พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

ไม่มีรัฐบาลใหม่ แช่แข็งงบลงทุน 4-5 แสนล้าน ผอ. สำนักงบประมาณรัฐสภาชี้ ลากเกิน 6 เดือนลำบาก

วอยซ์ ชวนสนทนากับ ชูเกียรติ รักบำเหน็จ ผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณของรัฐสภา เพื่อคลี่ให้เห็นถึงกระบวนการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน และสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อกระบวนการต้องหยุดชะงักล่าช้าและมีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการณ์ลากยาว

‘งประมาณแผ่นดิน’ คือเงินของแผ่นดินที่กฎหมายอนุญาตให้รัฐบาลนำไปใช้จ่ายในการบริหารราชการแผ่นดิน และบริหารองค์กรต่างๆ ของรัฐตามอำนาจหน้าที่และภารกิจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

‘งบประมาณแผ่นดิน’ คือหนึ่งในเสาหลักสำคัญในการขับเคลื่อนและบริหารประเทศไปข้างหน้า หากรัฐบาลใดมีกระบวนการจัดทำออกแบบงบประมาณที่เข้มแข็ง ก็จะสามารถคาดคะเนสภาพเศรษฐกิจในปีต่อไปได้ และช่วยให้เกิดการกระจายเม็ดเงินสู่การพัฒนาประเทศแต่ละด้านได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งช่วยให้รัฐบาลบริหารการคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายในขอบเขตของงบประมาณที่จัดทำขึ้น

โดยปกติแล้ว การจัดทำ ‘งบประมาณแผ่นดินประจำปี’  เริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี โดยมีกรอบการจัดทำร่าง พ.ร.บงบประมาณฯ ตามรัฐธรรมนูญว่า สภาผู้แทนราษฎรจะต้อง พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน ส่วนวุฒิสภา จะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติถูกเสนอมาที่สภาผู้แทนราษฎร

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ข้อมูลล่าสุดระบุว่า วันที่ 14 มีนาคม 2566 ระบุว่า ครม. เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท และจำแนกรายละเอียดงบประมาณของแต่บะกระทรวงคร่าวๆ ไว้ 

ชูเกียรติ รักบำเหน็จ ผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณของรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า จากการคาดการณ์เดิมของสำนักงานงบประมาณ คือหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ประเทศไทยจะได้นายกและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ประมาณเดือนกรกฎาคม และหลังจากได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเสร็จสิ้นกระบวนการ สำนักงบประมาณก็จะนำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท ที่มีมติเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เสนอไปยังคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ว่าจะปรับปรุงทบทวนในจุดใดบ้าง 

ชูเกียรติ อธิบายว่า ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะมี 2 ส่วนหลักๆ ที่รัฐบาลใหม่จะไม่แก้ไขมากนัก คือ แผนงานบุคลากรภาครัฐ และแผนงานพื้นฐาน เพราะสองส่วนนี้คือรายจ่ายตามกฎหมาย เป็น Fixed cost ที่ต้องเบิกจ่ายตามภารกิจของกระทรวงต่างๆ 

ส่วนที่รัฐบาลใหม่แทบทุกรัฐบาลมักจะรื้อแผนงบประมาณคือ แผนงานยุทธศาสตร์ และแผนงานบูรณาการ เนื่องจากสองส่วนนี้คือการนำนโยบายที่รัฐบาลใหม่หาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้งมาบรรจุในแผนงาน 

นอกจากส่วนของแผนงาน ยังมีส่วนของงบรายจ่าย ที่แบ่งออกเป็น 5 งบ คือ 

  1. งบบุคลากร 
  2. งบดำเนินงาน
  3. งบลงทุน 
  4. งบเงินอุดหนุน
  5. งบรายจ่ายอื่น 

“ในมิตินี้ สิ่งที่มักถูกรื้อคือ ‘งบลงทุน’ โดยพรรคก้าวไกลเคยบอกว่าเขาจะใช้วิธีการแบบ (Zero-Based Budgeting ZBB) นั่นคือไม่ได้สนใจว่างบลงทุนปีที่แล้วได้เท่าไหร่ แต่ขอดูใหม่ทั้งหมด เพราะฉะนั้น หากเราดูแค่งบลงทุนก็จะอยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนล้านบาท ” 

“ไม่ว่าจะมิติแผนงานหรือมิติงบรายจ่าย คือรายละเอียดที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาดูอย่างงบลงทุน ก็อาจดูโครงการเมกะโปรเจ็กต์ใหม่ที่ยังไม่ได้เริ่ม (หากเป็นโครงการเดิมที่ลงนามไว้แล้ว ถือเป็นรายการเดิมที่ผูกพันจากรัฐบาลก่อน รื้อไม่ได้) ส่วนงบอื่นๆ เช่นเงินอุดหนุน กับงบรายจ่ายอื่น หากเบิกจ่ายในลักษณะของงบลงทุน รัฐบาลใหม่ก็สามารถรื้อได้” ชูเกียรติกล่าว

ประเด็นสำคัญคือ ตามแผนงานปกตินั้น ต้องประกาศใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ชัดเจนว่า ประเทศยังคงอยู่บนความไม่แน่นอนในการเลือกนายกรัฐมนตรีและการฟอร์มคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คำถามคือ หาก งบประมาณรายต่ายปี 2567 ประกาศใช้ไม่ทัน จะเกิดผลกระทบใดบ้างถัดจากนี้ 

งบ 67 ล่าช้า การลงทุนทางเศรษฐกิจเป็นอัมพาต

ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 ระบุใจความว่า หากงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ ประกาศใช้ไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน 

ชูเกียรติอธิบายว่า กรณีที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เผชิญอุปสรรคทำให้การจัดทำและประกาศใช้งบประมาณปี 67 ล่าช้า ตามกฎหมายแล้ว ให้ใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ไปก่อน แต่ไม่ควรใช้นานเกิน 6 เดือน 

“ในกรณีที่เร็วสุดๆ สมมุติว่าเดือน สิงหาคม-กันยายน สามารถฟอร์มรัฐบาลใหม่ได้ สำนักงบประมาณก็จะส่งรายละเอียดงบประมาณที่ตั้งไว้ทั้งหมดให้ แล้วรัฐบาลใหม่ก็อาจจะรื้อให้สอดคล้องกับนโยบายของตน  ซึ่งคาดว่ากว่าฝ่ายบริหารชุดใหม่จะทำเสร็จแล้วนำเข้าสภา เร็วที่สุดคือเดือนตุลาคม”

เนื่องจากกระบวนการแก้ไขปรับปรุงร่างงบประมาณประจำปีที่จะทำโดยรัฐบาลชุดใหม่ ตามกฎหมายแล้วมีกรอบว่า ฝ่ายบริหารต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน และฝ่ายวุฒิสภาต้องพิจารณาและให้ควาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 20 วัน รวมแล้วประมาณ 4 เดือน หากได้รัฐบาลใหม่ในเดือนสิงหาคม- กันยายน ร่างงประมาณปี 2567 ก็อาจจัดทำเสร็จสิ้นในช่วงเดือนมาราคม – กุมภาพันธ์ 2567 และเสนอทูลเกล้าลงพระปรมาภิไธย

แต่ในสถานการณ์นี้ ชูเกียรติมองว่า “จากเดิมที่คาดว่าประเทศน่าจะใช้งบประมาณประจำปีไปพลางก่อนประมาณ 6 เดือน นั่นคือไม่เกินเดือนมีนาคม 2567 ตอนนี้สถานการณ์ช้ากว่าที่คาดไปมาก”

ชูเกียรติมองว่า หากยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ และมีรัฐบาลรักษาการณ์ทำหน้าที่บริหารไปก่อนนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ 

  1. ใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2566 ฉบับเดิมในการบริหารประเทศไปพลางก่อน
  2. รัฐบาลรักษาการณ์สามารถเบิกใช้ได้แค่รายจ่ายประจำ และสามารถเบิกได้ไม่เกิน 50% ของงบที่ตั้งไว้ปี 2566 เท่านั้น

“พูดง่ายๆ คือเบิกได้แค่ครึ่งเดียว อีกทั้งรายการลงทุนต่างๆ ก็สามารถใช้จ่ายเงินได้แค่รายการเดิมที่รัฐบาลเดิมเคยลงนามในสัญญาไว้แล้ว และไม่สามารถใช้ได้เกินร้อยะ 50 ของงบที่ตั้งไว้ปี 2566”

ชูเกียรติ ยังมองว่า ยิ่งประกาศใช้งบประมาณประจำปี 2567 ล่าช้ากว่า 6 เดือน เช่น หากสถานการณ์ลากยาวไป 8-10 เดือน สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ๆ รัฐบาลรักษาการไม่สามารถทำอะไรได้เลย หาก พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2567 ยังไม่ประกาศใช้ อีกทั้งรายจ่ายประจำต่างๆ ที่สามารถเบิกจ่ายได้ ก็ไม่ได้ไปกระตุ้นการอุปโภคบริโภคเท่าที่ควร 

และยังไม่นับรวมการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่กระทบประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“นี่คือภาพรวมหากมีการตั้งรัฐบาลช้ากว่าที่คาดการณ์ และงบประมาณปี 2567 ประกาศใช้ล่าช้าเกินกว่า 6 เดือน นี่คือปัญหาใหญ่ ยิ่งลากไปยาวเท่าไหร่ ผลกระทบก็ยิ่งเยอะ”

ชูเกียรติย้ำว่า ไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้รัฐบาลรักษาการณ์สามารถพิจารณากฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี  2567 ได้ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ สถานการณ์ที่การลงทุนใหม่หยุดชะงัก และการบริหารบ้านเมืองแบบประคับประครองคือสถานกาณ์จึงมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างมาก ผลจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่เป็นสำเร็จ และตัวแปรสำคัญอย่าง 250 ส.ว. ที่โหวตคว่ำแคนดิเดตนายกฯ ไปแล้วครั้งหนึ่ง รวมถึงพรรคขั้วรัฐบาลเดิม ที่ ‘ปิดตาย’ ความพยายามหาทางเลือกเพิ่มเสียงพรรคร่วม เพื่อฝ่าด่าน ส.ว.

ทั้งนี้ทั้งนั้น ยุทธ์ศาสตร์รอ 10 เดือน เพื่อให้ ส.ว.ชุดนี้หมดวาระในวันที่ 11 พ.ค.2567 เงื่อนไขหนึ่งที่เราอาจต้องพิจารณาประกอบด้วย คือ ประเทศอาจต้องแบกรับความเสี่ยงอันเป็นผลจากการแช่แข็งการจัดทำงบประมาณ 2567 ดังที่ชูเกียรติกล่าวทิ้งท้ายว่า

“อย่าลืมว่า แม้ได้รัฐบาลใหม่แล้ว และประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ 2567 แล้ว มิติ ‘งบลงทุน’ ต่างๆ ก็ใช่ว่านายกคนใหม่จะสามารถลงนามได้เลย มันยังมีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ประกวดราคานู่นนี่นั่น และหากประกาศใช้งบ67 ช้าไปครึ่งปี ก็อาจเซ็นสัญญาลงทุนได้ปลายปี และแปลว่าปีงบประมาณ 2567 จะสามารถลงทุนได้น้อยมาก”

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่


This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More