วันนี้ (31 พ.ค.2566) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายสอบถามถึงกรณี 8 พรรคพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ตั้งคณะทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านว่าสามารถทำได้หรือไม่ โดยระบุว่า การตั้งคณะทำงานดังกล่าวนั้นเป็นการเตรียมตัวที่ดี และไม่ได้เป็นการแทรกแซง และการขอความร่วมมือฝ่ายราชการไปชี้แจงก็ถือว่า เป็นการทำด้วยสันถวไมตรีอันดีงาม ก็สามารถทำได้ เพราะในอดีตก็มีการเคยทำแต่ครั้งนั้นแนบเนียบ มิฉะนั้นข้าราชการประจำก็อาจจะลำบากใจ เพราะยังทำงานอยู่กับรัฐบาลอยู่ ที่สำคัญกว่านั้นคือยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นรัฐบาล
ถ้ามีวี่แววชัด ๆ ว่าพรรคไหน จะเป็นรัฐบาล เช่น สมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลครั้งแรกที่มี 300 กว่าเสียง ก็ชัดเจนที่จะกลับเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ไม่ต้องอาศัย ส.ว.มาโหวต ตอนนั้น แม้จะยังไม่โปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกฯ เขาก็ไปขอความร่วมมือข้าราชการ ให้ตัวเลขข้อมูล ทำนิ่ง ๆ ทำเงียบหน่อย ๆ ก็ไม่เป็นไร ขณะที่ข้าราชการนั้นไม่ผิด แต่อาจจะอึดอัดใจ ขึ้นอยู่กับว่าขอข้อมูลอะไร
นายวิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก็เขาเชื่อว่าจะเข้ามาบริหารราชการ เขาก็จำเป็นต้องมีข้อมูลแต่ต้องเข้ามาเงียบ ๆ เนียนๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร บางครั้งก็ต้องการข้อมูล ในการจัดอัตรากำลังคน งบประมาณ ซึ่งอย่าแสดงตนว่าเป็นรัฐบาลเพราะยังไม่ใช่ แต่วันนี้ก็ยังไม่มีปัญหาอะไรเลย
ค่อย ๆ ทำกันก็ทำได้ ไม่มีปัญหาอะไร อย่าว่าแต่พรรคการเมืองเชิญ เลย หนังสือพิมพ์เชิญไปนั่งโต๊ะกินข้าวคุยกัน เรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ยังคุยกันได้แต่ถ้าทำอึกทึกครึกโครม หรือ แสดงให้เห็นว่า ฉันจะเป็นรัฐบาลแน่ ๆ แล้วนะ อย่างนี้มันไม่ควร เพราะยังไม่ได้เป็น
นายวิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราอยากเห็นคนเป็นรัฐบาลที่พร้อม อะไรที่เอื้อเฟื้อกันได้ก็ทำ แต่อย่าทำให้ฝ่ายข้าราชการประจำเขาอึดอัดลำบากใจ เขายังมีนายอยู่ เขายังมีผู้บังคับบัญชาอยู่ในปัจจุบันที่มีอำนาจเต็ม เพราะฉะนั้นเดี๋ยวจะเขม่นกันขึ้นมาจะลำบาก
อย่าคิดไกล กรณี “พิธา” ถือหุ้นสื่อ”
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าอาจมีการเลือกตั้งใหม่ หากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกศาลวินิจฉัยเรื่องขาดคุณสมบัติจากกรณีถือครองถือหุ้นไอทีวี ทำให้ขัดกับคุณสมบัติการเป็น ส.ส.จะกระทบกับการเป็นนายกฯ
รวมถึงการเซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกลที่ผ่านมาหรือไม่ว่า โดยนายวิษณุระบุว่า ตนตอบไม่ถูก ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่ผู้ร้องว่าร้องในประเด็นใด ถ้าร้องในประเด็นว่า ขาดจากการเป็น ส.ส.นายพิธาก็สามารถเป็นนายกฯได้ เพราะนายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็ได้
หากถ้าร้องว่า ขาดจากความเป็นนายกฯ ก็สามารถเป็น ส.ส.ได้ แต่ถ้าผู้ร้องนั้นร้องทั้ง 2 เรื่อง ศาลฯก็จะวินิจฉัยทั้ง 2 เรื่อง หรืออาจจะกระทบไปอีกประเด็น คือการเซ็นรับรองสมาชิกพรรค
ดังนั้นอยู่ที่คำร้องว่าจะร้องอย่างไร จะร้องทั้ง 3 ประเด็นเลยหรือไม่ แต่อย่าเพิ่งคิดไปไกลขนาดนั้น เอาทีละประเด็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ยังไม่ได้ทําอะไรเลย อย่าเพิ่งคิดในแง่ร้าย
อย่างไรก็ตาม การที่ตนพูดแบบนี้ ไม่ใช่มาแนะนำว่าจะต้องร้องอย่างไร เพราะอยู่ที่ผู้ร้องเองว่า ร้องประเด็นใดศาลก็จะวินิจฉัยในประเด็นนั้น ถ้าร้อง 3 ประเด็นศาลก็วินิจฉัยทั้ง 3 ประเด็น
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการร้องในประเด็นเรื่องเซ็นรับรองสมาชิกพรรค จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องเลือกตั้งซ่อมใหม่ทั้งหมด
อย่างในอดีตที่คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาของนายทักษิณ ชินวัตร ไปกาลงคะแนน และมีคนไปถ่ายไว้ ซึ่งเกิดเหตุเพียงคูหาเดียว แต่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นโมฆะทั้งประเทศ ดังนั้นกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน หากมีการเลือกตั้งซ่อมก็ต้องเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้ง2566 : “พิธา” แถลง ตั้ง 7 คณะแรกทำงานช่วงเปลี่ยนผ่าน
เลือกตั้ง:2566 “พิธา” โต้ทันควัน “ประยุทธ์” ปัดล้วงลูกงาน ขรก.
ตำนาน “แต่งชุดขาวรอเก้อ” สมบุญ ระหงษ์ ไม่ได้เป็นนายกฯ