วันนี้ (19 ม.ค.2566) น.ส.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต รมช.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายการเพิ่มวงเงินในบัตรประชารัฐเป็น 700 บาทต่อเดือน ของพรรคพลังประชารัฐว่า
ในปี 2566 จะมีประชาชนได้รับสิทธิประมาณ 18 ล้านคน คนละ 700 บาทต่อเดือน จะต้องใช้งบประมาณเดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือ ปีละ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งงบประมาณดังกล่าวมีการคำนวณแหล่งที่มาของงบประมาณมาจากที่ใดแล้ว
ในส่วนของบัตรประชารัฐที่เราได้ทำมาตั้งแต่ปี 61 ไม่ใช่มีแค่เงินรายเดือน 200 หรือ 300 บาทเท่านั้น แต่ยังมีสวัสดิการอื่น ๆ อีก อย่างเช่น ค่าแก๊สหุงต้ม ค่าเดินทาง จิปาถะ เราพยายามจัดการสิ่งเหล่านี้ให้สอดคล้อง กับความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ บางคนได้ไปก็ไม่ได้ใช้ ค่าเดินทางไม่ได้ใช้ แก๊สหุงต้มไม่ได้ใช้
น.ส.นฤมลกล่าวต่อว่า เมื่อปี 2561 ตนเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ดูแลรับผิดชอบสวัสดิการแห่งรัฐ ในช่วงนั้นอยากจะให้พี่น้องประชาชน ผู้ที่มีรายได้น้อย สามารถที่จะมีเงินประทังชีวิตต่อเดือน สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน เขาสามารถไปซื้อ ข้าวสาร น้ำปลา อาหารแห้ง ได้ในต่างจังหวัดอยู่ได้โดยไม่ลำบาก
แต่ปัจจุบันสภาวะ ทางเศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับสภาวะเงินเฟ้อ ไม่ต่างกับประเทศไทย สินค้ามีราคาที่สูงขึ้นมาก ดังนั้นเงิน 200-300 บาทต่อเดือน ก็ไม่เพียงพอ เสียงสะท้อนก็ออกมาจากผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ที่ลงพื้นที่ไปพบปะกับประชาชนต่างก็บอกเงินไม่พอแล้ว
พรรคพลังประชารัฐให้ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ต้องปรับให้สอดคล้องกับสภาวะกับทางเศรษฐกิจและปัจจุบัน ให้สู้กับสภาวะเงินเฟ้อได้ และจริงๆในนโยบาย ทั้งหมดไม่ใช่มี แค่ 700 บาท เรายังคงมุ่งหน้าทำการแก้ปัญหา ความยากจนอย่างยั่งยืน หมายความว่าต้องมีการฝึกอบรมให้ 700 บาทเป็นการให้ปลาไปเฉย ๆ จะต้องมีการ ให้เบ็ดเขาด้วย แล้วก็สอนวิธีตกปลา
สำหรับประเทศไทย ถ้าเราจะพึ่งเพียงงบประมาณอย่างเดียว ประเทศไทยก็คงจะเดิน ไปข้างหน้าได้อย่างช้า เราจึงต้องคิดออกนอกกรอบ งบประมาณรัฐบาลด้วย
ในหลายประเทศใช้ศักยภาพตลาดทุน คือ กองทุนเพื่อสังคม ที่ระบุจัดเจนว่าจะช่วยเหลือกลุ่มใดจากนั้นจึงระดมทุน เช่น กองทุนพัฒนาชีวิตผู้พิการ กองทุนที่จะช่วยแม่เลี้ยงเดี่ยว กองทุนผู้ที่ติดคุกมีงานทำ กองทุนที่จะช่วยเกษตรไทย เพื่อเป็นกองทุนลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในเศรษฐกิจระดมทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
น.ส.นฤมล กล่าวว่า สิ่งที่ภาครัฐทำได้ ก็คือ การจัดโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสม เช่น ถ้ามีการซื้อหน่วยลงทุนก็มาหักภาษีได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะไปช่วยเกษตรกร บริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นมาก็สามารถที่จะเข้าไปดูแลเกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำว่าเขาปลูกพืชชนิดใด ใช้ต้นทุนเท่าไร
คุณต้องไปทำอย่างไร ให้เขาลดต้นทุน สินค้าที่ได้มา ไปที่ไหน ตลาดที่เรารับคืออะไร แปรรูปแล้วราคาเท่าไร พอเป็นรูปธรรมอย่างนี้ ตัวช่วยต่อไปที่ต้องทำ คือ เชื่อมกับภาคเอกชน เพื่อที่จะหาแหล่งตลาด ทำให้เกิดรายได้กับเกษตรกร ซึ่งรายได้นี้จะต้องคืนผลตอบแทนกลับมาให้ นักลงทุนที่เป็นเจ้าของเงินที่ซื้อหน่วยลงทุน
ทั้งนี้ น.ส.นฤมล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนี้พรรคพลังประชารัฐจะมีการแถลงนโยบายออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งคาดว่านโยบายต่อไปที่น่าจะมีการประกาศก็คือ นโยบายที่ดินประชารัฐ