วันนี้ (9 พ.ย.2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ หลังจากแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา
ผู้ดำเนินรายการถามว่าในช่วง 60 วันที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และแผนหลังจากนี้ ทางรัฐบาลวางไว้อย่างไร เช่น การทำงานในมาตรการเร่งด่วน
นายเศรษฐากล่าวว่า ตนไม่ได้อยู่แค่ในกรุงเทพฯ อย่างเดียว ไปมาแทบทุกภาค บางจังหวัดไปมา 2 ครั้ง ในช่วง 60 วันที่ผ่านมา หลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว พูดถึงการลดรายจ่าย
ลดรายจ่ายนี่ชัดเจน คือเรื่องของค่าไฟ จาก 4 บาทกลาง ๆ เป็น 4 บาท แล้วก็เป็น 3.99 ซึ่งมีการลด 2 ขยัก อันนี้เป็นการบ่งบอกถึงวิธีการทำงานของรัฐบาล อะไรทำได้เราทำก่อน ถ้าทำได้อีก ก็จะทำให้อีก จะทำเพิ่มเติมต่อไป ไม่ต้องคอยให้เสร็จหมดแล้วค่อยทำ เพราะเราตระหนักดีว่าพี่น้องประชาชนเดือดร้อนมาโดยตลอด ถ้าต้องคอยให้ทุกอย่างครบหมดแล้วค่อยทำ บางทีอาจจะช้าเกินไป
เรื่องลดราคาค่าน้ำมันดีเซลเราก็ลด ตอนนั้นเบนซินยังศึกษาไม่ดีพอ เราก็ยังไม่ลดจนกระทั่งจะลดวันที่ 10 เดือนนี้ ซึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา ทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ได้ประกาศไปแล้ว อันนี้คือลดรายจ่ายส่วนหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่ง คือลดรายจ่ายทางด้านดอกเบี้ย ก็มีการพักหนี้เกิดขึ้น ทางท่านรัฐมนตรี จุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ก็เป็นหัวใหญ่นะครับ ทำงานกับกระทรวงเกษตรกรฯ ในแง่ของการพักหนี้เกษตร ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เราเพิ่งเริ่มทำกันมา แต่เรื่องจะทำต่อไปก็คือเรื่องของการดูแลเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งอันนี้จะเป็นการลดปัญหาเรื่องหนี้สิน แต่อาจจะถือว่าเป็นระยะกลาง
(จำนวนลูกหนี้ที่พักหนี้ 2.698 ล้านคน โดยเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์ เข้าร่วม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ยอดเกษตรกรฯ ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 จนถึงปัจจุบันมีกว่า 700,000 ราย และคาดว่าจะทะลุถึง 1,000,000 ราย ภายในสิ้นเดือน ต.ค.)
การแก้ปัญหาระยะกลาง-เน้นหนี้นอกระบบ-เดินหน้า Digital Wallet
นายเศรษฐากล่าวว่า ระยะกลางจะมีการลดหนี้นอกระบบ ตนเพิ่งพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน มีผู้ทำผิดกฎหมายเรื่องการชาร์จดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้ประชาชนต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่เงินต้นไม่เคยลด
เราต้องลงไปบูรณาการอย่างชัดเจน ผมคิดว่าภายในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า น่าจะมีการแถลงข่าวเรื่องนี้ แล้วก็ลงไปทำปฏิบัติการได้ภายในกลางเดือนธันวาคมนี้
เพิ่มรายได้ คำว่าเพิ่มรายได้เนี่ยนะครับทางรัฐบาลนั้นมีแนวทางในการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนได้อย่างไรบ้าง
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องของ Digital Wallet ตนจะแถลงในวันที่ 10 พ.ย.นี้ พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักการ ที่มาที่ไปของเงิน ใครได้รับบ้าง ใช้ซื้อสินค้าอะไรได้บ้าง
เปิดตลาดใหม่ให้เกษตรกร
ส่วนเรื่องเกษตรกรก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะประชาชนหลายสิบล้านคน อยู่ในภาคเกษตรกรรม ถือเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตร เรื่องของผลผลิตต่อไร่ของพืชผลหลาย ๆ ชนิด เรายังเป็นรองบางประเทศอยู่ ไม่ใช่ว่าคนของเราไม่เก่ง เพราะว่าเรื่องขององค์ความรู้ยังไม่มีการใส่เข้าไปให้มันเต็มที่ ตรงนี้เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องพยายามทำ
เรื่องของการใช้กลไกการตลาด ในการเปิดการตลาดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใหม่ๆ ที่มีการขยายตัวของประชากรสูงอย่างแอฟริกา กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เป็นต้น ต้องการการส่งออกของอาหารค่อนข้างมาก เราก็ไปเปิดตลาดใหม่ เป็นการขยายโอกาส ขยายรายได้ เพิ่ม Demand เพราะฉะนั้นราคาพืชผลก็น่าจะขยับขึ้นมาได้
การให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการลดค่าใช้จ่ายในการทำเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาแทนปุ๋ยเคมี การทดสอบสภาหน้าดิน ว่าสภาพดินเป็นอย่างไร เพื่อไม่ต้องหว่านปุ๋ยเข้าไปท้งหมด นี่คือภาคการเกษตร
เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว
ส่วนของภาคการท่องเที่ยว นับเป็นการเพิ่มรายได้อีกส่วนหนึ่งเหมือนกัน เราให้วีซาฟรีกับประชาชนคนจีน ไต้หวัน อินเดีย และการยกเว้นการตรวจค้นเข้มเมืองภาคใต้ ทำให้สัปดาห์ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวมาเลเซียก็หลั่งไหลเข้ามาเต็มไป อย่างไรก็ตามเราต้องดูทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ยกเลิกวีซ่า แต่ต้องดูเรื่องการรองรับด้วย ไม่ใช่เข้าเข้ามาแล้วต้องรอเป็นชั่วโมง
เราต้องดูว่า การจัดวางสัมภาระ (Baggage Channeling) มีเพียงพอมั้ย ไม่ใช่ว่า Immigration 15 นาที Baggage Channeling อีกชั่วโมงนึง ตรงนี้ก็มีการดูแลอย่างดีเพราะฉะนั้น เรื่องเหล่านี้เราดูทั้ง The Whole Journey (ภาพรวมการเดินทางทั้งหมด) ตั้งแต่ก้าวแรกที่ถึงแผ่นดินไทยจนก้าวสุดท้ายที่จะออกไป ก็เป็นการเพิ่มรายได้ทางด้านการท่องเที่ยวด้วย
ทำไมเปิดวีซาฟรี ให้ประเทศคาซัคสถาน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คาซัคสถาน เป็นพื้นที่ที่มีอากาศหนาว เป็นพื้นที่มีรายได้สูง เราพบว่าที่ผ่านมา แถวพังงาคาซัคสถานกราฟกำลังขึ้นมาก แล้วเราก็ดูว่ามีสายการบินบินตรงด้วย ซึ่งเป็น การนำเข้าที่ดีอยู่แล้ว ถ้าเกิดตัวนี้เขาอยากจะเข้ามาเที่ยวเยอะขึ้น แล้วเป็นพวก High Spender (กำลังซื้อสูง) เพราะฉะนั้นเราก็ประกาศเข้ามาอีกประเทศหนึ่งเหมือนกัน แล้วก็คงจะดูต่อไปว่าสามารถทำตรงไหนได้อีก เช่น รัสเซียเข้ามาอยู่ได้ฟรี 30 วัน
ประเทศเรา การท่องเที่ยวกำลังดีขึ้น นักท่องเที่ยวเป็นแค่หนึ่งในปัจจัย แต่ผมอยากจะเน้นว่าจริง ๆ แล้วการใช้จ่ายต่อหัวสำคัญกว่า ระยะเวลาในการอยู่ก็สำคัญ นักท่องเที่ยวเวลาเขาไปสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส หรืออังกฤษ เขาจะอยู่มากกว่า 3-4 วัน แต่ที่ประเทศไทย เฉลี่ยประมาณ 3-4 วันเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดมาแล้วก็ออก เข้า-ออก มันจะเป็นภาระต่อโครงสร้างอย่างเช่นสนามบิน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ถ้าเข้ามาหนเดียวแล้วอยู่ 10 วัน ก็ไม่จำเป็นต้องขยายอะไรมากมาย แต่นโยบายที่ต้องใช้ระยะเวลา ต้องสนับสนุนให้เมืองรองเกิด ไม่ใช่มาแค่กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน
เราอยากให้ไปที่น่าน กาฬสินธุ์ สุโขทัย อยุธยา ซึ่งทำให้การอยู่ของเขามีระยะเวลายาวขึ้น ทำให้การใช้จ่ายเยอะขึ้น ทำให้เม็ดเงินที่เขาลงไปใช้จ่ายไม่ใช่แค่กระจุกตัวอยู่ที่หัวเมืองใหญ่อย่างเดียว อยากให้ลงไปที่เมืองรองด้วยเหมือนกัน
ส่วนตลาดทุเรียนในประเทศจีน นายเศรษฐาระบุว่า ต้องการให้คนจีนกินทุเรียนคนละประมาณ 5 ก.ก. เหมือนคนไทย จะทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 7 เท่า จากที่ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกอยู่ที่แสนกว่าล้านบาท
นอกจากนี้ในเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จะต้องทำเร็วขึ้นแล้ว ยังต้องอำนวยความสะดวกการผ่านแดนไปลาว ให้มีขั้นตอนน้อยลง ง่ายขึ้น
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมไปหนองคายมา ไปสั่งการว่าจะลองใช้ด่านหนองคาย ทดลองทำ Single Windows, Single From ที่จะเกิดขึ้นได้ ทำให้เอื้อประโยชน์และเวลาให้กับผู้ประกอบการที่จะขนถ่ายสินค้าจากเราข้ามไปฝั่งนั้นได้ ถ้าการทำงานตรงนี้ยังไม่รวดเร็ว จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการ กำไรที่จะได้ลดน้อยลงไป ที่จะไปจ่ายเกษตรกรก็ลดน้อยลงไป คือมันเป็นผลกระทบที่มันตกไปในเชิงลึกหมดเลย
การเดินทางไปต่างประเทศ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผมอยากจะใช้คำว่าไป UNGA ไปสหประชาชาติ ก็ถือเป็นโอกาสดีเพราะเพิ่งรับตำแหน่ง ถือโอกาสไปพบผู้นำทั้งหลาย ซึ่งในปัจจุบันเรื่องของภูมิศาสตร์เองก็มีความร้อนแรงอยู่มาก มีความเห็นต่างกันในแง่ของการค้า จีน-สหรัฐฯ ก็มีความขัดแย้งเรื่องการค้า ยูเครน-รัสเซีย สหประชาชาติเองก็ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
การที่เขาจัดประชุมทุก ๆ ปี เขาก็ต้องหาสิ่งที่นำมาพูดคุยกัน ปีนี้ธีมใหญ่ก็คือเรื่องของพลังงานสะอาด SDG ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นตรงกันหมด ว่าเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการให้ดี
ชวนบริษัทต่างประเทศมาลงทุนในไทย
ผมไปพบปะกับผู้นำต่างประเทศ แล้วก็ถือโอกาสนี้ พบปะกับบริษัทใหญ่ ๆ ที่สนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิต ไม่ว่าจะเป็น Data Center พวกนี้เหล่านี้ต้องใช้ทรัพยากรทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทรัพยากรน้ำ ซึ่งตรงนี้เพียงพอ พลังงานสมัย ก่อน 20 ปีที่แล้วผู้จัดมีพลังงานพอมีไฟฟ้าพอ ปัจจุบันนี้พูดถึงเรื่องพลังงานสะอาด ต้องมีให้เพียงพอด้วย ซึ่งตรงนี้ เราเองเราก็ต้องไปพูดคุยกับเขา อาทิตย์หน้าที่จะไปซานฟรานซิสโกไปที่ APEC ก็จะไปเจรจาต่อแล้วก็จะมีการเซ็น MOU ด้วย
สำหรับปัญหาอาชญากรรมที่มีนโยบายไว้ตอนหาเสียง นายเศรษฐากล่าวว่า
มี 3 เรื่องหลัก เรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะพวกนี้หลอกลวงประชาชน ตรงนี้ให้กระทรวงดิจิทัลฯ ทำงานร่วมกับตำรวจ กวาดล้างตรงนี้ให้เด็ดขาด เรื่องการปิดบัญชีม้าต้องทำอย่างเข้มแข็ง ประสานงานไปที่ DSI ถ้าเกิดเป็น Account ที่ใหญ่ เพราะถือว่าเป็นคดีพิเศษ แล้วก็ประสานงานที่ปปง. เพื่อให้มีการยึดทรัพย์เกิดขึ้นโดยรวดเร็ว ตรงนี้เป็นการตัดต้นตอ ให้ความสำคัญตลอด
ส่วนเรื่องที่ 2 ปัญหาหนี้สิน-หนี้ครัวเรือน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนมากขึ้น GDP ขึ้นจาก 76 มาเป็น 91 ซึ่งถือว่าเป็น Top 20 ของโลก ถือว่าสูงมากเราต้องลดตรงนี้ลงไปให้ได้ ลดมี 2 อย่างคือ ลดหนี้ กับเพิ่มรายได้ เราทำทั้ง 2 ทาง เรื่องการลดหนี้จริง ๆ แล้ว ทางสถาบันการเงินของประเทศไทย ถูกกำกับโดยธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว ตรงนี้ให้ช่วยกันบริหารจัดการ ทำงานใกล้ชิดกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กับทางธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย
ปัญหาใหญ่กว่านั้นก็คือหนี้นอกระบบที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทุกครั้งที่ออกไปหาเสียง เราจะได้รับร้องเรียนมาตลอดเวลาว่าใช้หนี้ไม่หมด ดอกเบี้ยก็ใช้ไม่หมด ดอกเบี้ยจริง ๆ แล้วทางการมีมาตรฐานกำหนดไว้ชัดเจน แต่หนี้นอกระบบใช้กันแบบโหดมาก ร้อยละ 10 ต่อเดือน ซึ่งปีนึงก็เกินเงินต้นไปแล้ว ที่ประกาศไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราจะใช้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาช่วยเหลือกัน นายอำเภอ ผกก.ตำรวจ เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง เรียกเจ้าหนี้กับลูกหนี้มา แล้วก็มาคุยกัน
นายเศรษฐากล่าวถึง ปัญหายาเสพติดว่า ถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ ทุกเวลาที่ตนไปหาเสียงเราก็บอกว่า เป็นเรื่องที่เราต้องทำอย่างบูรณาการ นายกรัฐมนตรีต้องนั่งหัวโต๊ะในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยึดทรัพย์ ซึ่งกระบวนการนี้ยังช้าอยู่ คนที่ค้ายาเสพติดไม่ได้กลัวติดคุก กลัวเรื่องการถูกยึดทรัพย์มากกว่า
ดัน “สมรสเท่าเทียม” เข้าสภาต้นเดือน ธ.ค.
เรื่องความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรามีการตั้งคณะกรรมการมาแล้ว โดยท่านรองนายกฯ ภูมิธรรม เวชชยชัย ได้เขียนไทม์ไลน์ที่ชัดเจนแล้วก็ได้บอกกับสื่อมวลชนไป
เรื่องอื่น ๆ ที่คนอาจจะพูดถึงน้อยก็คือเรื่องสมรสเท่าเทียม สัปดาห์ที่แล้วสั่งการว่า อีก 2 สัปดาห์ ต้องทำเรื่องของการสอบถามความเห็นของทุกภาคส่วน แล้วเอาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ได้ น่าจะเป็นจดหมายฉบับแรกที่ยื่นเข้าไปที่เปิดสภาครั้งต่อไป คือต้นเดือนธันวาคม เรื่องสมรสเท่าเทียมก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งเหมือนกัน สุราชุมชนก็ต้องทำเหมือนกัน ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุก ๆ ฝ่ายด้วยเหมือนกัน
หารือ ผบ.เหล่าทัพลดกำลังพล
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการเกณฑ์ทหารว่า ตอนนี้ทาง รมว.กลาโหม มีการพูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ เรื่องสรรพกำลังของทหารด้วยว่าต้องลดอย่างไร ซึ่งเราต้องให้เยาวชนเรามีสิทธิเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพ ถือว่าเป็นเรื่องนึงที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำความไม่สบายใจของสังคม
ส่วนเรื่อง กอ.รมน.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพูดถึง กอ.รมน. เรื่องของการยุบหรือไม่ยุบ ซึ่งต้องบอกตรง ๆ ผมตกใจนะ ที่บอกว่าเอ๊ะ ทำไมท่านไม่ยุบ ผมไปหาเสียงที่ไหนไปเอาเทปมาดูได้ ผมไม่เคยบอกต้องยุบ นโยบายที่แถลงก็ไม่เคยบอกเรื่องนี้
แต่ว่าทุก ๆ องค์กรไม่ใช่ กอ.รมน. อย่างเดียว จะเป็น BOI หรือ EEC ก็ต้องมีการพัฒนา มีการเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงไปกับของสังคม สมัยก่อน กอ.รมน. ก็ดูแลเรื่องของความมั่นคง เรื่องของคอมมิวนิสต์ เรื่องของการก่อการร้ายทั้งหลาย วันนี้เรื่องสำคัญที่สุดคือเรื่องของปากท้องพี่น้องประชาชน
ทางด้านผู้บัญชาการทหารบก และกองทัพเองก็ตระหนักดีถึงเรื่องนี้ จะมีการเปลี่ยนแนวทางในการใช้ กอ.รมน. เพื่อช่วยให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน ไม่ให้ไปรุกรานสิทธิ์ ไม่ให้ไปกำจัดสิทธิของเขา
ตรงนี้ให้นโยบายไปและพูดคุยกัน ขอให้ดูกันในระยะกลางแล้วกัน ปัจจุบันนี้ก็มีที่ดินออกมาแล้วหมื่นกว่าไร่ แล้วก็จะทยอยออกมา คือของปัญหาน้ำท่วมเรื่องของภัยแล้ง ที่จะเกิดขึ้นก็คอยดูแล้วกันว่าทาง กอ.รมน. ที่ผมนั่งเป็นผู้อำนวยการอยู่ จะมีการพัฒนาไปได้มากน้อยขนาดไหนอย่างไร
อุปสรรคที่เจอใน 60 วัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า จริง ๆ แล้วเราอาสาเข้ามาทำงาน ไม่มีสิทธิบอกว่าเหนื่อย ไม่มีสิทธิบอกอะไร แต่ว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดก็คือเวลาไม่พอ เวลาไม่พอทุกอย่าง เวลาไม่พอในการทำงาน เวลาไม่พอในการนอน เพราะต้องมีงานพูดคุย ต้องมีงานทำอะไรหลายๆ อย่าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“ใครพุ่ง-ใครแป้ก”สแกนผลงาน “ครม.เศรษฐา” ก่อนโชว์ผลงาน 60 วัน
ดินเนอร์ “มื้อแรก” ในลำเรือเพื่อไทย “อุ๊งอิ๊ง” ไม่ใช่มือใหม่การเมือง