จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ สนามบินดอนเมืองเมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 มิ.ย. ทำให้เกิดการตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัยของทางเดินเลื่อน ระบบการตรวจสอบ และการเข้ามาควบคุมสถานการของสนามบิน ‘วอยซ์’ ชวนเปรียบเทียบกับการเข้ามาดำเนินการในเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดจากบันไดเลื่อน โดยฝ่ายบริการทางด้านไฟฟ้าและเครื่องกล (EMSD) ของรัฐบาลเกาะฮ่องกง
ทั้งนี้ จากรายงานข่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมา การตรวจสอบทางเลื่อนเบื้องต้นกระทำโดยเจ้าหน้าที่จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ในช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น (30 มิ.ย.) ซึ่งประสานงานมาโดยทางสนามบินเอง โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เหตุขัดข้องดังกล่าวอาจเกิดจากวัสดุแปลกปลอมเข้าไปคัดง้างกับซี่หวีบันไดเลื่อน ส่งผลให้หวีบันไดหลุดออก จนเกิดช่องว่างและนำมาสู่เหตุการณ์สลด
การตรวจสอบครั้งนี้เป็นไปเพียงแต่ขั้นเบื้องต้น โดยทาง วสท.กล่าวว่า การตรวจสอบอย่างละเอียดจะใช้เวลาถึง 15 วัน โดยการตรวจสอบจะกระทำร่วมกันกับบริษัทผู้ผลิต และวิศวกรของ วสท. และในระหว่างนี้ ทางสนามบินจะทำการปิดใช้ทางเดินเลื่อนทุกตัวไปก่อน
อย่างไรก็ดี การสืบสวนสอบสวนของตำรวจ ได้เริ่มขึ้นวันที่ (3 ก.ค.) ซึ่งถูกมองจากหลายฝ่ายว่ามีความล่าช้า โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกสอบพยานในที่เกิดเหตุ และขอภาพกล้องวงจรปิดจากทางสนามบิน อย่างไรก็ดี จากรายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้รับคำตอบจากทางสนามบิน
มาตรฐานบันไดเลื่อนของประเทศไทย
จากมาตรฐานที่ได้รับการชี้แจงโดยท่าอากาศยานเบื้องต้นพบว่า มีการตรวจสภาพทางเลื่อนรายวัน และรายเดือนอยู่แล้ว และตามมาตรฐานของบริษัทที่ว่าไว้ ทางเลื่อนจะมีอายุการใช้งานถึง 45 ปี และหากยังไม่ชำรุดจนใช้การไม่ได้ ทางเลื่อนดังกล่าวสามารถใช้ต่อไปได้เรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี มีรายงานอีกว่า ทางเลื่อนที่เกิดเหตุนี้เป็นทางเลื่อนรุ่นเก่าที่ติดตั้งมานานกว่า 27 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งยังคงมีระบบรักษาความปลอดภัยของทางเลื่อนรูปแบบเก่า ที่อาศัยการหย่อนของโซ่ขับเคลื่อน ระบบจึงจะหยุดทำงาน ในขณะที่ระบบการป้องกันความปลอดภัยแบบใหม่ ได้มีการใช้เซ็นเซอร์ติดตั้งอยู่ใต้หวีบันได ซึ่งจะทำให้ทางเลื่อนสามารถหยุดการทำงานของอุปกรณ์ได้เร็วกว่า ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ทางสนามบินได้ออกมาชี้แจงว่า มีความพยายามในการเสนอของบประมาณ เพื่อการเปลี่ยนระบบทางเลื่อนใหม่ทั้งหมดอยู่ในขณะนี้
จากเนื้อหามาตรฐานความปลอดภัยของบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ที่ออกโดย วสท. มีข้อความที่ระบุว่า มาตรฐานและข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับทางเลื่อนและบันไดเลื่อนนั้น เป็นเพียงการกำหนดลักษณะอุปกรณ์ และไม่ได้มีการวางโทษใดๆ หากหน่วยงานไม่กระทำการตรงตามมาตรฐาน
ทั้งนี้ หน่วยงานวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) เป็นหน่วยงานกลางในการควบคุมมาตรฐานทางด้านวิศวกรรมของประเทศ แต่ไม่ได้มีอำนาจทางกฎหมายเพื่อสั่งควบคุมใดๆ เพียงแต่ให้ความเห็นด้านมาตรฐานเท่านั้น และมาตรฐานของ วสท. นั้น มิได้มีผลทางกฎหมาย เพียงแต่ใช้เพื่อประกอบเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีเท่านั้น
ฉะนั้น ในกรณีที่มีความผิดพลาด และทำให้เกิดความเสียหาย และข้อพิพาทเกิดขึ้น บทบาทหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนหลักจึงเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจะเป็นผู้ที่ต้องเข้ามารวบรวมหลักฐาน และสอบพยานต่างๆ เพื่อใช้ในกรณีที่อาจจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดีในปัจจุบันนี้ การตรวจสอบคุณภาพบันไดเลื่อน ทางเดินเลื่อน และลิฟต์ต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยนั้น กระทำการตามมาตรฐานของบริษัทต่างๆ ที่เป็นผู้จัดขาย หรือผู้ผลิตอุปกรณ์เท่านัน ยังมิได้มีกฎหมายเพื่อควบคุมหรือลงโทษผู้ที่ไม่ได้กระทำการตามมาตรฐาน และมาตรฐาน วสท. เอง เป็นไปเพื่อการวางแนวทางให้แก่วิศวกรในประเทศไทยเพียงเท่านั้น
แนวทางฮ่องกงเป็นอย่างไร
ใรฮ่องกงมีหน่วยงานรัฐหน่วยงานหนึ่งอย่าง ฝ่ายบริการทางด้านไฟฟ้าและเครื่องกล (EMSD) ที่จะคอยตรวจสอบดูแลความเป็นไปของมาตรฐานวิศวกรรมต่างๆ บนเกาะ ทั้งไฟฟ้า ทางรถไฟ ท่อแก๊ส ลิฟท์ บันไดเลื่อน ฯลฯ
เหตุการณ์หนึ่งที่ EMSD ได้มีบทบาทในการร่วมสอบสวนและจัดการ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2561 ด้วยมีเหตุบันไดเลื่อนขัดข้อง หมุนย้อนกับ ส่งผลให้ผู้ใช้งาน 18 คนได้รับบาดเจ็บ ณ แลงแฮมเพลส ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในฮ่องกง ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากระบบขับเคลื่อนของบันไดเลื่อนที่ชำรุด โซ่ขับเคลื่อนของบันไดขาดออก และระบบเบรกฉุกเฉินไม่ทำงานในทันที
หลังจากเหตุการณ์นั้น EMSD ได้ออกมาตรการสั่งห้ามการให้บริการบันไดเลื่อน 3 ตัวที่เป็นของบริษัทเดียวกับบันไดเลื่อนตัวที่เกิดเหตุ และทางบริษัทที่รับผิดชอบได้มาเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนและระบบเบรกของบันไดเลื่อนทั้ง 3 ตัวใหม่ทั้งหมด
จากเหตุการณ์นั้น EMSD ได้ตัดคะแนนความประพฤติของบริษัทที่รับผิดชอบออกถึง 30 คะแนน พร้อมทั้งส่งจดหมายเตือน และเข้าไปสอบสวนผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในการติดตั้งและตรวจสอบบันไดเลื่อนตัวนั้น ซึ่งรวมถึงวิศวกร และคนงาน
ทั้งนี้ ทั้งเกาะฮ่องกงมีบันไดเลื่อนที่สูงกว่า 15 เมตรอยู่ 64 ตัว โดยเพื่อความมั่นใจของสาธารณชน EMSD ได้สั่งให้ทุกบริษัทที่รับผิดชอบบันไดต่างๆ เหล่านั้น ตรวจสอบความปลอดภัยของบันไดเลื่อนทุกตัว ภายในช่วงสัปดาห์ที่เกิดเหตุการณ์ โดยในเดือนถัดมา หรือช่วงเดือน เม.ย. 2561 EMSD ยังสุ่มตรวจบันไดเลื่อนจากบริษัทอื่นๆ ด้วย
ประเทศไทยยังขาดหน่วยงานที่มีอำนาจ ในการควบคุมมาตรฐานของบันไดเลื่อนต่างๆ ให้ตรงตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นของบริษัทเองหรือของหน่วยงาน ตลอดจนขาดหน่วยงานที่มีอำนาจในการกดดัน เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ประชาชนยังมองว่าการสืบสวนสอบสวนยังเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของทางเดินหรือบันไดเลื่อนต่างๆ ที่มีใช้กันอยู่ในสถานที่อื่นอีกด้วย
จิรภัทร นิวรณุสิต ผู้เรียบเรียง