หน้าแรก Voice TV ‘คมนาคม’ เดินเครื่องศึกษามาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เปิดโมเดล 4 ประเทศ ‘อังกฤษ – สิงคโปร์ – สวีเดน – อิตาลี’

‘คมนาคม’ เดินเครื่องศึกษามาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เปิดโมเดล 4 ประเทศ ‘อังกฤษ – สิงคโปร์ – สวีเดน – อิตาลี’

20
0
‘คมนาคม’-เดินเครื่องศึกษามาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด-เปิดโมเดล-4-ประเทศ-‘อังกฤษ-–-สิงคโปร์-–-สวีเดน-–-อิตาลี’
‘คมนาคม’ เดินเครื่องศึกษามาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เปิดโมเดล 4 ประเทศ ‘อังกฤษ – สิงคโปร์ – สวีเดน – อิตาลี’

‘คมนาคม’ เดินเครื่องศึกษามาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ‘Congestion Charge’ เปิดโมเดล 4 ประเทศ “อังกฤษ – สิงคโปร์ – สวีเดน – อิตาลี” พบช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างเป็นรูปธรรม

‘คมนาคม’ เดินเครื่องศึกษามาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ‘Congestion Charge’ เปิดโมเดล 4 ประเทศ ‘อังกฤษ – สิงคโปร์ – สวีเดน – อิตาลี’ พบช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างเป็นรูปธรรม ด้าน สนข. เร่งศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ชี้ช่วยดึงดูดประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เชื่อมระบบฟีดเดอร์ – ขนส่งหลัก หนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ลดค่าครองชีพ – ลดฝุ่น PM 2.5 ยืนยันยึดประโยชน์ประชาชน – ประเทศชาติเป็นสำคัญ

นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมาย ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการศึกษาแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ ทั้งข้อดีของการดำเนินการพื้นที่ที่จะดำเนินการ อัตราค่าธรรมเนียม รูปแบบการชำระค่าธรรมเนียม รูปแบบการดำเนินการในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ และนำมาเปรียบเทียบความน่าจะเป็นกับความเหมาะสมในประเทศไทย รวมถึงระบบทางเศรษฐกิจทุกภาคส่วน สังคม สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม และระบบการขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก 

ทั้งนี้ จากการรายงานของ สนข. ถึงผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่า ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2562 – 2565 สนข. ได้ความร่วมมือจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) ในการดำเนินการศึกษาและพิจารณารายละเอียดของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ขณะนี้ สนข. ได้ทบทวนผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

เบื้องต้นได้ศึกษาถึงมาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในพื้นที่ที่มีการพัฒนาระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้า และรถขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม และมีความสะดวกในการใช้งานแล้ว เพื่อสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยจะมีการจัดเตรียมระบบขนส่งสาธารณะให้มีความพร้อมรองรับการเดินทางอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะรอง (ฟีดเดอร์) เพื่อขนส่งผู้โดยสารมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะหลักอย่างระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจร สามารถกำหนดระยะเวลาในการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังลดมลพิษทางอากาศ และที่สำคัญการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดนั้น จะนำเงินที่ได้รับดังกล่าวมาสนับสนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถือเป็นการลดค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และมีส่วนช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ได้อีกด้วย

นายกฤชนนท์ กล่าวต่อว่า ในการศึกษาของ สนข. นั้น ยังได้นำรูปแบบการดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดใน 4 ประเทศที่ประสบความสำเร็จมาเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้กับประเทศไทยให้มีความเหมาะสม ได้แก่

1) ลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีการใช้ระบบกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ (ANPR) เพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในพื้นที่ศูนย์กลางของเมือง รัศมีขนาด 21 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) จัดเก็บในช่วงวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 07.00 – 18.00 น. และวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 12.00 – 18.00 น. แต่ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจัดเก็บในราคา 15 ปอนด์ต่อวัน (ประมาณ 658 บาท) ส่วนวิธีการชำระเงินนั้นสามารถชำระได้ในช่องทางแอปพลิเคชันและออนไลน์ ซึ่งผลลัพธ์จากการศึกษามาตรการเก็บค่าธรรมเนียมใช้ถนนที่ลอนดอน พบว่า การจราจรติดขัดลดลง 16% และมีปริมาณผู้โดยสารขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 18%

2) ประเทศสิงคโปร์ จัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในพื้นที่ศูนย์กลางของเมือง ทางด่วน และพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น ในวันจันทร์ – เสาร์ ช่วงเวลา 06.00 – 22.00 น. ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในราคา 1 – 6 ดอลลาร์สิงคโปร์ (26 – 158 บาท) ขึ้นอยู่กับประเภทรถ ช่วงเวลา และพื้นที่ สามารถชำระเงินได้ที่ชุดควบคุมภายในรถ (IU) โดยเชื่อมต่อกับเครื่องชำระเงินผ่านบัตรแทนเงินสด หรือบัตรเดบิต/เครดิต ส่วนระบบการทำงานนั้นจะใช้เทคโนโลยีวิทยุระบุความถี่ (RFID) เพื่อทำการเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดโดยอัตโนมัติจากยานพาหนะที่ติดตั้ง IU ที่ผ่านไปใต้ประตู ERP โดยผลลัพธ์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ พบว่า การจราจรติดขัดลดลง 15%

3) สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน จัดเก็บในพื้นที่ศูนย์กลางของเมืองทางหลวงพิเศษเอสซิงเกเลเดน (Essingeleden Motorway) ในวันจันทร์ – เสาร์ เวลา 06.30 – 18.29 น. ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในราคา 11 – 45 โครนาสวีเดน (35.53 – 145.35 บาท) ขึ้นอยู่กับประเภทรถ ช่วงเวลา และพื้นที่ โดยกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ จะตรวจจับค่าผ่านทางบนถนน โดยจะบันทึกยานพาหนะทั้งหมด และมีการส่งใบแจ้งหนี้ไปยังเจ้าของยานพาหนะในช่วงสิ้นเดือน ทั้งนี้ ผลลัพธ์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ พบว่า จราจรติดขัดลดลง 20% มีการใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่ม 5% ขณะที่ โกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ได้มีการจัดเก็บในพื้นที่ใจกลางเมืองโกเธนเบิร์กทั้งหมด และถนนสายหลัก E6 ในวันจันทร์ – เสาร์ เวลา 06.30 – 18.29 น. ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในราคา 9 – 22 โครนาสวีเดน (29.07 – 71.06 บาท) ขึ้นอยู่กับประเภทรถ ช่วงเวลา และพื้นที่ ส่วนรูปแบบการชำระเงินและการดำเนินการจะเป็นเช่นเดียวกันกับสต็อกโฮล์ม โดยการดำเนินการในโกเธนเบิร์กนั้น พบว่า จราจรติดขัดลดลง 10% และใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่ม 6%

4) มิลาน ประเทศอิตาลี ได้ติดตั้งกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ เพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในพื้นที่ใจกลางเมืองมิลาน บริเวณเซอร์เคีย เดย บาสติโอนี่ (Cerchia dei Bastioni) แบ่งเป็นวันจันทร์ อังคาร พุธ และศุกร์ เวลา 07.30 – 19.30 น. ส่วนวันพฤหัสบดี เวลา 07.30 – 18.30 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) จัดเก็บในราคา 2 – 5 ยูโรต่อวัน (76.42 – 191.05 บาท) ขึ้นอยู่กับประเภทรถ สามารถชำระเงินได้ผ่านตู้ชำระเงินบริเวณที่จอดรถ เครื่องเอทีเอ็ม แอปพลิเคชัน และระบบออนไลน์ โดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว พบว่า การจราจรติดขัดลดลง 34% ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศที่ดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด พบว่า มีปริมาณผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าก่อนเริ่มใช้มาตรการนั้น ประชาชนจะตั้งข้อสังเกตในหลายกรณี แต่เมื่อหลังเริ่มใช้แล้วพบว่าประชาชนให้การสนับสนุนและให้การยอมรับ

นายกฤชนนท์ กล่าวอีกว่า ในผลการศึกษาฯ ยังระบุอีกว่าก่อนที่จะเริ่มใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดของทั้ง 4 ประเทศดังกล่าวข้างต้นนั้น มีประชาชนไม่เห็นด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ภายหลังจากเริ่มแล้วกลับมาให้การยอมรับและเห็นด้วยอย่างมาก เช่น สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ก่อนเริ่มมาตรการฯ ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับ 21% และภายหลังเริ่มมาตรการให้การยอมรับเพิ่มเป็น 67% ขณะที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนเริ่มมาตรการฯ ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับ 39% และภายหลังเริ่มมาตรการให้การยอมรับเพิ่มเป็น 54% อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการอย่างละเอียด รอบคอบ เป็นธรรม และพร้อมรับฟังทุกเสียงของพี่น้องประชาชนอย่างเท่าเทียมแน่นอน

ล่าสุดในปี 2567 สนข. อยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนในการศึกษา Congestion Charge โครงการของ UK PACT โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดนโยบายเพื่อใช้กำหนดรูปแบบ วิธีการ และค่าธรรมเนียม ในการนำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาในเขตพื้นที่ที่มีการติดขัดของการจราจรสูง โดยจะต้องศึกษามาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในพื้นที่ที่มีการพัฒนาระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้า รถขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม และมีความสะดวกในการใช้งานแล้ว โดยระยะเวลาดำเนินโครงการศึกษาคาดเห็นความชัดเจนในปี 2568

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่