พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

ประชุมสภา : ถกครึ่งเช้า จ้องรุก-ตั้งรับ ด้วยเงื่อนไข ม.112 “โหวตนายกฯ คนที่ 30”

การเตรียมการโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศ ไม่ได้เริ่มขึ้นในเช้าวันที่ 13 ก.ค.2566 แต่เริ่มมาจากตั้งแต่กลางดึก วันที่ 12 ก.ค.2566

เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณอาคารรัฐสภา ถนนทุกสายที่มุ่งหน้าที่สู่รัฐสภา ถูกปิดห้ามสัญจรไปมา

ตู้คอนเทนเนอร์ 40 ตู้ ปิดกันทุกทางเข้า-ออก พร้อมรถน้ำแรงดันสูง และรถเครื่องขยายเสียง

ล่วงเข้าเวลา 08.40 น.บรรยากาศที่อาคารรัฐสภา เริ่มคึกคัก บรรดา ส.ส.และ ส.ว.เริ่มทยอยเดินทางมาถึง เพื่อเตรียมร่วมประชุมรัฐสภาวาระโหวตนายกรัฐมนตรี

ขณะที่เจ้าหน้าที่หน่วยอีโอดี เข้าตรวจสอบความเรียบร้อยในที่ประชุมอีกครั้ง อย่างเข้มข้น เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ใครจะได้มานั่ง ยังต้องจับตา

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนโหวตนายกฯ อยากให้โหวตจบวันนี้ เพราะไม่รู้ว่าถ้าเลื่อนแล้วจะไปถึงเมื่อใด ต้องรอคำวินิจฉัยศาลหรือไม่ ส่วน ส.ว.ก็มีความเห็นที่หลากหลาย

ผ่านมา 1 ชั่วโมง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ขึ้นนั่งเป็นประธาน กล่าวเปิดประชุมรัฐสภา ท่ามกลางบรรยากาศที่ดำเนินเรื่อยไป แต่ประเด็นส่วนใหญ่ถูกพุ่งเป้าไปที่ ม.112 เป็นหลัก

ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ระบุถึงการลงมติวันนี้ว่า จุดยืนชัดเจน เพราะสถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลง จึงตัดสินใจไปตามความเป็นจริง ว่า หากมีใครทำให้บ้านเมืองแตกแยก โดยการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนทำผิดกฎหมาย และละเมิดมาตรา 112 ไม่ควรมาเป็นรัฐบาล

พฤติกรรมของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่า เคยพาผู้ชุมนุมมาปิดสภาอย่างน้อย 2 รอบ ถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่ไม่จริง เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องให้เกียรติผู้อื่น และต้องไม่ใช้ความรุนแรง

ส่วนฟาก ส.ส.นายเสมอกัน เที่ยงธรรม ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา บอกว่า พรรคชาติไทยพัฒนาไม่สามารถมีมติของพรรคได้ แต่เรียกว่าเป็นแนวทางที่ได้พูดคุยกัน เห็นพ้องกันว่าจะงดออกเสียง

ขณะที่ นายพิธาลุกขึ้นชี้แจงนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ที่อภิปรายเรื่อง ม.112 และศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

โดยนายชาดากังวลว่า ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น ญี่ปุ่น, อังกฤษ, กัมพูชา, สวีเดน, เดนมาร์ก ได้ลงนาม ถ้าเราเข้าใจว่าพระองค์ท่านอยู่เหนือการเมือง และท่านใช้ทรงอำนาจผ่าน คณะรัฐมนตรี อยู่แล้ว ตรงนี้มันไม่เป็นประเด็นอย่างที่ท่านได้กล่าวหา

ส่วน นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลเสนอนายพิธา เป็นแคนดิเดตนายกฯ และได้เสียง 312 เสียงจาก 8 พรรค ต้องได้ขึ้นเป็นนายกฯ ตามครรลองปกติของรัฐสภา

เรื่องควรเรียบง่าย แต่บรรยากาศที่เกิดขึ้นตลอด 2 เดือน จนถึงวันนี้ทำให้มีคำถามดังๆ นับล้านคน ที่กำลังเฝ้าดูการประชุมรัฐสภา หากนายกฯ คนใหม่ ไม่เป็นไปตามผลการเลือกตั้งแล้ว จะมีการเลือกตั้งทำไม ตกลงอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือเป็นของใคร และมีคำถามว่าตกลงประชาชนอยู่ตรงไหน ในระบอบประชาธิปไตย

และถึงเวลาประมาณ 15.30 น. นายพิธาลุกขึ้นชี้แจงอีกครั้ง กรณี ม.112 และเจตจำนงในการเข้ามาเป็นรัฐบาลว่า ไม่ใช่เพื่อตนเองหรือพรรคก้าวไกล แต่เพื่อประเทศชาติ และสังคมที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“โรม” ย้ำ “พิธา”ยังบริสุทธิ์ปม “หุ้นสื่อ” ขอเดินหน้าโหวตนายกฯ แบบปี 62

วิวาทะเดือด “กลางสภา” โหวตนายกรัฐมนตรี

 

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่


This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More