พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

'เพื่อไทย' โวย 'กกต.' แบ่งเขตเลือกตั้งไม่ยึดตามหลักการ สร้างความสับสน-เกิดบัตรเสียมาก

‘เพื่อไทย’ โวย ‘กกต.’ แบ่งเขตเลือกตั้งไม่ยึดตามหลักการ แบ่งคร่อมเขตคร่อมแขวง สร้างความสับสน-เกิดบัตรเสียมาก จี้ควรฟังเสียงประชาชน

วันที่ 13 ก.พ. พรรคเพื่อไทย นำโดย วิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรค และ สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส.กทม. ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง การเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยในเขตพื้นที่ กทม. ที่มีความบกพร่อง เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ธีรรัตน์ กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. นั้น เดิมทีมี 5 รูปแบบ ซึ่งมากกว่าจังหวัดอื่นๆ อยู่แล้ว แต่ล่าสุด กกต. แบ่งออกมาเพิ่มอีกรวมเป็น 8 รูปแบบ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต เรียกได้ว่าเป็นการแบ่งเขตที่บิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละพื้นที่

ธีรรัตน์ ชี้ว่า การแบ่งแขตรูปแบบที่ 6-8 นี้ไม่เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ ก็ไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับประชาชน เกิดความไม่สะดวกเพราะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับที่อยู่อาศัย รวมถึงสร้างความลำบากต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง ทำให้ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ซึ่งเคยทำงานมา

ทั้งนี้ การแบ่งเขตดังกล่าวยังส่งผลให้ผู้สมัครพบปัญหา ว่าในเขตเดียวมีผู้สมัครถึง 3-4 คน ต่างพรรคต่างเบอร์กัน จะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปผิดพลาดบกพร่อง เกิดบัตรเสียจำนวนมาก และไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย กกต. ควรยึดตามหลักกฎหมายและความเป็นจริง

ด้าน วิชาญ อธิบายถึงปัญหาของการแบ่งเขตรูปแบบ 6-8 โดย กทม. มีทั้งหมด 30 เขต จำนวนประชากรประมาณ 5 ล้านคน จากการรวบรวมความเห็นของประชาชน และพิจารณาตามหลักของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงระเบียบของ กกต. เป็นเกณฑ์ เห็นว่าการแบ่งเขตแบบ 1-3 มีความชัดเจน พื้นที่มีความคาบเกี่ยวกัน การจัดรูปแบบดังกล่าวมีความสอดคล้องกว่า ไม่สร้างความสับสน มี 25 เขต จาก 30 เขต ที่ไม่ต้องแบ่งเขตเพิ่มเติมใหม่

อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตแบบที่ 6-8 มีโอกาสสร้างความสับสนให้ประชาชนมากกว่า หากมีการแบ่งพื้นที่ตามแขวง คงเรียก ส.ส.เขต ไม่ได้ ต้องเรียกว่า ส.ส.แขวง และจะสร้างผลเสียคือบัตรเสียจะมากขึ้น จากการฟังเสียงประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงเสนอว่ารูปแบบการแบ่งเขตแบบที่ 1-2 มีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะเขตหลักๆ ยังอยู่ ไม่ถูกแบ่งแยก จึงมีความสะดวกต่อประชาชนมากกว่า

ขณะที่ สุภาภรณ์ ตั้งคำถามว่า กกต. ทำหน้าที่กี่วันภายใน 4 ปีที่ผ่านมา จึงได้แบ่งเขตออกมาแบบนี้ ซึ่งขัดต่อมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องยึดถือการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเดิมเสียก่อน แต่ในแบบที่ 6 และ 7 มีการยกการแบ่งเขตแบบเดิมกลับมาน้อยมาก และรูปแบบที่ 8 ไม่มีการแบ่งเขตแบบเดิมอยู่เลย การแบ่งแบบคร่อมแขวงคร่อมเขตจะส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของทางราชการ

สุภาภรณ์ ย้ำว่า ส.ส.ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแก้ไขกฎหมายเท่านั้น แต่ยังต้องส่งเสียงถึงปัญหาในพื้นที่ด้วย สำหรับเขตของตนคือ ภาษีเจริญ ในรูปแบบที่ 7 นั้น ถูกแบ่งเป็นถึง 3 เขตการเลือกตั้ง คือเขตเลือกตั้ง 28 30 และ 32 จึงขอตั้งคำถามว่า กกต. ยึดหลักการใดในการแบ่งเขตเช่นนี้ ตนเชื่อว่า ประชาชนกำลังถูกรัฐประหารผ่านการแบ่งเขตเลือกตั้ง แล้วระบอบประชาธิปไตยจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More