อะนุสา หลวงสุพม หรือที่รู้จักในชื่อ “แจ็ค” วัย 25 ปี เยาวชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนในลาว ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากถูกบุคคลคนหนึ่งใช้ปืนยิงใส่เขา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ในบาร์ ‘After School Chocolate & Bar’ ในกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว
การสังหารอะนุสานับเป็นการสังหารในลักษณะเดียวกันอีกครั้ง ที่มุ่งเป้าโจมตีไปที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวลาว ซึ่งออกมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ ลาวมีประวัติการกดขี่และกวาดล้างนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการอุ้มหายและสังหารผู้ลี้ภัยและผู้ถูกเนรเทศทางการเมือง
อะนุสาเป็นหนึ่งในผู้ดูแลกลุ่มเฟซบุ๊กแบบปิด “Laos Drama” ซึ่งตั้งขึ้นในเดือน เม.ย. 2563 โดยนักข่าวพลเมือง เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในลาว โดยกลุ่มมีสมาชิกมากกว่า 7,000 คน พร้อมกันนี้ สมาชิกกลุ่มมักโพสต์ข้อความพร้อมใช้แฮชแท็ก #ຖ້າການເມືອງລາວດີ (ถ้าการเมืองลาวดี) ซึ่งแฮชแท็กที่สร้างขึ้นในหมู่สมาชิกของพันธมิตรชานมทั่วเอเชีย
ในเดือน มี.ค. 2565 อะนุสารวมตัวกับนักเคลื่อนไหวอีก 3 คน ได้สร้างเพจเฟซบุ๊ดสาธารณะชื่อ ຂັບເຄື່ອນດ້ວຍຄີບອດ (ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด) เพื่อบอกเล่าความจริงเกี่ยวกับ #WhatsHappeningInLaos และเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริงในประเทศลาว ซึ่งปกครองภายใต้รัฐบาลเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ลาว
กลุ่มเฟซบุ๊กนี้ยังเปิดโปงและประณามกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลาว ตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล และเรียกร้องให้ยุติการปกครองแบบพรรคเดียว ที่ครอบงำการเมืองทุกด้านและจำกัดสิทธิเสรีภาพ ภารกิจของกลุ่มยังเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องให้กำจัดอิทธิพลของจีนที่มีต่อลาว โดยใช้คำขวัญของกลุ่มคือ “สู้เพื่อความอยู่รอดของลาว เราจะไม่ตกเป็นทาสของจีน”
รัฐบาลลาวมีประวัติการละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองผ่านการใช้กฎหมาย การใช้อำนาจควบคุมสื่อ การเฝ้าระวัง และการใช้วิธีการที่ผิดกฎหมาย เพื่อปราบปรามผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่การคุกคาม การจับกุมตามอำเภอใจ การคุมขัง ไปจนถึงการบังคับบุคคลให้สูญหาย และการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ อะนุสาและเพื่อนๆ ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันนี้ ก่อนที่อะนุสาจะถูกยิงจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มูลนิธิมนุษยา องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของลาว เรียกร้องให้ทางการลาวเริ่มการสอบสวนอย่างทันที เป็นอิสระ เป็นกลาง และละเอียดถี่ถ้วน ต่อการเสียชีวิตของอะนุสาจากการสังหารด้วยอาวุธปืน มูลนิธิมนุษยาระบุอีกว่า การสอบสวนควรดำเนินการโดยองค์กรอิสระที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล นอกจากนี้ มูลนิธิมนุษยายังเรียกร้องให้ทางการต้องรับผิดชอบต่อผู้ลงมือ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้กระทำความผิด รวมถึงบุคคลที่บงการจะไม่ลอยนวลและไม่ต้องรับโทษ โดยทางการต้องให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่ครอบครัวของอะนุสาอย่างทันท่วงที ตลอดจนการชดเชยอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ มูลนิธิมนุษยายังเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศให้ความสนใจกับอาชญากรรมนี้ และกดดันรัฐบาลลาวให้ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรัฐบาลลาวให้สัตยาบันไว้ในเดือน ก.ย. 2552