หน้าแรก Thai PBS “ทักษิณ” ช่วย พท.ชนะที่อุดรฯ ค่ายสีน้ำเงินเหมาอีก 2 จว. “คู่แข่ง”ตัวจริงชิง “ท้องถิ่น-สส.”

“ทักษิณ” ช่วย พท.ชนะที่อุดรฯ ค่ายสีน้ำเงินเหมาอีก 2 จว. “คู่แข่ง”ตัวจริงชิง “ท้องถิ่น-สส.”

5
0
“ทักษิณ”-ช่วย-พทชนะที่อุดรฯ-ค่ายสีน้ำเงินเหมาอีก-2-จว-“คู่แข่ง”ตัวจริงชิง-“ท้องถิ่น-สส.”
“ทักษิณ” ช่วย พท.ชนะที่อุดรฯ ค่ายสีน้ำเงินเหมาอีก 2 จว. “คู่แข่ง”ตัวจริงชิง “ท้องถิ่น-สส.”

เพราะงานนี้ทุ่มสุดตัว เอาตัวเองเป็นเดิมพัน ด้วยการลงพื้นที่ไปปราศรัยหาเสียงถึง 2 วัน 3 เวที เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่กลับประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2566 และไม่เคยขึ้นเวทีไปช่วยใครมานาน 17-18 ปีแล้ว

นับเป็นชัยชนะ 2 ครั้งติดๆ กัน ของนายทักษิณ หลังจากก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของนายธีรยุทธ์ สุวรรณเกสร เรื่องนายทักษิณและพรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิเสรีภาพกระทำการเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมการเรียงหน้าประกาศเอาคืนนายธีรยุทธ์ ฐานร้องเท็จและหมิ่นประมาทของแกนนำในพรรคเพื่อไทยหลายคน

สะท้อนให้เห็นถึงช่วงจังหวะเวลาขาขึ้นทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความฮึกเหิมทั้งนายทักษิณ และรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ

เห็นได้จากนายทักษิณประกาศในการหาเสียงที่อุดรฯ ว่า รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว จะอยู่ครบเทอมแน่นอน และการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ รวมทั้งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะทำให้พรรคเพื่อไทย ได้ สส.เข้าสภาฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า 200 คน

แต่จะเป็นจริงเช่นนั้นได้ ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหลายด้าน รวมทั้งกลยุทธ์ในการรับมือคู่แข่งในสนามเลือกตั้ง ที่อาจไม่ง่ายนักสำหรับพรรคเพื่อไทย เพราะด้านหนึ่งขึ้นอยู่กับความร้อนแรงในความนิยมของพรรคประชาชน ที่มีฐานมวลชนคนรุ่นใหม่ สนับสนุนนโยบายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายด้าน ซึ่งได้แสดงศักยภาพให้เห็นชัดเจนมาแล้ว ในการเลือกตั้ง สส.ปี 2566 ที่เอาชนะได้แม้แต่พรรคเพื่อไทย

และในทางปฏิบัติ การเลือกตั้งท้องถิ่นต่างจากการเลือกตั้ง สส. เพราะคู่แข่งในสนามมีน้อย ผลจาก “บ้านใหญ่” จับมือกันเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อสกัดคู่แข่งที่จะเข้ามาแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ เรื่องเงินงบประมาณที่มีมหาศาล และมีการแบ่งปันผลประโยชน์รวมทั้งตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงตัว

แต่การเลือกตั้งสส. “บ้านใหญ่” แต่ละหลัง จะต่างคนต่างสู้ศึกเลือกตั้ง เพราะเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี และมีคอนเนคชั่นกับพรรคการเมืองและบิ๊กการเมืองในส่วนกลาง ที่ต้องมีการเจรจาเสนอหรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างตอบแทน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “บ้านใหญ่” แตกกระจายต่างคนต่างลงสู้ศึก ทำให้ต้องพ่ายแพ้ให้กับค่ายสีส้ม

ไม่เพียงแค่พรรคประชาชน พรรคเพื่อไทยต้องเจอคู่แข่งสำคัญในสนามเลือกตั้ง ที่เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ “บ้านใหญ่” อย่างพรรคภูมิใจไทย ที่กูรูทางการเมืองต่างยอมรับว่า “สุดยอด” แม้พรรคจะไม่ใช่พรรคยอดนิยมของประชาชน เมื่อดูจากผลสำรวจของโพลสำนักต่าง ๆ แต่สำหรับนักการเมืองแล้ว พรรคภูมิใจไทย กลับเป็นตัวเลือกในอันดับต้นๆ ของนักการเมืองเสมอ

แม้แต่การเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ผ่านมา ในหลายจังหวัด ส่วนใหญ่ผู้สมัครที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคภูมิใจไทย จะเป็นฝ่ายเข้าเส้นชัย แม้จะไม่ได้ลงสมัครในนามของพรรค และแกนนำของพรรค แม้แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ไม่ต้องไปช่วยหาเสียง ในฐานะเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ต้องวางตัวเป็นกลาง แต่กลับชนะเป็นว่าเล่น แม้แต่เลือกตั้งนายก อบจ.ล่าสุด 4 จังหวัด

2 ใน 4 จังหวัดนี้ เป็นของคนในเครือข่ายค่ายสีน้ำเงิน ไม่ว่าจะเป็นนายก อบจ.นครศรีธรรมราช น.ส.วาริน ชิณวงศ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัด ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย แต่สมัครในนามกลุ่มนครเข้มแข็ง เอาชนะ “แชมป์เก่า” จากตระกูลเดชเดโช ของนายชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้อย่างเด็ดขาด

แม้จะเป็นคนหน้าใหม่ ถือเป็นการปิดฉาก “บ้านใหญ่” ในเครือข่ายพรรคประชาธิปัตย์ ที่ในอดีตหลายตระกูลใหญ่ หมุนเวียนนั่งเก้าอี้นายก อบจ.อย่างต่อเนื่อง แต่ต่อนี้ไปไม่ใช่อีกแล้ว

เช่นเดียวกับนางธัญพร มุ่งเจริญพร อดีตประธานสภา อบจ.สุรินทร์ น้องสะใภ้ สามารถล้ม “แชมป์เก่า” พี่ชายสามี อย่างนายพรชัย มุ่งเจริญพร อดีตนายก อบจ.สุรินทร์ ในการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 23 พ.ย.2567 นางธัญพร เป็นภรรยาของนายปกรณ์ มุ่งเจริญพร สส.สุรินทร์ หลายสมัย พรรคภูมิใจไทย ที่สำคัญคือผู้ชนะทั้ง 2 คน สามารถล้มแชมป์เก่าได้ทั้งคู่

พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย แม้จะเป็นพรรคร่มรัฐบาล และที่ผ่านมา แสดงความเป็นมิตรที่ดีต่อกันในหลายเรื่อง แต่ก็มีหลายเรื่องที่จุดยืนต่างกัน และจะเป็นคู่แข่งกันในที เพราะในทางการเมืองแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เรื่องการแข่งขันแย่งชิงเพื่อความเป็นหนึ่ง ซึ่งหมายถึงแคนดิเดทนายกฯ ของพรรค จะได้ขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นตำแหน่งที่จะแบ่งปันให้พรรคอื่นไม่ได้

แต่ก่อนถึงเลือกตั้งใหญ่ 2 พรรคนี้ ต้องเจอกันก่อนในสนามเลือกตั้งนายก อบจ. และส.อบจ.ที่เหลืออยู่ ในวันที่ 1 ก.พ.ปีหน้า แต่ก่อนถึงวันนั้น ยังจะมีศึกชิงนายก อบจ. ก่อนสิ้นปี 2567 หลายจังหวัด รวมทั้ง จ.อุบลราชธานี 22 ธ.ค.2567 ที่ส่อเค้าจะเข้มข้นดุเดือดที่สุด เพราะ 3 ค่ายใหญ่จะเจอกันในสนามเลือกตั้ง ทั้งพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย และพรรคประชาชน ถือเป็นสนามแรกที่ชื่อชั้นผู้สมัครและพรรคให้การสนับสนุน พอฟัดพอเหวี่ยงกัน

นายกานต์ กัลป์ตินันท์ อดีตนายก อบจ.อุบลฯ น้องชายนายเกรียง กัลป์ตินันท์ อดีตรมช.มหาดไทย บ้านใหญ่ปัจจุบัน จากพรรคเพื่อไทย โดยมีคู่ชิงอย่างนายสิทธิพล เลาหะวนิช อดีตรองนายกฯ ในนามพรรคประชาชน และ “ม้ามืด” มาแรง อย่างนางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล เจ้าแม่โรงแป้งมัน ที่ให้การสนับสนุนโดยพรรคไทรวมพลัง แม้จะลงสมัครในนามอิสระ แต่มีข่าววงในว่า ค่ายใหญ่สีน้ำเงินให้การสนับสนุนด้วย

คำถามสำคัญ คือพรรคเพื่อไทย จะวางกลยุทธ์อย่างไรในศึกเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ เพราะด้านหนึ่งต้องช่วยตระกูลกัลป์ตินันท์ รักษาแชมป์ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์กับ “กำนันป้อ” นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล หนึ่งในบ้านใหญ่ จ.นครราชสีมา ที่ถือเป็นหนึ่งในคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยด้วย และยังมี สส.ในสังกัดไม่น้อยกว่า 6-7 คนเฉพาะใน จ.นครราชสีมา และเมื่อครั้งนายทักษิณ ไปพบปะมวลชนเสื้อแดงที่โคราชข เมื่อเดือนพ.ค.2567 ได้กล่าวยกย่องชมเชย “เสี่ยป้อ” ไม่ได้ขาด มิหนำซ้ำให้นั่งประกบข้างตลอดเวลา

จะช่วยหรือวางเฉย หรือจะต้องให้นายทักษิณ ไปปราศรัยช่วยเหมือนกรณีผู้สมัครนายกฯอบจ.ที่อุดรธานีหรือไม่ น่าจะขึ้นอยู่กับตัดสินใจของนายทักษิณเป็นสำคัญ

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่