เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2566 นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ตั้งเป้าไว้ว่าภายในกลางเดือน มิ.ย.นี้จะได้ข้อยุติ เพราะเป็นไปได้ที่ กกต.จะรับรองผลการเลือกตั้งได้เร็ว
พร้อมระบุว่ากระแสข่าวว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะนั่งตำแหน่งประธานสภาฯ ยังไม่ใช่ข้อเท็จจริง โดยทั้ง 2 พรรคต่างมีเหตุผลที่จะเสนอคนของตัวเอง ซึ่งเชื่อว่าการพูดคุยกันในรายละเอียดการทำงานร่วมกันน่าจะได้ข้อยุติภายใน 2 สัปดาห์นี้
“ก้าวไกล” มั่นใจคดีหุ้น ITV ไม่กระทบคุณสมบัติ “พิธา”
ส่วนคำร้องคดีหุ้น ITV ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมทั่วประเทศ นายชัยธวัช เชื่อว่า ไม่น่าจะไปไกลขนาดนั้นและจนถึงขณะนี้ยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถต่อสู้คดีได้
สอดคล้องกับนายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกลที่ระบุว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคเตรียมข้อมูลและหลักฐานในการชี้แจงไว้แล้ว มั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับคุณสมบัติของนายพิธา
โฆษกพรรคก้าวไกล ยังตั้งข้อสังเกตกรณีการให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ ที่ระบุว่าอาจต้องเลือกตั้งซ่อมทั่วประเทศว่าเป็นการชี้นำ ส.ว.ให้เกิดความลังเลใจว่าจะนำไปสู่การส้มหล่นได้หรือไม่ ทั้งที่ทุกอย่างกำลังเป็นไปด้วยดี
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมองโอกาส “พิธา” รอดคดีหุ้น 50:50
ขณะที่นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประเมินคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจออกได้ 2 ทาง หรือ 50:50 โดยออกได้ทั้งทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ซึ่งหากออกทางรัฐศาสตร์ นายพิธา จะไม่โดนตัดสิทธิ แต่คำวินิจฉัยต้องมีเหตุผลให้ทุกคนยอมรับได้
พร้อมระบุว่า การตีความกฎหมายต้องเป็นไปตามลายลักษณ์อักษร แต่หากลายลักษณ์อักษรไม่ชัดเจน ต้องดูตามเจตนารมณ์ หากนำเรื่องเจตนารมณ์ขึ้นมาก่อนตัวบทกฎหมายคงไม่ถูกต้อง พร้อมขอให้จับตาผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและ กกต. เพราะหากใครมีคำวินิจฉัยออกมาก่อน ผลลัพธ์ที่ได้ของอีกฝ่ายจะแตกต่างกัน
นักวิชาการชี้หนังสือรับรอง ส.ส.ไม่โมฆะหาก “พิธา” พ้นพรรค
ด้าน รศ.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีหากนายพิธา พ้นจาก ส.ส. และหัวหน้าพรรคก้าวไกล จะมีผลต่อผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคหรือไม่ โดยระบุถึงหลักการในรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก 3 ฉบับ
ซึ่งเป็นหลักการที่ว่า ถ้ากฎหมายไม่ได้เขียนไว้ แต่สามารถนำหลักกฎหมายทั่วไปมาอุดช่องว่างของกฎหมายได้ ซึ่งหลักการที่ว่านี้คือ “กรณีปรากฏภายหลังว่า กรรมการของนิติบุคคลแต่งตั้งโดยไม่ถูกต้อง หรือขาดคุณสมบัติ ให้ถือว่ากิจการที่กรรมการคนนั้นกระทำไปย่อมสมบูรณ์” ซึ่งหลักการนี้ถูกนำไปใช้กับนิติบุคคลตามกฎหมายต่างๆ ที่ พ.ร.บ.เฉพาะไม่ได้เขียนไว้ ซึ่งรวมถึงพรรคการเมืองด้วย
ดังนั้น หากนายพิธามีลักษณะต้องห้าม พ้นจากความเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล จึงไม่อาจดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้ แต่การออกหนังสือรับรองผู้สมัคร ส.ส. และการส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ย่อมไม่เสียไปเพราะเหตุดังกล่าว
อ่านข่าวอื่นๆ
วิเคราะห์ : “2 ลุง 1 หนู” สู้ต่ออย่างไร
“โรม” เผยเดินหน้าจัดตั้ง รบ.ยังไม่มีปัญหา ไม่ถึงขั้นต้องตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ”
“พิธา” หารือ 3 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เน้นกระจายอำนาจ-ความเจริญ