องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุเมื่อวันศุกร์ (5 พ.ค.) ว่า โควิด-19 ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกอีกต่อไปแล้ว
คณะกรรมการกฎอนามัยฉุกเฉินระหว่างประเทศของ WHO หารือเกี่ยวกับการแพร่ระบาดในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (4 พ.ค.) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 15 เกี่ยวกับโควิด-19 และ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการ WHO เห็นพ้องต้องกันว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่เป็นข้อกังวลระหว่างประเทศ หรือ PHEIC นับตั้งแต่หลังการอุบัติขึ้นของโควิด-19 ควรยุติลงแล้วในวันนี้
“เป็นเวลากว่า 1 ปีที่การแพร่ระบาดมีแนวโน้มลดลง” ทีโดรสกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ “แนวโน้มนี้ทำให้ประเทศส่วนใหญ่กลับมามีชีวิตเหมือนที่เราเคยมีมาก่อนโควิด-19 ระบาด” ผู้อำนวยการ WHO กล่าวพร้อมระบุเสริมว่า “เมื่อวานนี้ คณะกรรมการฉุกเฉินได้ประชุมกันเป็นครั้งที่ 15 และแนะนำให้ผมประกาศยุติเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่เป็นข้อกังวลระหว่างประเทศ โดยผมเห็นชอบกับคำแนะนำนั้นแล้ว”
WHO ได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่นานาชาติที่น่ากังวลในเดือน ม.ค. 2563 นับเป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นการแพร่ระบาดใหญ่
PHEIC ช่วยให้เกิดข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อการปฏิบัติตามคำแนะนำของ WHO สำหรับการจัดการเหตุฉุกเฉิน แต่ในทางกลับกัน แต่ละประเทศได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของตัวเอง เพื่อการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นการประกาศที่มีน้ำหนักทางกฎหมาย ทั้งนี้ การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ช่วยให้เกิดการจัดการทรัพยากร และสละกฎข้อบังคับบางอย่าง เพื่อบรรเทาวิกฤตการระบาด
ปัจจุบันนี้ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิคจากโควิด-19 มากที่สุดในโลก ได้มีการกำหนดให้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโควิด-19 สิ้นสุดลงในวันที่ 11 พ.ค.ที่จะถึงนี้
จากข้อมูลของ WHO พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 765 ล้านรายทั่วโลกนับตั้งแต่เริ่มระบาด โดยเกือบ 7 ล้านคนเสียชีวิต ทั้งนี้ ทวีปยุโรปมีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันการติดเชื้อมากที่สุดในโดยรวม แต่สหรัฐฯ มีรายงานผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก โดยประมาณ 1 ใน 6 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นผู้เสียชีวิตจากสหรัฐฯ
จากรายงานพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีพุ่งสูงสุดในเดือน ธ.ค. 2565 เมื่อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษคือพื้นที่แปซิฟิกตะวันตก อย่างไรก็ดี มีการบริหารวัคซีนหลายพันล้านโดสทั่วโลก และจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงต่ำกว่าจุดสูงสุดก่อนหน้านี้มาก
ปัจจุบันนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มีต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี อย่างไรก็ดี ยังคงมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กว่า 3,500 คนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย. และประชากรโลกอีกหลายพันล้านคนยังคงไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19
ที่มา: