วันนี้ (วันที่ 15 ก.พ.2566) เวลา 18.45 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกฯ ชี้แจงกรณีกล่าวหารัฐบาลพัฒนาประเทศ 8 ปี ศูนย์เปล่า ติดหล่ม ไม่ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง โดยมีสาเหตุจากที่ผ่านมาเกิดความขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้ง นโยบายเดินหน้าไม่ได้ การลงทุนและแผนพัฒนาต่าง ๆ หยุดชะงัก นักลงทุนต่างชาติไม่เชื่อมั่นในเสถียรภาพ รวมถึงการไม่มียุทธศาสตร์ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ
ในอดีตก่อนปี 2557 มีลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตก ทำได้เพียงกระจายงบประมาณย่อยไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยไม่มีความเชื่อมโยงกัน จึงไม่เกิดพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เช่น แผนแม่บทรถไฟฟ้าของสำนักงานคณะกรรมการขนส่ง ทำเสร็จตั้งแต่ปี 2547 แต่ไม่มีรัฐบาลไหนเอาไปทำ หรือทำก็ไม่สำเร็จ และระบบขนส่งทางราง ช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังคงเป็นทางเดี่ยว มีทางคู่ไม่กี่ร้อยกิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พลิกโฉมใหม่ โดยช่วงปี 2558 – 2562 มีการลงทุนจริงในโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการลงทุนของภาครัฐ ถึงร้อยละ 7.9 ต่อปี เช่น สร้างมอเตอร์เวย์เพิ่ม 3 เส้นทาง ได้แก่ สายบางปะอิน-โคราช สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายพัทยา-มาบตาพุด เส้นทางราง
ในปี 2557 มีระยะทาง 4,073 กิโลเมตร ครอบคลุม 47 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นทางเดี่ยว มีทางคู่-ทางสาม 357 กิโลเมตร ปัจจุบันมีแผนสร้างเพิ่ม ระยะเวลา 20 ปี จะมีระยะทาง 8,900 กิโลเมตร ครอบคลุม 62 จังหวัด เป็นทางคู่-ทางสาม 5,640 กิโลเมตร และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569
นอกจากนี้ มีรถไฟความเร็วสูง Hi-Speed Train 4 เส้นทาง (1) สายอีสาน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-หนองคายกว่า 500 กิโลเมตร (2) สายตะวันออก รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เชื่อมกรุงเทพฯ – EEC และในอนาคตอีก ได้แก่ (3) สายเหนือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และ (4) สายใต้ กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ รัฐบาลดำเนินการภายในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเป็นทางคู่-ทางสาม ได้เป็นระยะทางที่มากกว่าระยะทางทั้งหมดที่สร้างมาในช่วง 50 ปีก่อน และภายใน 2 ปีข้างหน้า (ปี 2567) ประเทศไทยจะมีรางรถไฟ พร้อมใช้งานมากกว่าเดิม 4 เท่า จาก 50 ปี ก่อนหน้านี้
สำหรับการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนปี 2557 มี 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 147.8 กิโลเมตร ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ก็ทยอยสร้างเพิ่มและเปิดบริการแล้ว 11 เส้นทาง ระยะทางรวม 212 กิโลเมตร และมีแผนที่จะก่อสร้างเพิ่มจนครบ 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร เฉลี่ยรัฐบาลวาระ 4 ปีที่ผ่านมา สร้างรถไฟฟ้าได้ 1-2 สาย หรือระยะทางสูงสุด 46 กิโลเมตร ซึ่งรัฐบาลนี้ ถือว่า 2 สมัย คือ 8 ปี สร้างได้ 10 สาย 200 กว่ากิโลเมตร ถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ย 2.5 เท่า โดยมี 2 สายที่จะเปิดใช้ในปี 2566 นี้ เป็น Monorail สายสีชมพูกับสีเหลือง
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความน่าเชื่อถือของรัฐบาลต่อต่างประเทศ ประเทศไทยได้อันดับ 8 ของโลก ระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก ประเทศไทยป้องกันประชาชนให้ปลอดภัย ติดเชื้อโควิดน้อย เปรียบเทียบกับประเทศที่เป็นผู้ผลิตวัคซีน และยารักษาโรคโควิด-19 โดยประเทศไทยติดเชื้อ 0.3% ของประชากรเปรียบเทียบกับ 7% และ 10% ของประเทศที่ผลิตวัคซีน
นอกจากนี้ ประเทศไทยได้รับรางวัลอีกมากมาย เช่น รางวัลความง่ายในการติดต่อทำธุรกิจ รางวัลการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย รางวัลประเทศที่น่ามาทำงานและท่องเที่ยว workation รางวัลกรุงเทพเมืองน่าอยู่ รางวัลประเทศที่อยากมาใช้ชีวิตหลังเกษียณลำดับต้น ๆ ของโลก รางวัลอันดับ 7 ของโลก ประเทศที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึง “ซอฟท์ พาวเวอร์” รางวัลอันดับ 5 ของโลก
ประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ รางวัลอินเตอร์เน็ตบ้านที่มีความเร็วที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก รางวัลอันดับ 1 ของโลก ประเทศที่ทุกข์ทรมานน้อยที่สุด เป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดลำดับต้น ๆ ของโลก รางวัลเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่เป็นมิตรในการท่องเที่ยวมากที่สุดอันดับ 5 ของโลก รางวัลอันดับที่ 26 ประเทศที่มีประสิทธิภาพที่สุดของโลก และรางวัลอันดับที่ 7 ของโลก ประเทศที่มีทางเลือกในที่อยู่อาศัยคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยว
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยไม่ได้ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ ยังมีตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ เช่น รางวัลรัฐมนตรีคลังแห่งปี ซึ่งเหตุผลในการมอบรางวัลมาจากเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ หนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าประเทศไทย (อิตาลี ญี่ปุ่น เป็นต้น) พันธบัตรรัฐบาลมีความมั่นคง สร้างความมั่นใจในการลงทุน ความสามารถในการชำระหนี้ดี ค่าเงินเข้มแข็ง ส่วนที่บอกว่าการลงทุนจากต่างประเทศ “ลดลง” นั้น เป็นการกล่าวถึงการลงทุนที่ไม่รวมการขยายกิจการที่มีอยู่เดิม แต่การพิจารณาต้องดูทั้งการลงทุนใหม่และการลงทุนส่วนขยาย
ซึ่งประเทศไทยจะมีทั้งการลงทุนรายเก่าและรายใหม่ เพราะเป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิตของต่างชาติมานานกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน ซึ่งหากรวมมูลค่าการลงทุนทั้งรายเก่าและใหม่แล้ว มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ ได้เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จาก 97,582 ล้านบาทเป็น 433,971 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 31% ต่อปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“พล.อ.ประยุทธ์” ท้ายื่นตรวจสอบปมอภิปรายญาติเอี่ยวทุจริต
“ชลน่าน” เปิดอภิปราย ชี้รัฐบาลไม่ทำตาม 12 นโยบายเร่งด่วน
“พิธา” ชี้ 1 ทศวรรษรัฐบาล “ประยุทธ์” สูญเสียงบฯ-เวลา-โอกาส
“มงคลกิตติ์” ก้มกราบกลางสภาขอลาออกส.ส. 17 ก.พ.นี้
“สุทิน” จี้นายกฯ ตอบ 8 ปี รัฐตั้งเงื่อนไขสกัด “โรงไฟฟ้าชุมชน”