พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

ครม.ดึง 4 มาตรา พ.ร.บ.ป้องกันทรมานฯ ออกไปถึง 1 ต.ค.อ้างรอซื้อกล้องติดตัว

วันนี้ (14 ก.พ.2566) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติในหลักการร่างพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ทั้งฉบับ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.นี้

แต่ร่างพระราชกำหนดที่ ครม.เห็นชอบในหลักการในวันนี้ เป็นการขยายกำหนดเวลามีผลบังคับใช้เฉพาะมาตรา 22, 23, 24 และ 25 ออกไปก่อน ซึ่งทั้ง 4 มาตรานี้ จะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 เป็นต้นไป

โดยที่ต้องมีการขยายกำหนดเวลาให้มีผลบังคับใช้ เนื่องจากมาตรา 22 จะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตัวกับผู้ถูกควบคุมตัว เพราะในกฎหมายกำหนดไว้ว่า “การควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบ จะต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่อง ในขณะจับและควบคุม จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวน หรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว”

มาตรา 23 การควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้รับผิดชอบ ต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว มาตรา 24 คือการเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว และมาตรา 25 ระบุไว้ว่า ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวกรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน

ทั้งนี้ในทางปฏิบัติตามมาตรา 22 – 25 จะต้องมีการปรับปรุงการดำเนินการ และใช้อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกภาพอีกจำนวนมาก ซึ่งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือการจัดซื้อกล้องติดตัวให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมการขนส่งทางบกสำนักงานและป้องกันปราบปรามยาเสพติด หรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีอำนาจในการจับกุม

ดังนั้นจะต้องใช้กล้องติดตัวและจำเป็นที่จะต้องมีการจัดซื้อเพิ่มเติมมากถึงกว่า 170,000 ตัว กล้องติดรถยนต์อีก 2,000 ตัว กล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับอีก 6,000 ตัว ซึ่งกระบวนการในการจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องมีเขียนหรือกำหนดข้อบังคับ เรื่องการจะซื้อจะจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) และต้องใช้เวลาต่อไป

รวมถึงจะต้องมีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในการใช้อุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงและแนวทางในการปฏิบัติอื่น ๆ

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่


This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More