“วราวุธ” รมว.พม. ขึ้นเวที UN เปิดประชุม รมต.ภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ทบทวนความก้าวหน้า ความท้าทาย ตามปฏิญญาปักกิ่ง พร้อมขอบคุณทุกองค์กร ช่วยขับเคลื่อนพลังสตรี
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกเพื่อการทบทวนความก้าวหน้าและความท้าทาย ในการปฏิบัติตามปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี (Asia-Pacific Ministerial conference on the Beijing+30 Review) โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะผู้บริหารกระทรวง พม. เข้าร่วม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
นายวราวุธ กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ขอต้อนรับทุกท่านสู่การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อทบทวนปักกิ่ง +30 (Asia – Pacific Ministerial Conference on the Beijing +30 Review) ที่จัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร และขอแสดงความขอบคุณต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN-ESCAP) และสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ UN Women สำหรับความพยายามร่วมกัน ในการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีในครั้งนี้ เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญในการก้าวไปสู่การบรรลุพันธกรณีภายใต้วาระสำคัญที่ว่า “สิทธิมนุษยชนคือสิทธิสตรี…และสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของปฏิญญาและแผนปฏิบัติการกรุงปักกิ่ง (BPfA)
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2568 เราจะได้เฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 30 ปีของการประชุมระดับโลกครั้งที่ 4 เกี่ยวกับสตรีและการรับรอง BPfA ซึ่งหลายประเทศได้พยายามส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เสริมพลังให้สตรี และสร้างหลักประกันว่าสิทธิของสตรีและเด็กหญิง ยังคงเป็นหัวใจสำคัญลำดับแรกในการพัฒนา เราต่างเรียกร้องความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน และเรายินดีที่ได้เห็นความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ด้าน แม้จะมีความคืบหน้าที่น่าชื่นชม แต่สังคมโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ อาทิ ความรุนแรงทางเพศและการเลือกปฏิบัติ ยังคงเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้า นอกจากนี้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล ความผันผวนทางเศรษฐกิจ โรคระบาด และวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่อื่น ๆ ได้ทำให้ช่องโหว่ทวีความรุนแรงขึ้นและความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 ว่าด้วยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศลดลง นั่นคือเหตุผลที่ความพยายามของเราในการบรรลุหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในปฏิญญาปักกิ่งยังคงมีความสำคัญ การเพิ่มการลงทุน ความมุ่งมั่นทางการเมือง และการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
นายวราวุธ กล่าวต่ออีกว่า การเพิ่มความพยายามของเราในวาระนี้เป็นสิ่งจำเป็น ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เห็นว่าเพื่อเร่งดำเนินการในประเด็นดังกล่าว ผู้ชายและเด็กชายควรมีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในฐานะพันธมิตร ตัวแทนแห่งการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนผู้ได้รับประโยชน์จากความเท่าเทียมทางเพศ การบรรลุความเท่าเทียมทางเพศต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและการมุ่งมั่นอย่างแข็งขันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในการทำงานร่วมกัน เพื่อทลายอุปสรรคในระบบและส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน ทั้งนี้ ประเทศไทย เรายังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง เด็กผู้หญิง LGBTQI+ และบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เรากำลังสร้างการเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์ในความเท่าเทียมทางเพศโดยการออกกฎหมายสำคัญฉบับหนึ่ง คือ “กฎหมายความเท่าเทียมในการสมรส” ซึ่งปกป้องสิทธิมนุษยชนสากลในการสร้างครอบครัว กฎหมายฉบับนี้ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่ 3 ในเอเชีย และประเทศที่ 37 ของโลกที่บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 22 มกราคม 2568 ไม่เพียงแต่ทำให้การแต่งงานถูกกฎหมายเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่าความรักอยู่เหนือขอบเขต กฎหมายฉบับนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกฎหมายครอบครัวของประเทศไทย
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราเหลือเวลาอีกไม่ถึง 4 เดือนก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี สมัยที่ 69 ซึ่งจะมีการเปิดเผยถึงความสำเร็จและความท้าทายในการดำเนินการตาม BPfA และคาดว่าในที่สุดพันธกรณีทางการเมืองในความเท่าเทียมทางเพศจะเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น ตนหวังว่าการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งนี้ จะเป็นโอกาสพิเศษสำหรับเราทุกคนในการสร้างฉันทามติในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อเร่งดำเนินการตามพันธกรณีที่ให้ไว้ ใน BPfA ซึ่งจะต้องนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของภูมิภาคในการประชุมครั้งที่ 69 ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีในปี 2568 และประเทศไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิก ESCAP ประเทศสมาชิกสมทบ ตลอดจน CSO และองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาหลักการของปฏิญญาปักกิ่ง โดยมั่นใจว่าเราจะไม่หลงทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 5 ว่าด้วยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ