พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

เปิดใจ 7 เดือน 'นายกฯเศรษฐา' รับยังไม่พอใจการทำงาน ขอพยายามต่อไปให้ดียิ่งขึ้น

เปิดใจ 7 เดือน ‘เศรษฐา’ บนตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรี’ ยอมยังไม่พอใจการทำงาน ขอพยายามต่อไปเพื่อให้ดียิ่งขึ้น เผยต้องปรับตัวเยอะเพราะต้องฟังหลายส่วน บริหารงบประมาณเพื่อประชาชน ลั่นพร้อมเสียเพื่อน หากทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน ยันเส้นทางการเมือง ไม่มีเซฟตัวเอง

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดใจถึงการทำงานในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา ว่า มีเรื่องที่ไม่ได้ดั่งใจเยอะ เพราะหลายปัญหาของประชาชนยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร ที่แม้จะดีแล้วแต่ยังสามารถดีกว่านี้ได้อีก 

เรื่องการท่องเที่ยว ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2567 ตัวเลขนักท่องเที่ยวสูงกว่าแล้ว 140% ถือว่าดีมาก แต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 ณ เวลานี้ จากเดือนมกราคม-เมษายน เราได้ประมาณ 60% หากคิดเป็น 100% วันนี้เราได้ประมาณ 90% ตนมั่นใจสถิติคนมาเที่ยวไทย 39.4 ล้านคน เราสามารถดันตัวเลขให้สูงขึ้นได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งการเปิดตลาดวีซ่าฟรี การ อำนวยความสะดวกในการตรวจคนเข้าเมืองกับนักท่องเที่ยว รวมถึงการจัดการปัญหาไกด์เถื่อน ไรเดอร์ถื่อน ทำให้การเดินทางเข้าประเทศสะดวกสบายมากขึ้น ก็สามารถทำได้ 

ส่วนเรื่องของกรมศุลกากร ที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษี จากรายได้ของประเทศ ปีละประมาณ 3 ล้านล้านบาท กรมศุลกากรเป็นหนึ่งใน 3 กรมภาษีหลัก จัดเก็บภาษีได้ปีละ 1 แสนล้าน คิดเป็นประมาณ 3% ของรายได้ประเทศ ถือว่าต่ำ แต่แม้เก็บได้ 3% แต่ก็เป็นกรมหลักในการควบคุมสินค้าเถื่อน ที่มากระทบชีวิตประชาชน หนึ่งในนั้นคือการควบคุมยางพาราเถื่อน จนส่งผลให้ราคายางในประเทศสูงขึ้น แต่เป็นเรื่องแปลกที่มีคนมาวิ่งเต้นกับกรมศุลกากรมากที่สุด ซึ่งตนได้พูดหลายครั้งว่ากรมศุลกากรมีการวิ่งเต้นสูงสุด แต่แปลกที่มีการจัดเก็บรายได้ได้แค่ 3% ถือเป็นเรื่องที่น่าสงสัย จึงเป็นที่มาที่ต้องพัฒนากรมศุลกากร ให้เป็นกรมศุลกากรที่มีความสะอาดบริสุทธิ์ ช่วยเหลือประชาชนได้จริงๆในหลายมิติ หรือเรื่องภาษีนำเข้าที่เป็นจุดรั่วไหลทำให้การจัดเก็บภาษีในประเทศไม่ดีเท่าที่ควร

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ตนไม่สบายใจหรือพึงพอใจ ตนขอใช้คำว่า ยังไม่พึงพอใจสำหรับการทำงาน 7 เดือนแต่ก็ต้องพยายามต่อไปและทำให้ทุกอย่างดียิ่งขึ้นไป รวมไปถึงเรื่องของการดึงดูดนักลงทุนเรื่องการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ปัญหายาเสพติด

นายกรัฐมนตรี ยังยอมรับว่า ต้องปรับตัวมากจริงๆ จากการเป็นธุรกิจสู่วงการการเมือง การเป็นซีอีโอของบริษัท ผู้ร่วมงาน คนรอบตัว ทั้งลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน สังคม เวลาบริหารจัดการต้องคำนึงถึง 4 เสาหลักนี้ แต่เมื่อเป็นผู้บริหารบริษัท ก็ได้รับการซัพพอร์ตเต็มที่จากคณะกรรมการและผู้ถือหุ้น แต่มาอยู่ในบริบทของนักการเมือง และเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มี 141 เสียง เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค 141 เสียงจาก 500 เสียง และมีผู้ร่วมงานที่ต่างกัน ทั้งประชาชน สส. สว. สถาบันความมั่นคง NGO นักข่าว หลายภาคส่วนต้องการการพูดคุยและการอธิบาย ดังนั้นตนขอใช้คำว่าหุ้นส่วน ในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งแต่ละพรรค สส. แต่ละคน ก็ไปสัญญากับประชาชนแตกต่างกันไปบ้าง ดังนั้นการบริหารจัดการงบประมาณก็มีส่วน ทำให้การขับเคลื่อนโครงการต่างๆช้าไปบ้าง 

แต่การทำงานร่วมกันมา 7 เดือน เชื่อว่าเรารู้ใจกัน มีการให้เกียรติกันและกัน เชื่อว่าการขับเคลื่อนและบริหารจัดการประเทศ และการช่วยเหลือประชาชนก็จะค่อยๆดีขึ้น 

ส่วนการเป็นนักธุรกิจ แล้วมาเป็นนายกฯ ย่อมมีเพื่อนเป็นนักธุรกิจ และมีเรื่องการเอื้อประโยชน์ นายกรัฐมนตรี มีวิธีปกป้องตัวเองไม่ให้มีคนเข้ามาขอผลประโยชน์อย่างไร นายกรัฐมนตรี ระบุว่า 

“หน้าที่ของตนไม่ใช่การเซฟตัวเอง ตนมั่นใจอยู่แล้วที่เดินมาสู่การเมืองมีจุดมุ่งหมายเดียว คือการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนในทุกมิติ ให้ดีขึ้น หากจะเซฟตัวเองตนไม่มีตรงนี้ เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนตนไม่มีแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามต้องพูดเรื่องทรัพย์สิน เรื่องของชีวิตส่วนตัว ส่วนตัวของผมลงตัวแล้ว ตนมีรายได้ในอดีตที่ดีพอสมควร มีทรัพย์สินที่ทำให้ตนอยู่ได้อย่างสบายๆ เรื่องการที่จะมาเอาผลประโยชน์ทางการเมืองตนไม่มี คนในครอบครัวมีความสุข มีหน้าที่การงานที่เหมาะสมแล้ว ซึ่งตนย้ำในวันแถลงนโยบายไปแล้วว่า 3 ปีครึ่งจากนี้ไป ตนมีเรื่องดียวคือยกระดับชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น และหวังว่าจะทำให้เพื่อไทยชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งผมได้ การที่มีเพื่อนเป็นนักธุรกิจเยอะ และตอนนี้ก็มีเพื่อน เป็นนักการเมืองเยอะ การที่จะต้องไปเก็บข้อมูลและรู้ลึกทุกเรื่อง และประสบการณ์ในวงการธุรกิจอีก 40 กว่าปี เชื่อว่ามีประสบการณ์มาเยอะพอที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม เพื่อประชาชน”

ส่วนการมานั่งเป็นผู้นำอาจจะต้องเสียเพื่อนไปบ้าง ในกรณีที่ไม่มีการสมประโยชน์กัน นายกรัฐมนตรีเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร นายกรัฐมนตรี ตอบว่า เป็นคำถามที่ดี เพราะตนเจอเพื่อนทุกคนก็คุยกันว่า คนอายุ 60 ปีแล้ว อยากทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ตนอยากไปดูฟุตบอลลิเวอร์พูลทุกนัด อยากเดินทางไปประเทศที่ไม่เคยไปทานอาหารอร่อยในทุกประเทศ อยากหาความสุขให้ตัวเอง แต่การเข้ามาในเวทีการเมือง อยากดูแลความเป็นอยู่ประชาชนให้ดีขึ้น 

“เมื่อได้ประกาศว่าอุทิศตนแล้ว และบอกเพื่อนฝูงว่าเรื่องต่างๆ ที่จะมาขัดขวางในการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้นหรือสภาพจิตใจ การถูกเอาเปรียบ จากผู้ที่ทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชนทั้งหลาย หากเพื่อนผมทำตัวแบบนั้นก็พร้อมที่จะเสียเพื่อน เพราะฉะนั้นมั่นใจว่าหากอีก 3 ปีครึ่งต้องมีเพื่อนน้อยลง แลกกับการที่ทำให้คนที่อยู่ในฐานพีระมิดดีขึ้น ผมก็พร้อม”

เมื่อถามว่า มุมมองทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนไปบ้างหรือไม่ หลังเข้าสู่วงการการเมือง นายกรัฐมนตรี ระบุว่า หลายคนอาจบอกว่านักการเมืองมีทั้งดีและเลว แต่บางคนที่บอกว่า นักการเมืองเลวเพราะการทุจริตประพฤติมิชอบ เรื่องนั้นชัดเจน แต่บางเรื่องเป็นเรื่องของความเห็นต่าง หรือวิธีการที่แตกต่างกัน มีวิธีการดูแลประชาชนต่างจากที่รัฐบาลมอง ดังนั้นการที่จะต้องจูนเข้าหากัน หรือเวลามีคนมาแนะนำเรื่องอะไร และเห็นชัดเจนว่าต้องการผลประโยชน์ส่วนตัว ตนคิดว่าคนพวกนั้นดูถูกต้นไปนิดนึง ตรงนี้ขออย่ามาทำกันดีกว่า ส่วนนักการเมืองจะมาขออะไรก็ขอให้อยู่บนบรรทัดฐานที่เหมาะสม 

ส่วนเรื่องของงบประมาณ ภาษาอังกฤษพี่บอกว่ามีคำภาษาอังกฤษที่บอกว่า “Bigger bang for the buck” หมายความว่า หากใส่เงินไป 1 บาท ผลตอบแทนต้องมากกว่า 1 เหรียญ พร้อมยกตัวอย่างว่าหากดูแลเรื่องไม่ท่วมไม่แล้วก็จะได้ผลประโยชน์สองต่อ คือ ผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้น แต่ละพรรค สส. แต่ละคน ก็อยากใช้งบประมาณเพื่อดูแลประชาชนในเขตของเขา ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องรับฟัง

ยก ’ฝ่ายค้าน‘ ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้ดี

นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานของฝ่ายค้าน ว่า ฝ่ายค้าน ก็ทำหน้าที่ได้ดี เป็นการเตือนสติ สิ่งใดที่ทำไม่ได้ดี ก็พร้อมรับไปพิจารณา ถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านอยู่แล้ว ที่ต้องมาดูแลเรื่องการใช้งบประมาณของรัฐบาล อะไรที่ทำยังไม่ดีพอ ก็พร้อมนำไปปรับปรุง อะไรที่มีขีดจำกัด ก็จะพักไว้ก่อน เมื่อถึงเวลาที่จะแก้ไขก็จะแก้ไข เชื่อว่าตนเองมีความเข้าใจ พยายามแยกแยะ ไม่โฟกัสเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หรืออะไรที่เป็นเกมการเมืองมากเกินไป พยายามไปโฟกัสเรื่องคำแนะนำที่เป็นผลดีกับประชาชน และอยู่ช่วงเวลาที่สามารถทำได้

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านเล่นการเมืองมากไปหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ประชาชนเป็นคนตัดสินดีกว่า เพราะไม่อยากสร้างประเด็นทางการเมือง พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้ละเลยเรื่องรายละเอียด บางเรื่องมีระยะเวลาก็ต้องพยายามจัดการกันไป หรือบางเรื่องก็พยายามกำหนดกรอบเวลา หลายอย่างที่พยายามทำมา ก็ต้องมาช่วยกันดู ทั้งรายละเอียดงบประมาณ การทุจริตประพฤติมิชอบ

ต้องปรับจูนทำความเข้าใจ ‘สส.เพื่อไทย’

เศรษฐา ให้สัมภาษณ์ถึงความสัมพันธ์กับ สส.พรรคเพื่อไทย ที่ยังมีเสียงสะท้อนจากภายในพรรคว่าระหว่างนายกฯ กับ สส.ที่ยังมีระยะห่างกันมาก และส่วนหนึ่งมาจากการเข้มงวดเรื่องงบประมาณ ว่า หลายโครงการที่ขอมาก็มีได้ อย่างที่บอกงบประมาณมีจำกัด และตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ดูแลภาษีของประชาชนและมีหน้าที่ตอบกับรัฐสภาว่าภาษีนั้นมีการใช้อย่างเหมาะสมหรือไม่ เช่น การสร้างสนามบิน ด่านชายแดนต่างๆ ต้องดูให้ดี เพราะมีการพูดคุยมและดูองค์ประกอบหลายๆอย่าง จึงอยากค่อยๆทำ ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป ขอให้ถึงเวลาก่อน ซึ่งหน้าที่ของตนเองก็ต้องปรับจูนระหว่างตนเองกับ สส.ของพรรคตลอดเวลา เพราะตนเองต้องหลังพิงประชาชน เพราะเป็นคนที่ส่งให้ตนเองมายืนอยู่ตรงนี้ และต้องผ่าน สส.ที่มีถึง 141 คน ยังไงก็ต้องโน้มน้าวเข้าหาตลอดเวลา และพยายามอธิบายให้เข้าใจว่าเรื่องคืออะไร ประเด็นคืออะไร เหตุผลที่ให้ได้และให้ไม่ได้ หรือทำไมต้องได้งบประมาณน้อยลงหรือเพิ่มขึ้น 

ซึ่งเรื่องของการพูดคุยเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ได้น้อยใจ ไม่ได้โกรธ ไม่ได้งอน ยังต้องพยายามไปพบปะพูดคุย หาวิธีสื่อสารให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่ สส.พรรคเพื่อไทยอย่างเดียว เพราะตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ซึ่งในสัปดาห์หน้า ตนเองจะลงพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต ไปดูการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสที่ 4 

ส่วนเรื่องการบริหารอารมณ์นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า คิดว่าคนเราก็เป็นคน ก็มีอารมณ์บ้างและตนเองไม่ได้เป็นนักการเมืองอาชีพ ซึ่งตนเองเข้าใจว่าถ้าเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องไม่มีสิทธิ์เลือกโกรธ ต้องพยายามรับฟัง ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ให้ดี ซึ่งตรงนี้ก็พยายามทำให้ดียิ่งขึ้นอยู่ บางเรื่องก็เข้าใจได้ ก็พยายามฝึกกันต่อไป

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้เป็นนักธุรกิจแล้วใจร้อนมาก แต่เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ใจเย็นขึ้นเยอะ จนเพื่อนบ่น เศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ หรือให้สื่อมวลชนเป็นคนสะท้อนว่ามีการพัฒนาอย่างไร ถ้าถามว่าทำได้ดีพอหรือยัง ต้องตอบว่ายังไม่ดี ต้องพยายามกันต่อไป เมื่อเป็นบุคคลสาธารณะแล้วก็ต้องรับฟังทุกๆคำถาม

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More