หน้าแรก Voice TV 'เศรษฐา ทวีสิน' กับภารกิจสำคัญ ‘นายกรัฐมนตรี’ เพื่อการเปลี่ยนแปลง

'เศรษฐา ทวีสิน' กับภารกิจสำคัญ ‘นายกรัฐมนตรี’ เพื่อการเปลี่ยนแปลง

78
0
'เศรษฐา ทวีสิน' กับภารกิจสำคัญ ‘นายกรัฐมนตรี’ เพื่อการเปลี่ยนแปลง

‘เศรษฐา ทวีสิน’ กับภารกิจสำคัญ ‘นายกรัฐมนตรี’ เพื่อการเปลี่ยนแปลง และนี่คือ ‘CEO สาย Call Out’ ที่กำลังผันตัวสู่บทบาทใหม่ภายใต้ร่มเงา ‘พรรคเพื่อไทย

เหลือเวลาเพียง 29 วันเท่านั้น สำหรับการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ 14 พ.ค.2566 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญยิ่ง หลายฝ่ายต่างมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการสร้าง ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ระยะสั้นคือการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล และระยะยาว หลายคนมองว่ามันจะเป็นการเปลี่ยนซึ่ง ‘ภูมิทัศน์ทางการเมือง’ ทั้งในเชิงระดับชาติ และในระดับพื้นที่ 

หากเจาะมาที่ตัว ‘แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี’ ของแต่ละพรรคในการเลือกตั้งรอบนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีเพียงไม่กี่พรรคที่น่าสนใจและน่าจับตามองถึงความเป็นไปได้ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และแน่นอนว่าหนีไม่พ้น ‘พรรคเพื่อไทย’ โดยในรอบนี้ เขาส่งแคนดิเดตทั้งหมด 3 รายชื่อ ประกอบด้วย

3 แคนดิเดต ‘เพื่อไทย’ 3 สไตล์ เพื่อจุดหมาย ‘แลนด์สไลด์’ 

IMG_0072.jpeg

– คนแรก ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ตำแหน่งปัจจุบันคือ ‘หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย’ และ ‘ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย’ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘DNA พี่โทนี่’ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งคน ที่อยู่ใกล้ชิด ‘ดร.ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ในทั้งยามสุข ยามทุกข์ จึงได้รับการถ่ายทอดและซึมซับ ในช่วงชีวิตสำคัญของ ‘อดีตนายกรัฐมนตรี’ ที่มีคะแนนนิยมสูงสุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งหลายคนก็มองว่า พัฒนาการการทำงานทากงารเมืองของเธอนั้น อยู่ในระดับ ‘ดีวันดีคืน’ ถือว่ามาไกลอย่างยิ่ง หากมองจากวันแรกที่เธอเปิดตัวเมื่อ 28 ต.ค. 2564 ที่วันประชุมใหญ่สามัญประจำของพรรค ที่ จ.ขอนแก่นก่อนหน้านี้ แพทองธาร เป็นนักธุรกิจ เคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจโรงแรมและสนามกอล์ฟบริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ อาทิ โรงแรม เทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่, สนามกอล์ฟอัลไพน์, โรงแรมเอสซีปาร์ค เป็นต้น 

– คนถัดมา ‘ชัยเกษม นิติสิริ’ มือกฎหมายชั้นครู อดีตอัยการสูงสุด และ อดีตประธาน ก.ล.ต. หลังเกษียณอายุราชการเข้าสู่เส้นทางทางการเมือง ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่มีการรัฐประหาร ‘ชัยเกษม’ ในวันที่ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รักษาการณ์) คือบุคคลที่ยืนยันกับ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติว่า “รัฐบาล(รักษาการ)จะไม่ลาออก เพราะเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ” 

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจทำรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค.2557 ชัยเกษม เป็นแคนดิเตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 และการเลือกตั้งครั้งนี้ คือครั้งที่ 2 ของเขา แหน่งปัจจุบันในพรรค คือ ‘ประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย’ และ ‘ประธานคณะกรรมการด้านประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม และความเสมอภาคเท่าเทียม’

– คนสุดท้าย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ชื่อนี้ไม่ต้องอธิบายพื้นหลังมากนัก เพราะเขาคือนักธุรกิจระดับ CEO ประสบความสำเร็จจากการนำทัพ ‘เครือแสนสิริ’ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ารวมนับแสนล้าน ชื่อของ ‘เศรษฐา’ ปรากฎมาเป็นระยะๆ ผ่านการรายงานข่าวของสื่อมวลชน หลังการปรับโครงสร้างพรรคเพื่อไทยปลายปี 2563 เป็นอีกหนึ่งรายชื่อที่ถูกจับตามองว่าจะมาเป็น “ผู้นำทางการเมือง” ในอนาคตภายใต้ร่ม’พรรคเพื่อไทย’ ด้วย

IMG_0070.jpeg

และนี่คือ ‘CEO สาย Call Out’ 

เศรษฐา ได้ชื่อจากในวงการธุรกิจว่า เป็น ‘CEO สาย Call Out’ เพราะเขามักจะแสดงทัศนะทางการเมืองแบบสาธารณะอยู่เสมอ แตกต่างจากนักธุรกิจทั่วไป ที่มักจะเลือกเก็บความเห็นทางการเมืองของตนเองไว้ในสิ้นชัก หรือวงอาหารลับๆเท่านั้น การแสดงทัศนะและจุดยืนทางการเมืองของเขา ถือว่าเป็นที่พูดถึงอยู่เสมอทางหน้าสื่อ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด ซึ่งเขามองว่าในห้วงเวลาดังกล่าว เป็นห้วงเวลาแห่งความทุกข์ของคนไทยที่เกิดจากการบริหารวิกฤตที่ผิดพลาดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดย เศรษฐา เคยเขียนข้อเสนอถึงรัฐบาล ในการจัดการวิกฤตดังกล่าวถึงรัฐบาล ในฐานะนักธุรกิจ แต่ก็ไร้การตอบสนองใดๆอย่างเป็นทางการจากทางรัฐบาล 

ไม่เพียงเท่านั้น เศรษฐา ยังเคยออกจดหมายถึง “ยูนิเซฟ ประเทศไทย” ในนามประธานแสนสิริ เพื่อเรียกร้องให้องค์การยูนิเซฟฯ แถลงการณ์อย่างเป็นทางการเพื่อหยุดยั้งรัฐบาลใช้กำลังในการปราบปรามผู้ชุมนุมที่มีเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจสั่งใช้กำลังสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎร เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 หรือเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา 

ถึงเรื่องการแสดงออกทางการเมืองที่เขามักทำอยู่เสมอนั้น เขาเคยประกาศคำเปิดใจกับเรื่องนี้ไว้ ในวันที่เขาขึ้นรับรางวัล ‘คนเคลื่อนไทย’ จาก ‘CARE คิดเคลื่อนไทย’ ในวันที่ 2 ก.ค. 2565 ว่า 

“ผมไม่ค่อยเห็นนักธุรกิจแนวหน้าของประเทศแสดงความเห็นเรื่องสังคม การเมืองเท่าที่ควร ไม่เหมือนกับเบื้องหลังพอเวลากินข้าวสังสรรค์มักพูดถึง วิจารณ์นโยบายภาครัฐเยอะมาก แต่ที่ไม่พูดส่วนใหญ่มองว่า ‘อยู่เฉยๆดีกว่า พูดไปก็ไม่มีประโยชน์’ ผมคิดว่านักธุรกิจที่มีต้นทุนทางสังคมสูงที่หลายภาคส่วนซึ่งบริหารจัดการประเทศอยู่เกรงใจไม่ออกมาพูดเลย ผมถือว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ควรต้องทำ”

“และการที่อ้างว่าหากพูดไปเดี๋ยวธุรกิจเดือดร้อน ผมขอพูดตรงไปมาว่า ถ้าเป็นธุรกิจสัมปทานก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นธุรกิจไม่ถือสัมปทานกับรัฐ ตนถือว่ามันเป็นหน้าที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้นำองค์กรต้องพูด เสนอแนะ วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ผมอยากให้เพื่อนักธุรกิจเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ช่วยกันแสดงความคิดเห็น เพื่อเคลื่อนไหวสังคมไปในทางที่ดีขึ้น เพราะเสียงของพวกท่าน เป็นเสียงที่สำคัญในการผลักสังคมให้เคลื่อนไปข้างหน้าได้” 

ซึ่ง ‘เศรษฐา’ ได้ยึดถือแนวทางนี้ในการแสดงออกทางการเมืองมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงวันที่ความชัดเจนของ ‘เศรษฐา’ ก็ปรากฎชัด เมื่อเขาเปิดตัวอย่างไม่เป็นทาง ด้วยการเปิดตัวลงพื้นที่กับ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ และ ‘พรรคเพื่อไทย’ ครั้งแรกเมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2566 พร้อมกับเปิดเผยว่าเขาได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย มาระยะหนึ่งแล้ว โดยเขาขอให้การทำงานทางการเมืองของเขานั้น ดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน 

สู่บทบาทใหม่ ‘ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง’ 

1 มี.ค. 2566 คือวันแรกที่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เดินทางเข้าพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะ’ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย’ หลังจากวันนั้น 8 มี.ค. 2566 เขาประกาศลาพักไม่รับเงินทุกตำแหน่งจากแสนสิริ ไม่กี่วันถัดมา เขาโอนหุ้นทั้งหมดที่มี เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับหน้าที่เป็น ‘แคนดิเดตนายกฯ’ ตอกย้ำความชัดเจนอีกครั้งในต้นเดือนเมษายน ที่เขา ‘ลาออก’ จากทุกตำแหน่งเพื่อสานต่อภารกิจ ‘แลนด์สไลด์’ จากแพทองธาร ที่พักจากการหาเสียง เนื่องจากต้องเตรียมคลอดบุตรและเดินหน้าสู่จุดหมายที่เขาตั้งใจ นั่นคือการเป็น ‘ผู้นำทางการเมือง’ 

IMG_0071.jpeg

‘ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง’ เป็นการสื่อสารของเศรษฐาในหลายครั้ง เขามักตอบเสมอเมื่อถูกว่า ‘อยากเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่?’ ซึ่งเขามักจะตอบด้วยท่าทีที่ชัดเจนอยู่เสมอว่า ‘ถ้าอยากเป็นเพราะตำแหน่งนั้นไม่อยาก แต่ถ้าเป็นแล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศได้ นั่นคือความปรารถนา’ โดยเศรษฐาแสดงความปรารถนานี้ผ่านบทสัมภาษณ์ในหลายครั้ง หลังจากที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เพราะเขาเชื่อว่า ตำแหน่งนายรัฐมนตรีเท่านั้น ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาให้กับประเทศ และสามารถดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ได้ 

‘ความ(อยาก)เปลี่ยนแปลง’ ของเขา มิใช่แสดงออกผ่านบทสัมภาษณ์ และการลงพื้นที่ทุกวันไม่มีหยุดแม้แต่วันเดียว ในทุกพื้นทั่วประเทศไทยในช่วง 29 วันที่เหลือของเขาแต่เพียงเท่านั้น แต่แสดงออกผ่าน’เสื้อยืด’ ของเขาที่ใส่ลงพื้นที่

‘I’m Voting because…..’ ที่แปลเป็นว่า ‘เราต้องการเลือกเพราะ….’ บนหน้าอกเสื้อของเขาในวันสงกรานต์ ขณะลงพื้นที่หาเสียง อ.หัวหิน และ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2566 ถูกอธิบายโดยเขาเองว่า ‘ผมจะไปเลือกตั้งเพราะต้องการการเปลี่ยนแปลง’ เดิมทีเสื้อยืดตัวนี้ผลิตโดย The Standard Hotel ที่เขาร่วมบริหาร ทำมาแล้วหลายปี และเขาเลือกเสื้อตัวนี้มาใส่อีกครั้งในวันที่เขาลงพื้นที่หาเสียง เพื่อก้าวสู่ตำแหน่งสำคัญ ‘ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง’ ในอนาคตอันใกล้

เศรษฐา เพื่อไทย ประจวบคีรีขันธ์  IMG_9653.jpegเศรษฐา ประจวบคีรีขันธ์  IMG_9649.jpegเศรษฐา ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อไทย สงกรานต์ IMG_9647.jpeg

และ ‘ความ(อยาก)เปลี่ยนแปลง’ ของเขา ก็แสดงออกผ่านผ่านนโยบาย ‘เรือธง’ ของพรรคเพื่อไทย ที่เขาเป็นผู้นำเสนอ นั่นคือ ‘นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ซึ่งนโยบายดังกล่าว ถูกพูดถึงติดต่อกันมานานเกือบ 2 สัปดาห์ หลังการประกาศตัวเลขเงินดิจิทัล เกิดการถกเถียงอย่างหนักถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น รวมถึง ที่มาของเงินที่จะนำมานำนโยบายนี้ให้ปรากฎเป็นจริง 

ซึ่งเขาได้แสดง ‘ภาวะผู้นำ’ ผ่านการยืนยันเดินหน้านโยบายนี้ต่อไป แม้ถูกกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายตรงข้าทางการเมือง รวมถึงการเดินหน้าไปทุกภูมิภาคของประเทศไทย บางวันเขาลงพื้นที่ถึง 4 จังหวัดภายในวันเดียว ด้วยเหตุผลเพื่ออธิบายนโยบายนี้จนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงน้อยนิดเท่านั้น

แต่เส้นทางสู่ ‘ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง’ ของเศรษฐานั้น ก็มีอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย ทั้งระยะเวลาอันสั้นนับจากนี้ และคู่แข่งต่างพรรคทั้งจากฝ่ายเดียวกันและฝั่งตรงข้ามที่ต่างแข่งขันและฟาดฟันกันอย่างดุเดือด ความเป็นที่รู้จักของประชาชนในวงกว้างต่อตัวเขาที่ยังมีไม่มากพอเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับคู่แข่ง หรือหากนำมาเทียบกับตัวพรรคที่เขาสังกัดอย่าง ‘เพื่อไทย’ ก็ตามที

และ 29 วัน หลังจากนี้ คือบทพิสูจน์สำคัญของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ที่ประกาศวางมือจากถนนสายธุรกิจ ที่เขาประสบความสำเร็จมาทั้งชีวิต สู่บทบาทใหม่ ‘(ว่าที่)นายกรัฐมนตรี เพื่อการเปลี่ยนแปลง’

IMG_0074.jpeg

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่