วันนี้ (8 มิ.ย.2566) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ร้อง ป.ป.ช.เอาผิดในฐานะอดีต รมว.ยุติธรรม ที่เลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.อุ้มหาย ว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ได้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.2566 ซึ่งกระทรวงยุติธรรมก็มีความพร้อมขับเคลื่อนกฎหมาย ทั้งการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนกฎหมาย การจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน
แต่เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2566 กระทรวงยุติธรรม ได้รับหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ในหมวด 3 มีทั้งหมด 8 มาตรา ออกไปก่อนแบบไม่มีกำหนด เนื่องจากมีเหตุขัดข้อง คือ 1.ขาดงบประมาณและอุปกรณ์ 2.ขาดความพร้อมของบุคลากร 3.ขาดมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงาน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม ได้ทำหนังสือส่งกลับไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะไม่เห็นด้วยกับการขอขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ แต่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางส่วน ก็ได้อธิบายถึงเหตุผลความเสียหายที่จะตามมา คือ หากไม่เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายอาจเป็นเหตุให้จำเลย หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีนั้นใช้เป็นเงื่อนไขในการสู้คดีว่าตำรวจไม่ดำเนินการหรือปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายทุกข้อ ในเรื่องของการบันทึกภาพตลอดการจับกุมไว้และเป็นเหตุให้คดีถูกยกฟ้อง
ดังนั้นในวันที่ 3 ก.พ.2566 เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้หารือกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสูงกว่าตน ซึ่งได้ข้อสรุปยอมให้เลื่อนบังคับใช้กฎหมายถึงแค่วันที่ 30 ก.ย.2556 และให้เลื่อนใช้แค่ 4 มาตรา จากที่ขอมา 8 มาตรา ซึ่งขอย้ำอีกครั้งว่า สตช.ขอเลื่อนโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา
“จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้ ผมในขณะเป็น รมว.ยุติธรรม ก็ไม่ได้เห็นด้วย ที่จะมีการเลื่อนบังคับใช้กฎหมายอุ้มหาย จึงมีทั้งหนังสือไม่เห็นด้วย และตั้งวงหารือ เพราะผมเข้าใจดีว่ากฎหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกมาหลายครั้ง หลายรัฐบาลแล้ว กว่าจะสามารถออกเป็นกฎหมาย เพื่อเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริงได้”
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถึงขั้นนักวิชาการด้านกฎหมายยกให้กฎหมายอุ้มหาย เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในรอบ 100 ปี เพราะจะช่วยลดการซ้อมทรมานให้รับสารภาพ เนื่องจากจะมีการบันทึกภาพทุกขั้นตอน ดังนั้นที่กล่าวหาว่าตนเองเป็นผู้เริ่มก่อการเสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายอุ้มหาย ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
“ได้พยายามทำให้กฎหมายบังคับใช้ทันที หากแต่เป็นเหตุผลความจำเป็นในข้อกฎหมายจะทำให้จำเลยได้เปรียบในการสู้คดี และเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง จึงต้องออก พรก.ฉบับนี้ป้องกันไว้ อนึ่งได้กล่าวไว้แล้วว่าจะทำกฎหมายให้สำเร็จให้ได้ แล้วจะเลื่อนการใช้บางมาตราออกไปเล็กน้อย ไม่ได้เป็นสาระสำคัญอะไรมาก เดินสายกลางเถอะครับบ้านเมืองเราจะได้อยู่ร่วมกันโดยปราศจากความเคลือบแคลงและสงสัย การไปร้องเรียน ปปช. มันเสียเวลาของประเทศ แทนที่จะได้ไปตรวจสอบเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน”
นายสมศักดิ์ ยังกล่าวว่า ได้เสนอกฎหมาย Law Of Efficiency เข้าไปใน ครม. และรับหลักการแล้วเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2566 ขณะที่กระทรวงยุติธรรมได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อวันที่16 พ.ค.2556 โดยกฎหมายตัวนี้ทางเลขาธิการกฤษฎีกายังให้ความเห็นว่า วันนี้บ้านเมืองของเราร้องเรียนกันง่ายเหลือเกิน ระบบตรวจสอบทำงานจนไม่มีเวลา ขณะเดียวกันเลขาธิการกฤษฎีกาก็จะเพิ่มเติมให้เรื่องการร้องเรียนมีคุณภาพมากขึ้น ไม่ใช่อะไรก็ร้องเรียนไปหมด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง มติศาล 8 ต่อ 1 ตีตก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ