สงครามระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาส ในดินแดนปาเลสไตน์ ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.66 ที่ผ่านมา นับถึงวันนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 11 วันแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบตรงๆ หนีไม่พ้นแรงงานไทยนับหมื่นพื้นที่ฉนวนกาซา
จังหวะเวลาเดียวกับ นายกฯนิด “เศรษฐา ทวีสิน” ในฐานะรมว.คลัง เดินสายทั้งในและนอกประเทศ เพื่อมุ่งเจรจาการค้าฟื้นการลงทุน เนื่องจาก “รัฐบาลเศรษฐา” ตั้งเป้าพลิกเศรษฐกิจให้เติบโตเพื่อที่จะเป็นผลงาน “ชิ้นโบว์แดง” ของรัฐบาล
รีแอคชั่นแรก หลังเกิดเหตุรุนแรงขึ้น “นายกฯนิด” โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวประณามการโจมตีครั้งนี้ที่นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตผู้บริสุทธิ์และพลเรือนได้รับบาดเจ็บ
เราขอประณามการโจมตีครั้งนี้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตผู้บริสุทธิ์และพลเรือนได้รับบาดเจ็บอย่างน่าสลดใจ เรากังวลอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของชาวต่างชาติทุกคนรวมถึงชาวไทยด้วย เราติดต่ออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัยและการคุ้มครองพลเมืองไทยของเราในอิสราเอลซึ่งมีความสำคัญสูงสุด เรายังหวังว่าสถานการณ์ที่ยากลำบากในอิสราเอลจะคลี่คลายในไม่ช้า
สถานการณ์รุนแรงของแรงงานไทยยังน่าเป็นห่วง แต่ คิวเดินสายต่างประเทศของ “นายกฯนิด” ก็ยังคงเดินหน้าต่อตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 8 – 12 ต.ค.66 นี้ “นายกฯนิด” มีกำหนดเยือน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และเดินทางเยือนประเทศอาเซียน 3 ประเทศ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย และ สิงคโปร์ เพื่อแนะนำตัวและกระชับความร่วมมือระหว่างกันทั้งในมิติทวิภาคีและความร่วมมือในภูมิภาค
วันที่ 9 ต.ค. นายกฯนิด บินตรงฮ่องกง กำหนดการพบกับนายจอห์น ลี คา-ชิว ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และพบปะกับนักธุรกิจและภาคเอกชนที่สำคัญของฮ่องกงเพื่อเชิญชวนให้มาลงทุนในไทย
ต่อด้วยการเดินทางไป “บรูไน” ในวันที่ 10 ต.ค.66 เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำที่อาวุโสสูงสุดในอาเซียน และเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและบรูไนฯ ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในทุกด้าน
จากนั้นวันที่ 11 ต.ค.66 นายกฯ จะพบและหารือกับนายกฯมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับมาเลเซียให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในทุกด้าน และเดินทางเยือน “สิงคโปร์ ” ในวันที่ 12 ต.ค.66 โดยหารือกับนายกฯสิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
จากนั้น “นายกฯนิด” เดินทางข้ามจากอาเซียน เพื่อร่วมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 และถือเป็นเดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ
ในระหว่างการร่วมเวทีดังกล่าว “นายกฯนิด” ได้พบปะและหารือกับผู้นำโลกทวิภาคีกับนายวลาดิมีร์ ปูติน (Mr. Vladimir Putin) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อเย็นวันที่ 17 ต.ค.ด้วย ด้วย
และได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำโดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนและภริยาเป็นเจ้าภาพ ในการเข้าร่วมการประชุมเวทีดังกล่าว และ “นายกฯนิด” ก็ให้สัมภาษณ์ว่า จะใช้โอกาสนี้ในการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกัน ซึ่งจะมีการรับประทานอาหารค่ำกับผู้นำ 23 ประเทศด้วย ซึ่งอาจจะได้มีการพูดคุยกันบ้าง
ในระหว่างนี้ นายกฯเศรษฐา ก็สั่งการรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายความมั่นคงอย่างต่อนเนื่องในการระดมสรรพกำลังทางหน่วยงานภาครัฐทั้ง กองทัพอากาศ ในการเร่งอพยพคนไทย
รวมถึงการขอความร่วมมือกับสายการบินพาณิชย์ที่ตอบรับให้ความร่วมมือรับคนไทยกลับจากอิสราเอลทั้งสายการบินไทย แอร์ เอเชีย นกแอร์ และการบินไทย ซึ่งการบินไทยก็บินเที่ยวแรกไปรับคนไทยกลับมาเรียบร้อยแล้ว ตามเป้าหมายที่นายเศรษฐา ต้องการให้อพยพคนไทยทั้งหมดจากอิสราเอลให้กลับสู่ผืนแผ่นดินไทยให้ได้ภายในเดือน พ.ย.นี้
หากรวมการเดินทางในช่วงก่อนหน้านี้ “นายกฯนิด” ยังได้เดินทางเยือนนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ในการร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78) และเดินทางเยือนกัมพูชาแบบไป เช้า -เย็นกลับ เมื่อวันวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา และเป็นการเดินทางเยือนกัมพูชาเป็นประเทศแรกในอาเซียน
เรียกได้ว่า “นายกฯนิด” เดินสายไปต่างประเทศพบผู้นำนับสิบกว่าประเทศแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่อิสราเอลและฮามาส ก็ประสานความร่วมมือทั้งรูปแบบทางการและไม่เป็นทางการ กับนานาประเทศ เพื่ออพยพแรงงานไทยกลับจากอิสราเอลโดยเร็วที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามถึงการอพยพคนไทยที่บางส่วนมองว่า “ล่าช้า” โดยเฉพาะเที่ยวบินของกองทัพอากาศ ซึ่งใช้เวลารวมกว่า 12.40 ชม. ซึ่งจากการเปิดเผยโดยกองทัพอากาศที่ต้องบินขึ้นเหนือผ่านประเทศลาว, จีน คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, เติร์กเมนิสถาน, อาเซอร์ไบจาน, อาร์มิเนีย,ตุรกี,ไซปรัส และอิสราเอล จึงทำให้ใช้เวลาราว 12.40 น.
แทนที่จะบินตรง ผ่านอินเดีย ประเทศตะวันออกกลางทั้ง เอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต จอร์แดน และอิสราเอล โดยใช้เวลาประมาณ 8 ชม.กว่า ซึ่งสายการบินพาณิชย์ เช่น สายการบิน ElAI สายการบินแห่งชาติของอิสเราเอล หรือ สายการบิน Fly Dubai ก็สามารถบินเส้นทางดังกล่าวได้ ซึ่งใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าถึง 4 ชม.
แม้ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รมว.การต่างประเทศ จะชี้แจงว่า การบินผ่านน่านฟ้าของแต่ละสายการบินมีความแตกต่างกัน โดย กองทัพอากาศจะต้องบินอ้อมไปบ้าง ขณะที่เครื่องบินที่ไม่เคยบินผ่านมาก่อนก็จะต้องทำข้อตกลงใหม่ ขณะที่สายการบินพาณิชย์สามารถบินตรงได้
อยากให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้าใจ ที่จะทำให้คนไทยว่าทำอย่างไรก็ได้ให้คนไทยกลับสู่ประเทศไทยอย่างปลอดภัยและเร็วที่สุด ถึงแม้จะใช้เวลาเพิ่มไปอีก 1-2 ชม.ก็ตามที
ขณะที่ ข้อมูลจากเพจ Thaiarmforce ซึ่งเป็นเพจเกี่ยวกับข้อมูลทางการทหาร ก็ตั้งคำถามว่า เที่ยวบินทหารของประเทศเกาหลีใต้ สามารถบินสามารถบินเข้า – ออก อิสราเอลโดยผ่านตะวันออกกลางได้โดยไม่ต้องบินอ้อม เหมือนกับกองทัพอากาศไทย
ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของทั้ง 2 ประเทศ การเสียเวลาเพียง 1 ชม.ก็ถือว่ามีค่า ก็ทำให้เกิดคำถามว่า “รัฐบาลเศรษฐา” มีปัญหาด้านการทูตหรือไม่