หน้าแรก Voice TV 20 ข้อสรุปครบจบ! วิกฤตสงครามฮามาส-อิสราเอล

20 ข้อสรุปครบจบ! วิกฤตสงครามฮามาส-อิสราเอล

1642
0
20-ข้อสรุปครบจบ!-วิกฤตสงครามฮามาส-อิสราเอล

การรุกรานของกองกำลังฮามาสจากฉนวนกาซา เข้าโจมตีเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอลอย่างสายฟ้าแลบ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ถูกจับตามองจากสื่อทั่วโลกถึงวิกฤตดังกล่าว ตามมาด้วยคำถามมากมายต่อความล้มเหลวในการระงับเหตุ และความบกพร่องในทางข่าวกรองของอิสราเอล โดยปัจจุบันนี้ ความขัดแย้งดังกล่าวได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากทั้งสองฝ่ายทะลุ 1,600 ราย พร้อมกันกับผู้ได้ระบาดเจ็บจำนวนอีกหลายพันราย

แม้การโจมตีดังกล่าวของกลุ่มฮามาสจะเป็นการโจมตีในเชิงสัญลักษณ์ มากกว่าการหวังผลใดๆ ที่เป็นรูปธรรม แต่การโจมตีดังกล่าวได้ยกระดับความขัดแย้งและสถานการณ์อันร้อนระอุ โดยเฉพาะจากท่าทีของอิสราเอลในการตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาส ทั้งนี้ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ได้ประกาศสงคราม และยืนยันว่าอิสราเอลจะเดินหน้าการปรามปรามกลุ่มฮามาสอย่างแข็งกร้าวที่สุด

2023-10-10T104430Z_1_LYNXMPEJ990DO_RTROPTP_4_ISRAEL-POLITICS.JPG

ในตอนนี้ กองกำลังสำรองของอิสราเอลจำนวน 300,000 นายได้ผนึกล้อมฉนวนกาซาเอาไว้อย่างสมบูรณ์ สร้างความหวั่นวิตกว่าสถานการณ์ความขัดแย้งอาจลุกลามและบานปลาย จนส่งผลให้เกิดการฆ่าล้างกันในทั้งสองฝ่ายที่อาจรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซาไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัญหาของกลุ่มฮามาสเอง แต่อาจสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง ไม่เว้นแม้แต่ชาติมหาอำนาจ รวมถึงชาติเล็กๆ อาทิ ไทยด้วยเช่นกัน แต่คำถามหลักในตอนนี้ที่คนไทยยังห่างเหินจากคำตอบก็คือ ใครคือกลุ่มฮามาส

1. ก่อนทำความรู้จักว่าฮามาสคือใคร สถานการณ์จากการรายงานของฝ่ายอิสราเอลในตอนนี้ระบุว่า อิสราเอลพบผู้เสียชีวิตจากเหตุการโจมตีของกลุ่มฮามาสแล้วอย่างน้อย 1,008 ราย และพบผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 3,400 ราย ในขณะที่ทางฝ่ายปาเลสไตน์เปิดเผยว่า จากการโจมตีของอิสราเอลเข้ามายังฉนวนกาซา ส่งผลให้มีการพบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 500 ราย และได้รับบาดเต็บอีกอย่างน้อย 2,700 ราย ทั้งนี้ ทางการอิสราเอลระบุว่า มีผู้ถูกกลุ่มฮามาสลักพาตัวเกินกว่าร้อยราย แต่ยังคงไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดของผู้ถูกลักพาตัวทั้งหมด

2. กลุ่มฮามาส ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นทั้งพรรคการเมืองและกองกำลังติดอาวุธมุสลิมนิกายซุนนีหัวรุนแรง ซึ่งมีอำนาจอยู่ในปาเลสไตน์ เทียบเคียงไปกันกับกลุ่มกลุ่มฟาตาห์ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองหลักของปาเลสไตน์อีกกลุ่ม แต่เป็นกลุ่มมุสลิมปาเลสไตน์ที่มีนโยบายประนีประนอมกับอิสราเอลมากกว่ากลุ่มฮามาส

3. กลุ่มฮามาสเปิดเผยชัดเจนว่า พวกเขามีจุดประสงค์ในการทำลายล้างรัฐอิสราเอล ผ่านการทำสงครามที่พวกเขารบพุ่งกันมานานนับ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในปี 2007 กลุ่มฮามาสสามารรถเข้ายึดครองฉนวนกาซาได้สำเร็จ พร้อมกันกับการขับไล่กลุ่มฟาตาห์ออกจากพื้นที่ ส่งผลให้ฉนวนกาซากลายมาเป็นฐานที่มั่นหลักของกลุ่มฮามาส

4. ฉนวนกาซาเป็น 1 ใน 2 ดินแดนของดินแดนปาเลสไตน์ ควบคู่กันไปกับเวสต์แบงค์ที่มีขนาดใหญ่กว่าฉนวนกาซาอย่างมาก โดยฉนวนกาซานั้นตั้งอยู่ติดกับทะเลเมดิเตอเรเนียน โดยดินแดนดังกล่าวมีความยาว 41 กิโลเมตร และกว้างระหว่าง 6 ถึง 12 กิโลเมตร พร้อมกันกับการมีประชากรหนาแน่นต่อพื้นที่มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกกว่า 2.3 ล้านคน

5. ปัญหาปาเลสไตน์กินเวลายาวนานในเชิงประวัติศาสตร์นับพันปี จากสงครามความขัดแย้งทางศาสนาของกลุ่มคนและชนชาติยิว คริสต์ และอิสลาม อย่างไรก็ดี รัฐอิสราเอลถูกสถาปนาขึ้นในปี 1948 หลังจากการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยความเชื่อและกระแสชาตินิยมยิว ต่อการได้มาซึ่งดินแดนพันธสัญญาของพระเจ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนเดิมกับชนกลุ่มมุสลิมปาเลสไตน์ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาก่อนการสถาปนารัฐอิสราเอล

6. หลังจากการปลดปล่อยอาณานิคมตะวันตกในภูมิภาคตะวันออกกลาง สหประชาชาติเห็นควรให้มีการตั้งรัฐอิสราเอลของยิว และรัฐอาหรับที่มีชื่อว่าปาเลสไตน์ในปี 1948 เพื่อหาสถานที่ปลอดภัยภายหลังจากชนชาวยิวถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างรุนแรงโดยนาซีเยอรมนี อย่างไรก็ดี ชาติอาหรับคัดค้านมติดังกล่าว จนก่อให้เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปีเดียวกัน สงครามดังกล่าวดำเนินต่อไปนาน 2 ทศวรรษ แต่สุดท้ายนั้น กาซาได้ถูกอิสราเอลยึดไปในปี 1967 ระหว่างช่วงสงคราม 6 วัน

7. นับแต่นั้นมา อิสราเอลเข้ายึดครองและปิดกั้นพื้นที่ฉนวนกาซาและเวสต์แบงค์ ซึ่งสหประชาชาติประกาศว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ จนกระทั่งในปี 2005 อิสราเอลตัดสินใจถอนกำลังออกจากฉนวนกาซา และคอยกำกับดูแลพื้นที่จากภายนอก จนกระทั่งในปี 2006 กลุ่มฮามาสได้ชนะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในฉนวนกาซา และสามารถยึดครองพื้นที่ได้สำเร็จในปี 2007 พร้อมกันกับการประกาศตัวเป็นศัตรูต่ออิสราเอลอย่างชัดเจน

8. นับตั้งแต่อิสราเอบเข้ายึดครองฉนวนกาซาและการถอนกำลังออกมา แหล่งพลังงานไฟฟ้า น้ำ และโทรคมนาคมของฉนวนกาซาต้องพึ่งพาอิสราเอลมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันนี้ อิสราเอลได้ตัดการส่งกระแสไฟฟ้า น้ำ และสัญญาณตามสายไปยังฉนวนกาซาโดยสมบูรณ์

9. ภายใต้ความพยายามในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายที่ไม่สามารถหาทางออกได้ ตลอดจนการขึ้นมาปกครองอิสราเอลอย่างยาวนานโดยรัฐบาลฝ่ายขวา และการกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งของเนทันยาฮู ซึ่งมีแนวนโยบายที่มีความเป็นอำนาจนิยม และให้ความสำคัญกับชนชาติยิวเป็นหลัก กลับยิ่งทวีคูณสถานการณ์อันตึงเครียดที่อิสราเอลมีต่อปาเลสไตน์ โดยเฉพาะต่อกลุ่มฮามาส (กลุ่มฮามาสเป็นชาวปาเลสไตน์ แต่ชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดไม่ใช่ฮามาส)

10. การข้ามพรมแดนฉนวนกาซาและบุกโจมตีอิสราเอลทางตอนใต้เมื่อวันเสาที์ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดสำคัญของอิสราเอล ส่งผลให้มีประชาชนชาวอิสราเอลเสียชีวิตจำนวนมาก จากการถูกจรวดยิงและการกราดยิงโดยไม่เลือกหน้า เหตุชนวนดังกล่าวได้ส่งผลให้สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสระเบิดแตกออกมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

F69019E1-DB97-41CB-B95A-20098FE00EB5.jpg

11. โมฮัมเหม็ด ดีฟ หน้าหน้าฝ่ายกองกำลังของฮามาสระบุว่า การโจมตีในครั้งนี้เกิดขึ้น เพื่อเป็นการตอบโต้จากการปิดล้อมของอิสราเอลต่อฉนวนกาซาที่ดำเนินมายาวกว่า 16 ปี ความขัดแย้งดังกล่าวยังได้ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากทางการอิสราเอลเข้าบุกค้นพื้นที่เวนต์แบงค์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งรวมถึงครั้งที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในมัสยิดอัลอักซอ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมปาเลสไตน์

12. ในทางตรงกันข้ามกับกลุ่มฮามาส มูฮัมหมัด ชไตเยห์ นายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ ซึ่งสังกัดกลุ่มการเมืองฟาตาห์ ได้ออกมาเรียกร้องให้อิสราเอลมีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับปาเลสไตน์ โดยยืนยันว่า ปาเลสไตน์ได้แสดงให้โลกทราบอย่างชัดเจนว่า หนทางออกด้านความปลอดภัยที่อิสราเอลนำมาใช้ จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ โดยทางออกเดียวคือการยุติการยึดครองปาเลสไตน์ ผ่านโครงการทางการเมืองที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และประชาคมระหว่างประเทศนำมาใช้ และบนพื้นฐานของความริเริ่มด้านสันติภาพอาหรับ

13. อาลี บาราเคห์ สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มผู้นำฮามาส ระบุว่า วางแผนโดยผู้บัญชาการระดับสูงของฮามาสในฉนวนกาซาไม่ถึงสิบคน และแม้แต่พันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของกลุ่มฮามาส ก็ไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าเกี่ยวกับกำหนดเวลาการบุก ทั้งนี้ บาราเคห์ปฏิเสธรายงานที่ว่า มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของอิหร่านคอยช่วยวางแผนการโจมตี หรือสั่งให้มีการดำเนินการล่วงหน้า

14. ชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ กำลังจับตามองว่าอิหร่าน รวมถึงกองกำลังฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน มีบทบาทอย่างไรในการรุกรานอิสราเอลอของกลุ่มฮามาสในครั้งนี้ ทั้งนี้ อิหร่านเป็นพันธมิตรกับทางกลุ่มฮามาส และคอยให้การสนับสนุนมาอย่างยาวนาน แม้ว่าทางการของอิสราเอลและชาติตะวันตกจะยังไม่พบหลักฐานเชื่อมโยงโดยตรงว่า อิหร่านซึ่งประกาศการเป็นศัตรูกับอิสราเอล ให้การสนับสนุนการรุกรานอิสราเอลของฮามาสในครั้งนี้หรือไม่

15. บาราเคห์ยังปฏิเสธการคาดการณ์ว่าการโจมตีดังกล่าว ซึ่งมีการวางแผนไว้มานานกว่า 1 ปี และเป็นการโจมตีที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายความพยายามของสหรัฐฯ ในการโน้มน้าวให้ซาอุดีอาระเบียปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอลให้เป็นปกติ แต่เขากล่าวว่าสิ่งนี้ได้รับแรงผลักดันจากการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลขวาจัดของอิสราเอลในช่วงปีที่ผ่านมา

16. อย่างไรก็ดี คำกล่าวอ้างของบาราเคห์ที่ว่า กลุ่มฮามาสวางแผนปฏิบัติการในครั้งนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่า มีนักรบฮามาสประมาณ 1,000 คน ที่เข้าร่วมการรุกรานอิสราเอล ผ่านการโจมตีทางบก ทางทะเล และแม้แต่นักร่มร่อนติดเครื่องยนต์ ยิ่งไปกว่านั้น บาราเคห์อ้างว่าหากฮามาสกำลังพบกับความพ่ายแพ้ พวกเขาอาจขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรอย่างอิหร่านและกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ได้เท่าที่ต้องการ ซึ่งอาจทำให้ความขัดแย้งทวีคูณความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก

17. บาราเคห์ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มฮามาสในเลบานอนมานานหลายปี และขณะนี้มีหน้าที่ประสานงานกับกลุ่มปาเลสไตน์อื่นๆ กล่าวว่า กลุ่มฮามาสของเขาจะใช้ตัวประกันอิสราเอลที่ถูกจับได้ในการโจมตี เพื่อรับประกันการปล่อยตัวชาวอาหรับทั้งหมดที่ถูกคุมขังในเรือนจำของอิสราเอล และอาจรวมถึงชาวปาเลสไตน์บางคนที่ถูกจำคุกในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าในการเจรจาแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญใดๆ

18. กลุ่มฮามาสประกาศว่าพวกเขาพร้อมที่จะทำสงครามอันยาวนานกับอิสราเอล โดยกล่าวว่ากลุ่มฮามาสมีคลังแสงจรวดที่จะใช้งานได้ยาวนาน ซึ่งเป็นโวหารในทำนองเดียวกันกับที่เนทันยาฮูได้ประกาศเอาไว้ ในช่วงวันแรกของความขัดแย้งล่าสุดว่า อิสราเอลอาจต้องทำสงครามที่ “ยาวนานและยากลำบาก” เพื่อนำตัวกลุ่มฮามาสมารับผิดให้ได้ทั้งหมด

19. องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเรียกร้อง ให้มีการเปิดระเบียงมนุษยธรรมฉนวนกาซา เพื่อให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปให้แก่ประชาชนได้ หลังจากอิสราเอลยังคงเดินหน้ายกทัพล้อมฉนวนกาซา โดยในตอนนี้ มีประชาชนราว 200,000 รายของฉนวนกาซาที่ต้องพลัดถิ่นที่อยู่ 

20. คำถามสำคัญในตอนนี้ก็คือ อิสราเอลจะเริ่มปฏิบัติการบุกเข้าโจมตีฉนวนกาซาทางบกหรือไม่ หลังจากกองทัพของพวกเขาสามารถล้อม และผนึกพรมแดนรอบฉนวนกาซาเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ตามคำกล่าวอ้างของกระทรวงกลาโหมอิสราเอล ซึ่งถ้าหากอิสราเอลตัดสินใจบึกเข้าไปยังฉนวนกาซา ซึ่งมีประชากรกว่า 2.3 ล้านคน นั่นหมายความการใช้กำลังดังกล่าว อาจก่อเกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลตามมาได้อีกระลอก

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่