‘จุลพันธ์’ เปิดงานมหกรรมการเงินเชียงใหม่ ย้ำแนวคิด ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ หวังเป็นฮับการเงินแห่งอาเซียน เผย ‘คลัง-ธทป.’ จับมือสร้างกลไก ‘ธนาคารไร้สาขา’ เอื้อ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน มั่นใจมาตรการช่วยเหลือน้ำท่วม-แอ่วเหนือคนละครึ่ง ฟื้นเศรษฐกิจภาคเหนือ
วันที่ 8 พ.ย. 2567 ที่เชียงใหม่ ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมการเงินเชียงใหม่ ครั้งที่ 19 (MONEY EXPO 2024 CHAINGMAI) ภายใต้แนวคิด Digital Finance for All การเงินดิจิทัลเพื่อทุกคน โดยมีนายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานจัดงานมหกรรมการเงิน MONEY EXPO และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย พร้อมด้วยผู้บริหารสถาบันการเงิน
นายจุลพันธ์กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้มาเป็นประธานในงานนี้ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย ที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคการเงินดิจิทัลและยังเป็นก้าวย่างที่มีความหมายสำหรับภาคการเงินไทยในแง่ของการริเริ่มสนับสนุนให้ประชาชนทุกระดับ ตลอดจนธุรกิจ SMEs สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและการลงทุนได้อย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ
นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า งานมหกรรมการเงินเชียงใหม่ นับว่าเป็นงานมหกรรมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในภาคเหนือสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างกว้างขวาง โดยผลลัพธ์จากการจัดงานที่ผ่านมาทั้งหมด 18 ครั้ง มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานสูงถึง 1,120,000 คน เกิดมูลค่าธุรกรรมรวมทั้งสิ้นถึง 215,930 ล้านบาท และครั้งล่าสุดในปีที่ผ่านมานั้น พบว่ามีผู้เข้าร่วมงานกว่า 35,000 คน และมูลค่าธุรกรรมทั้งสิ้นกว่า 8,050 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นความสำเร็จและความสำคัญของโครงการได้เป็นอย่างดี
นายจุลพันธ์ยังกล่าวถึงนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและการเงินดิจิทัลในภาพรวมของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลมีนโยบายและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระบบการเงิน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงเร่งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับประชาชนในอัตราที่เหมาะสม
นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า ในระยะที่ผ่านมานั้น อุตสาหกรรมการเงินของไทยแข็งแกร่งขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมการเงิน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดึงเอาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเข้ามาในประเทศ ผ่านการผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับระบบการเงิน คือ การส่งเสริมให้เกิดธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) หรือการค้ำประกันสินเชื่อที่จะสร้างความทั่วถึงด้านการเงินให้กับคนไทย บนความเชื่อมั่นว่ายิ่งคนไทยเข้าถึงระบบการเงินได้สะดวกมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งนำไปสู่การลงทุน การสร้างงานและการยกระดับคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้นมากเท่านั้น
นายจุลพันธ์กล่าวย้ำว่า แนวคิดดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการคลังที่ร่วมกันออกใบอนุญาตธนาคารไร้สาขาร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นประชาชนและธุรกิจ SMEs ที่เพิ่งเริ่มประกอบธุรกิจและยังไม่เคยได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารไร้สาขาและคาดว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตจะสามารถเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 2 ของปี 2568
นอกจากนี้ นายจุลพันธ์ยังกล่าวถึงนโยบายของกระทรวงการคลังที่กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) มีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มช่องว่างทางการเงิน ผ่านหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
ประการแรกคือ หลักการ Financial for all ที่มุ่งเน้นให้ SFIs ขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้ประชาชนมีแหล่งเงินทุนไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิต
ประการที่สองคือ หลักการ Literacy for all ที่มุ่งเน้นให้ SFIs ยกระดับศักยภาพของลูกหนี้ โดยการเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางการเงิน ความรู้ในการประกอบธุรกิจ และความรู้ด้านดิจิทัล
ประการที่สามคือ หลักการ Responsibility for all ที่มุ่งเน้นให้ SFIs ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง ยึดหลักการธนาคารเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมให้ยกระดับการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการวิเคราะห์ความเสี่ยงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งผ่านนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ได้ออกใบอนุญาตให้มีการซื้อขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) โดยผู้ถือโทเคนดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ตามที่ผู้ออกหน่วยลงทุนกำหนด
นายจุลพันธ์ได้กล่าวถึงมาตรการของภาครัฐที่ได้ช่วยเหลือประชาชนในระหว่างการเกิดอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมาด้วยว่า รัฐบาลและธนาคารของรัฐได้มีมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ขยายเวลาชำระหนี้ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
สำหรับมาตรการของ ธ.ก.ส. นั้น นายจุลพันธ์เน้นย้ำว่า มาตรการพักชำระหนี้สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตประสบภัยสามารถแจ้งความประสงค์ในการขอเลื่อนระยะเวลาชำระหนี้สุงสุดไม่เกิน 1 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ รวมถึงมีมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้เกษตรกรที่มีหนี้ค้างชำระ (NPL) โดยขยายระยะเวลาชำระหนี้ได้ถึง 20 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยปรับ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2567/68 เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในด้านค่าใช้จ่ายทั่วไป เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ที่อัตราดอกเบี้ย MRR (6.875%) ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปีปลอดชำระดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก
ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ยังได้กล่าวถึงโครงการแอ่วเหนือคนละครึ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในภาคเหนือ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว มอบสิทธิ์ส่วนลด 50% รวมมูลค่าไม่เกิน 400 บาท จำนวน 10,000 สิทธิ์ ให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับภาคเหนือได้ไม่น้อยกว่า 44.34 ล้านบาท
นายจุลพันธ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนมั่นใจว่านโยบายทางการเงินและมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เหล่านี้จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนและเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปและรัฐบาลจะทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่งให้กับประเทศและขับเคลื่อนประเทศไทยให้ขึ้นมาเป็นฮับการเงินแห่งภูมิภาคอาเซียนให้สำเร็จ