พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

ศาลฎีกานัดชี้ชะตา ‘ธาริต’ คดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ ฟ้องปมเอาผิดสั่งฆ่าคนเสื้อแดงปี53

ศาลนัด 10 ก.ค.อ่านคำสั่งคำพิพากษาศาลฎีกาคดี ‘ธาริต’ อดีตอธิบดีดีเอสไอ กับพวก ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ดำเนินคดีอภิสิทธิ์ -สุเทพ สั่งฆ่าประชาชา เหตุการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ปี 2553

วันที่ 9 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 09.00 น.วันที่ 10 ก.ค. 2566 ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 10 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง กรณี ธาริตกับพวกแจ้งข้อหาดำเนินคดีอภิสิทธิ์และสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ในการสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษพวกจำเลยด้วย

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกจำเลยคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญาจำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกา ต่อมาวันที่ 24 มี.ค. 2566 ธาริต ได้ถอนคำให้การเดิมจากที่ให้การปฏิเสธ เป็นรับสารภาพ ไม่ต่อสู้คดี 

โดยเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ธาริต ไม่ได้มาศาลเพื่อฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกาตามนัด มีเพียงทนายความมาแสดงใบรับรองแพทย์จาก รพ.พญาไท 2 ว่า ธาริต มีอาการป่วยบ้านหมุน ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ จึงขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นควรส่งใบรับรองแพทย์ ของธาริต ให้ศาลฎีกาพิจารณา 

โดยในวันเดียวกัน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ใบรับรองแพทย์แต่ละครั้งของธาริต จำเลยที่1 มีลายเซ็นแพทย์ผู้ตรวจ ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า

ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้ศาลอาญาดำเนินการไต่สวนแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์ และการรักษาอาการป่วยของ ธาริตว่ามีอาการเจ็บป่วยจนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ตามกำหนดนัดว่า ข้อเท็จจริงถูกต้องหรือไม่ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา แล้วส่งผลการไต่สวนให้ศาลฎีกาพิจารณา และเลื่อนนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 10 ก.ค.นี้เวลา 09.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอและตัวแทนญาติผู้เสียชีวิต 99 ศพ จากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 ร่วมกันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2566 เพื่อเรียกร้องศาลยุติธรรมคืนความยุติธรรมให้คนเจ็บและคนตาย 99 ศพ และบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คนจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

โดย ธาริต เผยว่า ตอนนั้นตนถูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่เครือข่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ร่วมปฎิวัติ เรียกให้เข้าไปในพื้นที่ทหารย่านถนนราชดำเนิน บอกว่า “อย่าดำเนินคดี 99 นะ ถ้าทำ พวกอั๊วปฎิวัติ และลื้อจะโดนย้ายเป็นคนแรก” ซึ่งหลังจากนั้นเมื่อมีการปฎิวัติ 57 ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ตนและ อรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด ที่รับผิดชอบคดี 99 ศพ ก็ถูกย้าย 

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่


This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More