‘ชัชชาติ’ ขอ ‘รัฐบาล-สภาฯ’ ชุดใหม่ ทบทวนการใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังรายได้ลดฮวบ ยกห้างสรรพสินค้าดังย่านพญาไท เดิมเสียภาษี 10 ล้าน แต่เก็บรูปแบบใหม่ เสียแค่ 1 ล้าน ลดลงถึง 10 เท่า , อาคารสำนักงานแห่งหนึ่ง เคยเสียภาษี 11 ล้าน เพราะคำนวณจากค่าเช่า พอคิดภาษีรูปแบบใหม่ เหลือแค่ 3 ล้าน เพราะคิดตามมูลค่าที่ดิน
วันที่ 27 พ.ค. 2566 ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า มีเรื่องที่จะฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากคือ เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เดิมการเก็บภาษีโรงเรือนจะคิดจากรายได้ 12.5% เพื่อนำมาเป็นรายได้ของเขต แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบภาษีใหม่เป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคิดตามมูลค่าที่ดิน
ยกตัวอย่างเขตพญาไท ก่อนที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษี สามารถจัดเก็บได้ประมาณ 300 ล้านบาท เมื่อเปลี่ยนรูปแบบภาษี ทำให้รายได้ลดลงเหลือประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะคาดว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้ที่มีรายได้มากจะต้องเสียภาษีมาก แต่กลับพบว่าไม่ได้เป็นไปตามนั้น
“ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในพื้นที่พญาไท เดิมเสียภาษี 10 ล้านบาท แต่เมื่อเก็บภาษีรูปแบบใหม่ เสียภาษีเพียง 1 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าภาษีลดลงถึง 10 เท่า หรือกรณีอาคารสำนักงานใหญ่แห่งหนึ่ง เดิมเสียภาษีกว่า 11 ล้านบาท เพราะคำนวณจากค่าเช่าภายในสำนักงาน แต่เมื่อคิดภาษีรูปแบบใหม่ เหลือเพียง 3 ล้านบาท เพราะคิดตามมูลค่าที่ดิน และยิ่งเป็นอาคารเก่ามีค่าเสื่อมเยอะ ทำให้มูลค่าลดลงอีก” ชัชชาติกล่าว
ชัชชาติกล่าวว่า ห้องเช่าซึ่งเป็นอาคาร เดิมเก็บได้ 4 ล้านกว่าบาท ภาษีใหม่เก็บได้เพียง 7 หมื่นกว่าบาท เพราะเจ้าของได้ย้ายชื่อมาอยู่ในห้องเช่า ทำให้กลายเป็นที่อยู่อาศัย และจะเสียภาษีในอีกอัตราหนึ่ง
เรื่องนี้ต้องฝากไปถึงรัฐบาลและรัฐสภาใหม่ เพื่อให้สรุปและทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้น และสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง รวมทั้งพิจารณาเงินในส่วนที่ยังค้างกทม.อยู่ เนื่องจากนโยบายการลดภาษี หากคืนเงินมาได้ ท้องถิ่นจะมีเงินสามารถนำไปบริหารตามหลักกระจายอำนาจได้มากขึ้น