนยันมาตลอดว่ากังวลใจ แม้กระทรวงต่างประเทศจะบอกว่า MOU2544 ไม่ได้กำหนดถึงอาณาเขตทางทะเล แต่หากการเจรจายังใช้บันทึกตกลงดังกล่าวและมีการเซ็นสัญญาระหว่าง 2 ฝ่าย โดยมีเอกสารแนบท้าย อนาคตหากเกิดกรณีพิพาท 2 ประเทศ ซึ่งสิ่งนี้เป็นหลักฐานว่าเกิดการยอมรับทางประวัติศาสตร์ขึ้น จึงมีความไม่สบายใจ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ กล่าวชี้แจงตอบนายกรัฐมนตรี เรื่อง MOU 2544 ที่ไทยเสียเปรียบและเป็นบันไดนำไปสู่การเสียดินแดนจากความตกลงนี้ในอนาคต

1.รัฐบาลให้สิทธิพิเศษในการเจรจากับกัมพูชาเหนือกว่าประเทศอื่นในการแบ่งเขตไหล่ทวีป ที่ล้วนต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล เหตุใด กัมพูชาเป็นคู่เจรจาที่ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล ที่สำคัญคือ ขัดกับวรรคท้ายของพระบรมราชโองการที่ระบุว่า การกำหนดไหล่ทวีป กับประเทศใกล้เคียงให้ตกลงกันโดยยึดถือบทบัญญัติอนุสัญญาเจนีวา 1958  

2.MOU 2544 เป็นการลดสถานะของเส้นเขตแดนตามประกาศพระบรมราชโองการที่ทำตามกฎหมายสากล ให้มีค่าเท่ากับเส้นที่ลากเส้นเขตแดนที่ไม่มีกฎหมายสากลรองรับ กินพื้นที่พระราชอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยไปถึง 26,000 ตร. กม.MOU 2544 ทำให้ไทยที่ทำตามกฎหมายสากลกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะอีกฝ่ายทำนอกกฎหมายสากล และเรื่องการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสากลของกัมพูชานี้เป็นที่ทราบดีในวงวิชาการ กระทรวงต่างประเทศ และกองทัพ

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ

3.การลากเส้นเขตแดนทางทะเลเกินสิทธิ์ของกัมพูชา ทับน่านน้ำภายในของ จ.ตราด ทับทะเลอาณาเขตชิดเกาะกูด แต่กลับปรากฏในแผนที่แนบท้าย MOU 2544 เท่ากับรัฐบาลไทยรับรู้ว่า ทะเลตราดและทะเลเกาะกูดอยู่ในเขตของฝ่ายกัมพูชา และถูกนำเข้ามาอยู่ในกรอบการเจรจา ไทยจึงเป็นฝ่ายเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่เริ่มเจรจา

4.รัฐบาลอธิบายว่า MOU 2544 ไม่ปรากฏข้อความไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่เส้นดังกล่าวไปปรากฏในแผนที่แนบท้าย แม้ไม่ได้เขียนตรงๆ ว่า ยอมรับ แต่แผนที่คือเอกสารราชการที่แสดงการรับรู้รับทราบว่า เส้นของกัมพูชาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพราะไม่เคยปรากฏบนเอกสารราชการไทยมาก่อนปี 2544 เลย การรับรู้เส้นเขตแดนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในเอกสารราชการไทย ก็ทำให้ฝ่ายกัมพูชาได้ประโยชน์ ถือว่าทำให้ไทยเสียหาย

5.สำหรับการเจรจา MOU 44 กับประเทศกัมพูชานั้น เป็นการดำเนินการที่เร่งรีบผิดปกติโดยใช้เวลาเจรจาเพียง 44 วัน จนระบุเส้นละติจูดผิด เมื่อเทียบกรณีกับมาเลเซีย ใช้เวลา 7 ปี จึงเกิด MOU แสดงให้เห็นความรีบร้อน ไม่รัดกุม อาจนำประเทศไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในอนาคต

6.หากยอมให้มีการขุดปิโตรเลียมและมีการแบ่งผลประโยชน์กัน 50% ระหว่างไทยและกัมพูชาเมื่อใด จะเป็นหลักฐานสำคัญว่า ไทยยอมรับสิทธิอธิปไตยของกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว และมีความเสี่ยงที่จะถูกนำขึ้นสู่ศาลโลกเพื่อแบ่งพื้นที่ให้กัมพูชา 13,000 ตร.กม. ต่อไปในอนาคต

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของคนไทย จึงควรยกเลิก MOU 2544 แล้วทำ MOU ฉบับใหม่กับกัมพูชา ปี 2568 ก็ได้โดยขอให้กัมพูชา ทำตามกฎหมายทะเลเสียก่อน

ส่วนนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า มีบางกระแสคิดว่าที่ พรรคพลังประชารัฐออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์ทางการเมือง แต่ขอย้ำว่าออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ของประเทศ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า การทำงานของกระทรวงต่างประเทศ (กต.) อาจไม่ได้ให้ข้อมูลแก่รัฐบาลต่าง ๆ ที่ผ่านมาอย่างครบถ้วน

ขอเรียกร้องให้ รมว.ต่างประเทศและอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้มีหน้าที่ปกป้องประเทศในเวทีกฎหมายสากล ชี้้แจงต่อประชาชนว่า กระทรวงการต่างประเทศไปเสนอให้รัฐบาลทำ MOU ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่าเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ผ่านเกาะกูดนั้นขัดกับกติกาสากลใช่หรือไม่

 
นายธีระชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เส้นดังกล่าวขัดกับกติกาสากล 3 ข้อ คือ ขัดอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตฯ เพราะรุกล้ำอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะกูด ,ขัดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ เพราะอ้างจุดสูงสุดบนเขาเกาะกูดบิดเบือนเจตนารมณ์ และขัดอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป เพราะอนุสัญญาฯ ไม่ได้อนุญาตเรื่องเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในสนธิสัญญาฯ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศย่อมจะรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงรู้สึกแปลกใจว่าทำไมไปทำ MOU โดยนำเส้นที่ผิดกติกาไปใส่

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ

 
นายธีระชัย กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีควรจะเรียกให้ รมว.ต่างประเทศ ตอบคำถามและบันทึกไว้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างชัดเจน ว่า กระทรวงต่างประเทศทราบหรือไม่ว่าเส้นสีแดงที่ผ่านเกาะกูดของกัมพูชานั้นผิดกฎหมายสากลและ กระทรวงการต่างประเทศ เคยแจ้งทักท้วงทางกัมพูชาหรือไม่ และได้เคยแจ้งให้รัฐบาลไทยชุดใดทราบหรือไม่ การไปทำ MOU โดยนำเส้นที่ผิดกติกาสากลไปทำนั้นเกิดประโยชน์อะไรกับประเทศไทย, MOU มีการเขียนไว้ว่า ไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของประเทศคู่สัญญา ก็หมายความว่าไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของกัมพูชา หมายความว่าไทยจะสละสิทธิ์ในการทักท้วงเส้นนี้ที่ผิดกฎหมายสากลหรือไม่ และเส้นที่ผ่านเกาะกูดจะถูกต้องตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ก็เฉพาะกรณีที่ไทยและกัมพูชาเป็นเจ้าของเกาะกูดกันคนละส่วนใช่หรือไม่

นายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พลังประชารัฐยืนยันจุดยืนในการยกเลิก MOU2544 ไม่ได้ประสงค์จะให้ รัฐบาลทำงานไม่ได้ แต่ประสงค์ให้รัฐบาลทำงานได้บรรลุผล เพราะใน MOU มีข้อบกพร่อง การทำสัญญา ณ ขณะนั้นขาดความรอบคอบ จึงเรียกร้องให้กลับมาเริ่มต้นโดยการเจรจา บนหลักสากลของการแบ่งอาณาเขตทางทะเล 1982 ซึ่งนี่จะเป็นจุดที่จะตัดความกังขา

การนำเสนอนี้ไม่ได้มีเจตนาโต้แย้ง แต่ต้องการความเห็นรอบ เพราะประเทศไม่ใช่ของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่ประเทศเป็นของประชาชนคนไทย

ส่วนจะยกเลิก MOU2544 ได้หรือไม่นั้น พรรคพลังประชารัฐอยู่ระหว่างตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกฝ่ายเดียว แต่ขอทำการบ้านก่อนเรื่องนี้เป็นเพียงบันทึกข้อตกลง ไม่ใช่หนังสือสัญญาระหว่างกัน ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศศึกษาเชิงลึกด้วย เพราะขณะที่ลงนาม MOU กันนั้น ไม่ได้ผ่านสภา ดังนั้นเมื่อจะยกเลิกก็ไม่จำเป็นต้องผ่านสภา และเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า ถ้าจะยกเลิกจะต้องทำอย่างไร

นายสนธิรัตน์ ยังมองการลงพื้นที่ของแกนนำรัฐบาลที่เกาะกูด จ.ตราด ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาในการลากเส้นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล แต่ยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย ส่วนการยกเลิก MOU2544 หากรัฐบาลยกเลิกและร่างบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ฉบับใหม่ และนำสิ่งที่เป็นข้อโต้แย้งไปประกอบ โดยเริ่มต้นจากการแบ่งเขตการเจรจาภายใต้กฎหมายสากล ซึ่งหากเรื่องนี้ไม่เกิดเชื่อว่าการเจรจาอย่างไรก็เป็นไปได้ยาก เส้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเพราะสุดท้ายติดปัญหาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดน สำหรับการยกเลิก MOU เชื่อว่าสามารถยกเลิกได้ผ่านการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งตามข้อมูลที่พรรคมีนั้น เชื่อว่าสามารถยกเลิกได้

อ่านข่าว : กต.ยัน “เกาะกูด” เป็นของไทย ไม่จำเป็นต้องยกเลิก MOU 44 

กต.แจงปมพื้นที่ทับซ้อน MOU44 คนไทยต้องเห็นชอบก่อน 

“แพทองธาร” คาดตั้งทีม JTC เจรจา MOU 44 ไทย-กัมพูชา 

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่