พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

เปรียบเทียบ 2 นโยบาย ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ – ดิจิทัลวอลเล็ท’

‘วอยซ์’ เปรียบเทียบ 2 นโยบาย ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ – ดิจิทัลวอลเล็ท’ สองนโยบายที่ต่างก็ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล แต่มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน และผลต่อเนื่องจากนโยบายก็อาจจะแตกต่างกัน

นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallet) กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ทันทีที่ประกาศ และกลายเป็นที่สนใจของคนทุกแวดวง ทั้งด้านบวกและลบ

ข้อวิจารณ์หนึ่งที่พบมากในโซเชียลมีเดียคือ แจกเงินแบบนี้จะต่างจากนโยบายของ ‘ลุงตู่’ อย่างไร ‘วอยซ์’ เปรียบเทียบ 2 นโยบาย ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ – ดิจิทัลวอลเล็ท’ ให้เห็นในหลายมิติ เพราะทั้งสองนโยบายต่างก็ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล แต่มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน รูปแบบแตกต่างกัน และผลต่อเนื่องจากนโยบายก็อาจจะแตกต่างกัน

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่มักเรียกติดปากว่า ‘บัตรคนจน’  ถือกำเนิดขึ้นในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังยึดอำนาจได้ราวปีกว่า ปลายปี 2559 จึงได้มีนโยบายโดยให้คนรายได้น้อยลงทะเบียนเพื่อรับเงินช่วยเหลือ 1,500 บาท และ 3,000 บาท แล้วแต่ระดับความยากจน เรียกว่าทั้งปีให้เป็นก้อนเดียว โดยในขณะนั้น มีผู้ลงทะเบียน 8 ล้านกว่าคน ใช้งบประมาณ 19,290 ล้านบาท

ในปี 2560 ‘ทีมเศรษฐกิจของ คสช. นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้คิดค้นการช่วยเหลือคนจนเป็น ‘รายเดือน’ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีคนลงทะเบียนถึง 11.67 ล้านคน เป็นการให้ วงเงิน 200 และ 300 บาทแล้วแต่เลเวลความจน เพื่อนำไปซื้อของกินของใช้จากร้าน ‘ธงฟ้าประชารัฐ’ รวมถึงสามารถนำไปลดค่าแก๊สและค่าเดินทางได้

ปี 2561 มีการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ถัดมาถึงปี 2562 ก่อนมีเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. ออกกฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนรับรองโครงการนี้ โดยใช้ชื่อที่ละม้ายคล้ายชื่อพรรค นั่นคือ ‘กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม’ กำหนดงบประมาณไว้ที่ 46,000 ล้านบาท

โครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมาถึง 6 ปี ข้อมูลจากสำนักงบประมาณเผยให้เห็นวงเงินที่อนุมัติทุกปี ประกอบกับรายงานข่าวของสื่อมวลชนพบว่า ใช้งบไปแล้วราว 3.77 แสนล้านบาท ดังนี้

  • ปี 2561 วงเงินราว 59,000 ล้านบาท (เพิ่มงบกลางฉุกเฉิน 37,900 บาท)
  • ปี 2562 วงเงินราว 40,000 ล้านบาท (เพิ่มงบกลางฉุกเฉิน 2 ครั้ง 47,900 ล้านบาท 10,000 ล้านบาท ) 
  • ปี 2563 วงเงินราว 40,000 ล้านบาท
  • ปี 2564 วงเงินราว 49,500 ล้านบาท (เพิ่มงบฉุกเฉิน 28,000 ล้านบาท )
  • ปี 2565 วงเงินราว 30,000 ล้านบาท
  • ปี 2566 มีวงเงินเพียง 35,500 กว่าล้านบาทเท่านั้น

ใช้จ่ายอะไรได้บ้าง

ผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรประจำตัวประชาชน ดังนี้  (อัปเดต เม.ย.66) 

  1. ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้าฯ) และร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน 
  2. ซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน 
  3. ค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ จำนวน 750 บาทต่อคนต่อเดือน 
  4. ค่าไฟฟ้า  315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีสิทธิจะเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด
  5. ค่าน้ำประปาจำนวน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีใช้เกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท และจะต้องชำระส่วนที่เกิน 100 บาทด้วยตนเอง แต่ถ้าใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีสิทธิจะเป็นผู้รับภาระค่าน้ำประปาทั้งหมด

กลุ่มเป้าหมายคือใคร

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ลงทะเบียนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราว 14 ล้านคนในปี 2560 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 22 ล้านคนในปี 2566 แต่หลังจากขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว ผู้ได้รับบัตรยังคงที่ในระดับ 13-14 ล้านคน โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ได้รายงานว่ามีผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐล่าสุด 14,596,820 ราย

ยอดผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่คิดเป็น 3 เท่าของจำนวนผู้ยากจน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเกณฑ์การรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ไม่ได้ต้องการช่วยเฉพาะกลุ่มคนยากจน แต่ต้องการช่วยกลุ่มคน ‘เกือบจน’ ด้วย เพราะตั้งเพดานรายได้ไว้ที่ 100,000 บาท/คน/ปี ซึ่งคิดเป็น 3 เท่าของเกณฑ์ความยากจน หากคิดจากฐานรายได้ดังกล่าว ถือว่าตั้งเป้าช่วยเหลือผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปถึง 30% ของสังคม

ในช่วงการเลือกตั้งนี้ได้เริ่มมีพรรคการเมืองเสนอนโยบายเพิ่มวงเงินค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม พรรคพลังประชารัฐ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้หาเสียงว่าจะเพิ่มวงเงินเป็น 700 บาทต่อเดือน ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอว่าจะเพิ่มวงเงินช่วยเหลือเป็น 1,000 บาทต่อเดือน 

หากนโยบายดังกล่าวเป็นจริง คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการแห่งรัฐจะเพิ่มขึ้นถึง 130,000 – 180,000 ล้านบาทต่อปี

แนวคิดเบื้องหลัง

เป้าหมายหนึ่งของการทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือการสร้างฐานข้อมูลที่สามารถระบุและติดตามตัวผู้มีรายได้น้อย ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลสำหรับภาครัฐ ด้วยการกลั่นกรองข้อมูลร่วมกับหน่วยงานอื่น อาทิ ตรวจสอบร่วมกับกรมสรรพากรและกระทรวงแรงงานด้านเกณฑ์รายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี, ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐ ด้านข้อมูลเกณฑ์ทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 100,000 บาท/คน และร่วมกับกรมที่ดินตรวจสอบเกณฑ์อสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 1 ไร่ ถ้าเป็นที่อยู่อาศัย และไม่เกิน 10 ไร่หากทำการเกษตร 

รัฐบาลยังตั้งเป้าให้โครงการมีลักษณะ ‘เงินโอนอย่างมีเงื่อนไข’ (Conditional Cash Transfer) โดยผสานเงินช่วยเหลือดังกล่าวเข้ากับการช่วยจัดหางานให้ทำ ฝึกอบรมทักษะอาชีพ (เช่น หลักสูตรช่างชุมชน) การจัดหาพื้นที่ค้าขาย ตลอดจนการจูงใจภาคเอกชนให้รับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าทำงาน ผ่านมาตรการจูงใจทางภาษี

ด้วยลักษณะความเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รัฐบาลสามารถติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของผู้ถือบัตร ซึ่งนำไปประเมินผลกระทบด้านสวัสดิภาพได้ และยังสามารถสอบทานรายได้ เมื่อพวกเขาทำงานกับบริษัทเอกชนและมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ถือบัตร

คุ้มค่าหรือไม่

แม้ว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีหน้าที่และศักยภาพหลายด้าน แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเงื่อนไขในการจ้างงานหรือพัฒนาทักษะอาชีพ รวมถึงขีดความสามารถในการเชื่อมโยงตรวจสอบกับฐานข้อมูลอื่นมากนัก โดยในปี 2563 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการประชารัฐสวัสดิการ ในสมัยรัฐบาล คสช.ว่า

  • การอบรมพัฒนาอาชีพ นอกจากทำไม่ได้ตามเป้าแล้วยังไม่บรรลุผลสำเร็จ “จากผลสำรวจพบว่ามีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ได้นําความรู้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์คิดเป็นร้อยละ 64.88”
  • ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้ประโยชน์สวัสดิการที่กําหนดบางรายการได้น้อยมาก เช่น การบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่เกษตรกร คิดเป็น 4.46% มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลสําหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย คิดเป็น 3.61%
  • การจําหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของร้านธงฟ้าประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการด้วยราคาที่ไม่ แตกต่างจากราคาท้องตลาด และอาจไม่สามารถควบคุมรายการที่จําเป็นต่อการครองชีพได้อย่างแท้จริง
  • การติดตามและรายงานผลการดําเนินงานมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตร สวัสดิการแห่งรัฐไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดเป็นต้น

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เคยให้ความเห็นไว้ว่า 

“ความแตกต่างระหว่างนโยบายที่ให้ประโยชน์กับประชาชนกับ นโยบายประชานิยม(populist policy) อยู่ที่ นโยบายอย่างแรกมีเป้าหมายหลักก็เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรของประเทศโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและผลกระทบเชิงลบอย่างรอบด้านให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลเสียต่อการบริหารราชการ วินัยทางการคลัง และงบประมาณโดยรวม ขณะที่นโยบายอย่างหลังในความสำคัญไปที่การเอาใจประชาชนและมุ่งหวังที่จะแปรเปลี่ยนความพึงพอใจดังกล่าวเป็นคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง ….”

“เมื่อพิจารณาถึงนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ของรัฐบาล คสช. แล้ว บางช่วงเวลาที่นโยบายนี้ออกมา (ตุลาคม 2561) ความรัดกุมในการนำไปปฏิบัติ จำนวนเม็ดเงินงบประมาณที่อัดฉีดเข้าไปในโครงการ รวมถึงท่าทีทางการเมืองของผู้นำรัฐบาล ก็มีความโน้มเอียงไปในทางนโยบายประชานิยม มากกว่านโยบายเพื่อประชาชน”

กระเป๋าเงินดิจิทัล

นโยบายนี้ถูกประกาศมาพักหนึ่งแล้ว แต่ตัวเลขเงินดิจิทัลที่จะให้ประชาชน 16 ปีขึ้นไปทุกคน 10,000 บาทนั้น ถูกประกาศบนเวทีเปิดตัว 3 แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 

สองวันต่อมา เพื่อไทยนำทีมเศรษฐกิจแถลงข่าวถึงรายละเอียดโครงการดังกล่าว นำทีมโดยนำ เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แคนดิเดตนายกฯ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบาย และประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

แนวคิดเบื้องหลัง

คีย์เวิร์ดของนโยบายนี้ที่แกนนำพรรคเพื่อไทยชี้แจงคือ

  1. นโยบายนี้เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและมีความจำเป็นสำหรับช่วงนี้เวลาที่เศรษฐกิจถดถอยเป็นเวลานาน 
  2. เป็นการ ‘รดน้ำที่ราก’ เพราะการทยอยให้ทีละไม่กี่ร้อยเหมือนการ ‘หยอดน้ำข้าวต้ม’ ซึ่งไม่ส่งผลให้กระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ 
  3. เป็นการเตรียมพื้นฐานประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล 

ในรายละเอียด เศรษฐา ระบุว่า ที่ไม่ให้เป็นเงินสด เพราะสามารถจำกัดการใช้ได้ด้วยเทคโนโลยี ว่านำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง ส่วนเหตุที่ให้ใช้ในระยะเวลา 6 เดือน เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการกำหนดรัศมีในการใช้ 4 กิโลเมตร ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน เพื่อเป็นการกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังท้องถิ่น และรัศมีดังกล่าวสามารถปรับเพิ่มได้ในพื้นที่ห่างไกล

นพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนการ ‘กระตุ้นหัวใจ’ และสามารถกระตุ้นให้ตรงเป้า ซึ่งในระหว่าง 6 เดือนที่มีการใช้เงินนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างรายได้ออกมาเพิ่มเติมด้วย ถือเป็นการปลุกเร้าให้คนมีแรงสู้และเดินต่ออย่างยั่งยืน 

เผ่าภูมิ กล่าวถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ต้องเริ่มจากการสร้างโครงสร้างทางการเงินรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล สนับสนุนโดยเทคโนโลยีบล็อคเชน (Blockchain) ระบบการเงินยุคใหม่ จากนี้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปจะมี 2 บัญชี คือ บัญชีออมทรัพย์ปกติผูกกับธนาคาร และบัญชีดิจิทัล ผูกกับบัตรประชาชนโดยอัตโนมัติ จึงเป็นที่มาในการใส่เงินก้นถุง 10,000 บาทให้ประชาชน และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนมาใช้ระบบใหม่ ซึ่งมีความแตกต่างจากแอพพลิเคชันเป๋าตังค์ที่เป็นเงินในโลกยุคเก่า ขณะที่บล็อคเชน เป็นเงินในโลกยุคใหม่ที่สามารถเขียนเงื่อนไขลงบนเงินได้ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า จะไม่ยกเลิก ‘บัตรคนจน’ ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แต่เชื่อว่า เมื่อใช้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ทประกอบกับนโยบายอื่นๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ ตั้งเป้าให้ GDP โตเฉลี่ยปีละ 5% จะทำให้ประชาชนมีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ของ ‘บัตรคนจน’ และไม่ต้องใช้บัตรคนจนไปในที่สุด

ใช้เงินจากไหน

นพ.พรหมินทร์ อธิบายเรื่องการบริหารจัดการเงินราว 540,000 ล้านบาทที่ต้องใช้ในโครงการนี้โดยระบุว่า ไม่ต้องมีการกู้เพิ่ม แต่สามารถจัดสรรทรัพยากรที่มีได้ และเชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

“เราสร้างความมั่นใจได้ว่า ไม่ได้สร้างภาระเลย เราจะใช้การจัดสรรส่วนที่เป็นงบประมาณ เป็นเหมือน ‘หลักประกัน’ ของการใช้เงินจำนวนนี้ เหตุผลง่ายๆ สมมติว่าผมออกโทเคนอันนี้ มันคือสิทธิที่ปรากฏอยู่ในบัตรประชาชน สิทธิที่จะใช้เงินจำนวนนี้ โดยที่สิทธินี้เขาจะต้องไปใช้กับร้านค้าที่จดทะเบียนกับเรา ร้านค้าที่จดทะเบียนจะไปใช้ต่อ ก็ต้องไปใช้ต่อซื้อในร้านขายที่มี VAT ดังนั้นจึงเป็นหลักประกันว่า ร้านค้าที่มี VAT รัฐก็เก็บภาษีคืนได้ 7%”

“ปกติแล้วการหมุนเวียนของเรื่องเศรษฐกิจ 1 รอบ นี่เป็นหลายๆ รอบ ตั้งแต่เกือบๆ 3 รอบ บางคนคำนวณได้ถึง 6 รอบ สมมติว่าเราเอาแค่สามรอบ เงินจำนวนนี้เราเก็บ VAT ได้ 3 รอบแล้ว

“ได้แต่ละรอบ 7% สามเท่าก็ประมาณ 20% คุณเก็บเข้ามาได้แล้ว ในนี้รวมถึงผู้ประกอบการ มีผลกำไรที่เกิดขึ้นแล้วจ่ายภาษีของผลประกอบการในรูปภาษีนิติบุคคลด้วย รวมๆ แล้วได้สักแสนล้าน กลับคืนมาแล้ว เงินยังไม่ทันจ่ายออกเลย มีภาษีกลับมาให้แล้ว 

“อีกทางหนึ่ง เราดูจากตัวเลขที่เจ้าหน้าที่ของฝ่ายประจำประเมินการจัดเก็บรายได้ของรัฐในปี 2567  ได้เพิ่มอีก 260,000 ล้านบาท ฉะนั้น จะใช้เงินจำนวนนี้ เมื่อรวมภาษีที่จะได้กลับมาราวแสนกว่าล้าน ก็เป็น 360,000 ล้านแล้ว นอกจากนี้เราสามารถเอาโครงการคล้ายๆ กันที่รัฐบาลจ่ายอยู่แล้วมาใช้ ในเรื่องของสวัสดิการต่างๆ อีกแสนกว่าล้าน ก็จะครอบคลุมโครงการ นี่เป็นเพียงหลักประกันที่เราคิดว่าเราต้องใช้ แล้วสุดท้ายเราไม่ได้ทำให้เสีย เรื่องของวินัยการเงินการคลัง นี่ยังไม่ได้พูดถึงเงินกู้เลย เราสามารถที่จะหยิบยกการจัดการในเรื่องของงบประมาณ มาใช้รองรับโครงการนี้ได้” นพ.พรหมินทร์ กล่าว

สารพัดคำถาม – วิจารณ์ 

หลังเพื่อไทยประกาศนโยบาย มีคำถามและข้อท้วงติงจากหลายฝ่าย เช่น 

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามว่า เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในนโยบายนั้น เหมาะสมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะบางเครื่องมือของนโยบายเหมาะสมกับการใช้ในบางเรื่อง อีกทั้งพรรคเพื่อไทยได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อเงินเฟ้อหรือไม่ และมีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาอย่างไร

ศิริกัญญาตั้งข้อสังเกตว่า  หากอยากกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ดิจิทัลวอลเล็ตโดยการให้เงินก้นถุงก็สามารถทำได้ แต่ไม่ต้องถึง 10,000 บาท ถ้าอยากกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องใช้เครื่องมือที่ประชาชนคุ้นเคย 

รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ มองว่า นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท หากได้ทำจริง มีข้อเสียคือการเพิ่มภาระงบประมาณและซ้ำเติมหนี้สิน ส่วนข้อดีคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าในปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัว และยังมีเงินจากช่วงเลือกตั้งกว่า 96,000 ล้านบาท ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว ดังนั้นนโยบายนี้จึงเข้าข่ายการหาเสียงมากกว่า

รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร นิด้า โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามว่า ‘เพื่อไทยกำลังทำอะไร’ และวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายประชานิยมสุดขั้ว ซึ่งน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่อาจเป็นภาระงบประมาณที่ประเทศต้องกู้เงินหรือตัดงบฯ หน่วยงานอื่นเพื่อนโยบายนี้ ซึ่งสร้างปัญหาเงินเฟ้อและหนี้สาธารณะตามมา

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง และที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ วิจารณ์ว่า เป็นการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคซึ่งไม่ยั่งยืนและไม่สร้างทักษะการทำงาน ไม่ได้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันหรือไม่ และอาจเกิดหนี้สาธารณะโดยไม่จำเป็น ที่สำคัญ มีการสำรวจร้านค้ารายย่อยในรัศมี 4 กม. ที่พร้อมจะใช้ระบบชำระเงินที่เปิดโล่งให้สรรพากรเข้ามาดูรายการหรือไม่

ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนบางส่วนก็ตบเท้าออกมาวิจารณ์นโยบายนี้ โดยเชื่อว่า ที่สุดแล้วนโยบายนี้จะไม่สำเร็จ เพราะจะติดกับปัญหาเชิงเทคนิคจำนวนมากโดยเฉพาะกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  อีกทั้งเชื่อว่า แหล่งเงินที่จะนำมาดำเนินนโยบาย เป็นเพียงการประมาณการของพรรคเพื่อไทยเท่านั้นในความเป็นจริงอาจไม่ง่ายดายดังที่กล่าว

10 ประเด็นชี้แจงจากเพื่อไทย

10 เมษายน เผ่าภูมิ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชี้แจงเพิ่มเติม 10 ประเด็น ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท’

  1. กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี่ ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้น เพื่อนโยบายการคลังที่ตรงจุด สามารถเอามาแลกเป็นเงินบาทได้ทุกเมื่อ
  2. เหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีการเก็งกำไร ไม่มีการถูกทุบ ไม่มีการขาดทุน ไม่มีการสร้างมูลค่า ไม่สามารถแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้ ไม่มีราคาตก-ราคาขึ้น เพราะทุกเหรียญมีค่าเท่าเงินบาทเสมอ รับประกันโดยรัฐบาล
  3. กระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่มีผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้นต่อความมั่นคงของระบบการเงิน ไม่เกี่ยวกับทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะไม่ใช่การสร้างสกุลเงินใหม่
  4. กระเป๋าเงินดิจิทัล เงิน 10,000 บาท ลงถึงมือประชาชนทุกคน (16 ปี ขึ้นไป) ทุกบาททุกสตางค์ ใช้จ่ายจริง ซื้อของได้จริง ไม่มีการสูญหายของงบประมาณ ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรมตลอดเส้นทาง
  5. กระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่ใช่กรณีเดียวกับ Bitcoin Luna USDT ตามมีผู้กล่าวอ้าง เหล่านั้นออกโดยเอกชนและมุ่งหมายเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน กระเป๋าเงินดิจิทัลคือเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไป ออกโดยรัฐบาล ไม่ใช่สกุลเงินคู่ขนานกับเงินบาท
  6. กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนตามที่มีผู้กล่าวอ้าง ไม่เกี่ยวกับการซื้อบริษัท ไม่เกี่ยวกับการฟอกเงิน ไม่เกี่ยวกับการลงทุน เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่ได้อยู่บนฐานของข้อเท็จจริง ทั้งหมดใช้งบประมาณจากภาครัฐและโอนตรงถือมือประชาชนทุกคน (16 ปีขึ้นไป) ง่ายๆและตรงไปตรงมา
  7. กระเป๋าเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน ในตลาด สร้างธุรกรรมระหว่างรายย่อย ตรงข้ามกับวิธีเดิมที่ต้องซื้อในร้านใหญ่หรือกลุ่มทุน
  8. กระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยสูงสุด สูงกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รู้เส้นทางการเงินทุกธุรกรรม รู้ผู้รับ รู้ผู้จ่าย เป็นระบบที่มีความโปร่งสูงสุด ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรม
  9. กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ปัจจุบันระดับกำลังซื้อของประเทศตกต่ำ เศรษฐกิจตกต่ำกว่าศักยภาพมาก สภาวะดังกล่าวไม่นำสู่เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ได้ รวมทั้งกระเป๋าเงินดิจิทัล สามารถจัดสรรเงินจากงบประมาณ ไม่มีการขึ้นอัตราภาษีใดๆ
  10. พรรคเพื่อไทยสนับสนุน Central Bank Digital Currency (CBDC) และเดินหน้าพัฒนาร่วมกันธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับทุกคน เพื่อยกระดับระบบการเงินของประเทศเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล

ร้อง กกต. สอบนโยบาย

หลังประกาศนโยบายไม่ถึงสัปดาห์ ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ ก็ร้อง กกต.ให้ตรวจสอบนโยบายนี้แล้ว โดยอ้างว่า ผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 อนุมาตรา 5 เข้าข่ายหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมหรือไม่ เพราะเงินดิจิทัลไม่ใช่จะนำมาแจกง่ายๆ แต่ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 กำกับดูแลอยู่ และยังมี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 19 ปี 2561 บัญญัติควบคุมอยู่

สำหรับประมวลกฎหมายรัษฎากรระบุว่า ใครจะทำการซื้อขายถ่ายโอนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% นั่นหมายความว่า หากพรรคเพื่อไทยแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะต้องถูกหักไปประมาณ 1,500 บาท และประชาชนจะได้รับจริงเพียงแค่ 8,500 บาท ทำให้เงินถึงมือประชาชนไม่ครบ ซึ่งข้อมูลนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้แจ้งให้ประชาชนรู้ หากทาง กกต. วินิจฉัยว่า เข้าข่ายผิดตามกฎหมาย ก็ต้องแจ้งไปทางคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 22 ระบุว่า ให้หยุดดำเนินการเรื่องดังกล่าว และแก้ไขให้ถูกต้อง

ด้าน กกต. ก็ระบุว่า กกต.ยังไม่ได้รับแจ้งจากพรรคเพื่อไทย ถึงที่มาของเงิน และวงเงินที่ต้องใช้ ในนโยบายหาเสียงแจกเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัล ตามที่กกต.มีหนังสือให้แจ้งกลับมาโดยเร็ว แต่คิดว่าคงอีกไม่นานพรรคคงจะมีการแจ้งมา

โดย กกต.จะมีหนังสือแจ้งไปยังทุกพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ถ้านโยบายหาเสียงของพรรคเป็นนโยบายที่ต้องใช้จ่ายเงินก็ต้องมีการแจ้งรายละเอียดตามเงื่อนไข 3 ข้อ ที่กฎหมายกำหนดมายัง กกต. หากสำนักงาน กกต.มีหนังสือไปแล้วยังไม่แจ้งกลับมา จะมีการเสนอ กกต.ออกคำสั่ง ถ้าหากยังไม่ดำเนินการอีกก็จะมีโทษทางอาญา โดยเป็นโทษปรับ 500,000 บาท นับแต่วันที่กกต.กำหนดให้แจ้ง และปรับอีกวันละ 10,000 บาทจนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง 

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More