วันนี้ (7 มีนาคม 2566) ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบเรื่องขอเพิ่มค่าป่วยการ อสม.เป็น 2,000 บาท และเพิ่มจำนวน อสม.ที่มีสิทธิรับค่าป่วยการ ในการตั้งคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567
โดยเป็น อสม. 1,075,163 คน อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) 15,000 คน รวม 1,090,163 คน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เนื่องจากเห็นความสำคัญของ อสม.ในการดูแลสุขภาพประชาชนไทย
ซึ่งที่ผ่านมา อสม.ได้รับค่าป่วยการ 1,000 บาท/เดือน แม้ช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ตนจะเสนอให้นายกฯ ของบกลางเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษเดือนละ 500 บาท ตั้งแต่เดือนมี.ค.2563-ก.ย.2565 เพื่อช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ อสม.ต้องออกมาดูแลในสถานการณ์โควิด-19 มีความเสี่ยงติดเชื้อและประสบอุบัติเหตุ แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น มีการยกเลิก ศบค.และผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลง ได้ยุติการให้ค่าตอบแทนพิเศษ อสม.จึงได้รับค่าป่วยการ 1,000 บาทตามเดิม
อสม. ถือเป็นรากฐานของระบบสาธารณสุขไทยที่แข็งแกร่ง องค์การอนามัยโลกยกย่องว่าเป็นกลไกสำคัญที่ร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขบริหารจัดการควบคุมโรคระบาด เป็นกลุ่มมวลชนที่อาสามาบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมที่ประเทศอื่นไม่มี
ซึ่งขณะนี้ อสม.มีภารกิจในการดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขดำเนินนโยบาย “3 หมอ” ให้ประชาชนคนไทย 1 คน มีหมอประจำตัว 3 คน
และหมอคนแรกคือ อสม. ทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนในการใส่ใจสุขภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี คัดกรองสุขภาพและเก็บข้อมูลผู้สูงอายุ ติดตามประสานงาน เยี่ยมบ้าน เคาะประตูดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ประสานงานกับแพทย์ พยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ปฐมพยาบาล หรือส่งต่อ นอกจากนี้ ยังช่วยเฝ้าระวังสอดส่องเรื่องยาเสพติดในชุมชน หมู่บ้าน และประสานแจ้งเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงอันตราย
อสม.เป็นมวลชนสุขภาพที่มีความตั้งใจ เสียสละทำงานให้รัฐโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีความจงรักภักดีเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ มีความปรารถนาดีต่อประชาชนเพื่อนร่วมชาติ เป็นแกนหลักสร้างความสามัคคีปรองดอง การเพิ่มค่าป่วยการเป็น 2,000 บาท โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 (1 ต.ค.2566)
ส่วนหนึ่งจะช่วยให้ อสม.สามารถจับจ่ายใช้สอย มีเม็ดเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจชุมชน และยังมีเงินสะสมเข้ากองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ (ฌกส.) ทำให้ทายาทของ อสม.ที่เสียชีวิตได้รับเงินจากกองทุนเกือบ 500,000 บาท/ราย ถือเป็นการตอบแทนความเสียสละของ อสม. ที่ทำให้ประชาชนมีหมอคนแรกคอยดูแลในชุมชน
หากเฉลี่ย อสม. 1 คนดูแลประชาชน 30 คน เรามี อสม. กว่า 1 ล้านคน เท่ากับใช้เงิน 65 บาท/วัน หรือประมาณ 2 บาท/คน/วัน ในการมีเครือข่ายสุขภาพไปดูแลประชาชนทั้งประเทศ