“ตั๋วช้าง” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็น”เรื่องใหญ่”และแก้ไขยาก หากนับจากความพยายามในการปฎิรูปตำรวจเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลลุงตู่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะวงการตำรวจที่ ตั้งแต่การแต่งตั้ง ผบ.ตร.ที่ลากยาวมาตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ จนถึงรัฐบาลเพื่อไทยเข้าสู่ยุค “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ คนปัจจุบัน
และคำพูดของ นายกฯ “เศรษฐา” เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย “ผู้กำกับการ” ในการประชุม สส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2566 ติดเทรนด์ X (ทวิตเตอร์) ทำให้คำว่า “ตั๋วเพื่อไทย” ติดอันดับหนึ่งทันที
ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ “การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ” ระดับสัญญาบัตร ดังขรมขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้บาดแผลเดิมที่มีอยู่แล้ว ถูกกรีดซ้ำและขยายปากแผลให้กว้างมากขึ้น งานนี้ไม่ใช้แค่ทำให้เลือดออกซิบๆ เท่านั้น
“ตั๋วช้าง” ส่งผลสะเทือนตำแหน่ง “นายกฯ”
แต่ผลสะเทือนจากข้อความที่นายกฯ ปล่อยออกมานั้น ทำให้ “ศรีสุวรรณ จรรยา” ผู้นำองค์กรรักชาติฯ กระโดดคว้าทันทีด้วยการบุกร้องป.ป.ช.ว่า นายกฯนิด ในฐานะประธานก.ตร. มีการกระทำที่ใช้อำนาจหน้าที่ ซึ่งเข้าข่ายแทรกแซง การปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับผู้กำกับ
ถือเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 185 วรรค 3 ประกอบมาตรา 186วรรค 2 เข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง
ปี 2564 รังสิมันต์ โรม สส.จากพรรคก้าวไกล เคยออกมาเขย่า เรื่อง“ตั๋วช้าง”เมื่อครั้งอภิปรายไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแล้ว โดยครั้งนั้นคำว่า “ตั๋วช้าง” ได้ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ อันดับ 1 มาแล้ว
จับกระแสการเมือง : วันที่ 8 มิ.ย.2566 “ประเด็นตั๋วช้าง”
แน่นอน คราวนี้ “ รังสิมันต์ โรม” ก็ไม่พลาด โดยชี้ข้อกฎหมายว่า คำพูดของนายกฯนิด เข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย 3 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 185, จริยธรรมนักการเมือง และ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เพราะโดยหน้าที่นายกฯ ไม่มีอำนาจ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับผู้กำกับการ แต่มีการลงรายละเอียดถึงตัวบุคคล ทำให้สุดท้ายถูกมองว่าเป็น “ตั๋วเพื่อไทย”
“โรม” ชี้ “นายก ” พูด ปม สส.ขอแต่งตั้ง ผู้กำกับ เข้าข่ายผิดกม. 3 ฉบับ
ซึ่งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 185 ระบุชัดว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะ หรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทำการใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”
หรือแม้แต่ใน มาตรา 186 วรรคท้ายระบุว่า รัฐมนตรีต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยมิชอบตามที่กำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรม
ขณะที่นายกฯออกมาตอบคำถามสื่อมวลชนในวันรุ่งขึ้น (22 พ.ย.2566) โดยปฎิเสธทันควันว่า ได้พูดเรื่องปัญหายาเสพติด พูดเรื่องงาน และเรื่องความ ไม่ได้พูดเรื่องคน
“เศรษฐา” แก้เกี้ยว #ตั๋วเพื่อไทย ยันไร้อำนาจโยกย้าย ตร.
นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจแทรกแซง และไม่เคยก้าวก่าย การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เพราะเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะต้องพิจารณาตามผลงาน
...ไม่เคยก้าวก่าย หรือไปสั่งการกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและการแต่งตั้ง ผกก. และไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจของนายกฯ ด้วย..คำปฏิเสธของนายกรัฐมนตรี
จับกระแสการเมือง : 22 พ.ย.2566 พิษปากพาไป “เศรษฐา” จาก “ขี้ข้า” ถึงตั๋วเพื่อไทย
“ศรีสุวรรณ” จ่อยื่น ป.ป.ช.สอบจริยธรรมนายกฯ ปมตั๋วผู้กํากับ
“แพทองธาร” เลี่ยงตอบปม “ตั๋วเพื่อไทย” อ้างนายกฯตอบแล้ว
อดีตบิ๊ก ตร.ชี้ “ตั๋ว” ใครเสี่ยงทำผิด “วินัย-อาญา”
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตรอง ผบ.ตร. และ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวตอนหนึ่งใน “รายการข่าวเจาะย่อโลก” ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2566 ว่า ถ้าบอกว่าไม่มี หรือไม่เกิดขึ้น คงไม่ใช่ เพียงแต่ว่าถ้าพูดให้เห็นภาพ คือไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าย้อนไปนิดหนึ่งอยากจะเรียนให้ทราบว่า ปัญหาทั้งหมดมันเป็นโจทย์ เรื่องตั๋ว เรื่องซื้อขายตำแหน่ง มันเป็นที่มาของการปฏิรูปตำรวจ และเวลานี้ ก็ต้องถือว่ามีการปฏิรูปในส่วนนี้แล้ว
เพราะกฎหมายใหม่ที่ออกมา กำหนดหลักเกณฑ์ลงรายละเอียดในเรื่องการปฏิบัติ เกี่ยว กับเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย มีการสอบทาน เรียกว่า ทุกขั้นตอน และที่สำคัญกำหนดไว้เป็นความผิดวินัย เป็นความผิดอาญา
แต่เดิมกรณีการวิ่งเต้น แต่งตั้งโยกย้าย ทำแล้วผิดระเบียบ ทำแล้วไม่ถูกต้อง ก็มีการร้องทุกข์ สั่งแก้ไขเยียวยา ก็คือย้ายกลับ หรืออะไรทำนองนี้ แต่ผู้บังคับบัญชาไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่โดนวินัย ไม่ถูกลงโทษอะไรเลย ก็เรียกว่าเจ๊ากันไป แต่ตอนนี้ในกฎหมายใหม่ ไม่ได้
นอกจากนี้พล.ต.อ.เอก ยังระบุว่า เราอยู่ในสังคม อยู่ในแวดวง ในแต่ละส่วน ในแต่ละภาค เขาจะรู้กันว่า ทำไมคนนี้ได้คนนี้ไม่ได้ คนนี้มาทางไหน ใครสนับสนุน เป็นลูกน้องใคร อย่างนายพลนี่ผมเห็นรายชื่อนี่บอกได้เลยว่า เติบโตมายังไง เป็นลูกน้องใคร ใครเป็นผู้สนับสนุน เขาดี เขาไม่ดียังไง อันนี้มันเป็นสังคมของเรา เราอยู่กันมา 30-40 ปี
“พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์” อดีต รอง ผบ.ตร. “ชี้ทางล้างตั๋ววิ่งเต้น”
“ผู้กำกับ-รองผกก.” พื้นที่ว่างยังเหลือ
ไทยพีบีเอสออนไลน์ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับนายตำรวจ ยศ “พ.ต.อ.” ระดับ “ผู้กำกับการ” หรือตำแหน่งอื่น ๆ ที่เทียบเท่า หรือ สัญญาบัตร 4 (สบ.4) ทุกหน่วยทั่วประเทศ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ปัจจุบัน (พ.ย.2566) มีทั้งสิ้น 3,619 นาย
มีนายตำรวจยศ “พ.ต.ท.” ตำแหน่ง “รอง ผกก.” หรือตำแหน่งอื่น ๆ ที่เทียบเท่า ทั่วประเทศ จำนวน 7,941 นาย
จำนวนนี้มีทั้งผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร “ผู้กำกับการ” จากวิทยาลัยการตำรวจ มาแล้ว และผู้ที่อยู่ระหว่างการอบรมหลักสูตรนี้ ประจำปี 2566 (รุ่นที่ 137-142) รุ่นละประมาณ 120-140 คน รวมประมาณ 700 คน
หมายความว่า หากมีการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับ “ผู้กำกับการ” ในวันที่ 30 พ.ย.2566 นี้ ผู้ที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้กำกับ จากรุ่นที่ 137 (ก.พ.-มิ.ย.2566) จนถึง รุ่นที่ 142 (พ.ค.-ก.ย.2566) อาจจะไม่ได้รับการพิจารณา
ดังนั้นจึงทำให้มีผู้ที่ “เข้าเกณฑ์” ได้รับการพิจารณา ประมาณ 7,000 คน ซึ่งจำนวนนี้ต้องพิจารณา ลงในรายละเอียดของแต่ละบุคคลอีกว่า มีอาวุโสลำดับไหน มีความสามารถอย่างไร ผ่านการฝึกอบรมอะไรมาบ้าง เป็นต้น
และหากค้นข้อมูลเพิ่มเติมไปอีกว่า ในปี 2566 มีนายตำรวจระดับ “ผู้กำกับ” หรือเทียบ เท่า เกษียณอายุราชการกี่คน พบว่า ในตำแหน่งผู้กำกับการหรือเทียบเท่า เกษียณทั้งหมด 187 คน
ขณะที่มีนายตำรวจยศ พ.ต.อ. ดำรงตำแหน่ง “รองผู้บังคับการ” ซึ่งสูงกว่า “ผู้กำกับการ” ชั้นหนึ่ง เกษียณอายุราชการ 73 คน หมายถึงจะมีตำแหน่ง “ผู้กำกับการ” ว่าง 187 คน จากการเกษียณ และจะได้รับการเลื่อนขึ้นไปแทนที่ “รองผู้บังคับการ” จำนวน 73 คน รวมตำแหน่งที่ว่าง 260 คน
เปิดช่องว่าง “สาเหตุ”ต้องวิ่งเต้น
หากเปรียบเทียบตัวเลข ตำแหน่งที่ว่าง 260 ตำแหน่ง แต่มีคน 7,000 คน ที่ล้วนแล้วแต่มีโอกาสจะได้รับการพิจารณา การสร้างความได้เปรียบให้ตัวเองจึงเกิดขึ้น
“การวิ่งเต้น” ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม เป็นพฤติกรรมที่คนในวงการสีกากีต่าง “รู้รู้”กันไม่ว่าจะเป็นผ่านตัวบุคคลในทุกระดับชั้นตั้งแต่ระดับ ผู้บังคับบัญชา อดีตผู้บังคับบัญชา เครือญาติ นักการเมืองทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น นักธุรกิจ หรือแม้แต่เรียกกันว่า “ตั๋วนักข่าว”
พล.ต.อ.เอก มีคำอธิบายว่า ต้องแยกแยะว่าฝ่ายสนับสนุนก็ส่วนหนึ่ง แม้กระทั่งเวลานี้ คนทำงาน คนที่มีความรู้ความสามารถ ก็ต้องให้ผู้บังคับบัญชาช่วย Recommend ให้ด้วย
เปรียบเสมือน ถ้าจะไปเรียนหนังสือต่างประเทศ ถึงแม้เรียนเก่งอยู่แล้ว สอบได้แล้ว แต่ก็ต้องมีหนังสือรับรองจากผู้บังคับบัญชาไปประกอบ เรื่องพวกนี้มันเป็นธรรมเนียม ประเพณีปฏิบัติว่า อยู่จนอาวุโสครบ มีเกณฑ์ที่จะเลื่อนขึ้น ก็จะต้องมีการรับรอง
พล.ต.อ.เอก บอกอีกว่า สำหรับตนคำว่าตั๋ว ถ้ามีตั๋วมา หมายถึงต้องทำตามนี้ แต่ว่าคำรับรอง คำแนะนำ ของผู้บังคับบัญชา จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ เพียงแต่อาจจะทำให้ได้รู้ข้อมูลเพิ่มขึ้น
ผมไม่อยากใช้คำว่า มันเหมือนวัฒนธรรมขององค์กรไปแล้ว เรื่องการฝากฝัง เรื่องการแนะนำ ในความรู้สึกผม เป็นความคุ้นชินทั่วไป ซึ่งหนักๆ เข้ามันไม่ใช่แค่ผู้บังคับบัญชา เป็นบุคคลนอกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม
พล.ต.อ.กล่าวว่า ในยุคตนเป็นรอง ผบ.ตร.มีเรื่องโด่งดัง มีจดหมายแนะนำมาจากผู้บริหารระดับสูงนอกหน่วย และมีการเอาไปเปิดเผย พาดพิงถึงผู้หลักผู้ใหญ่ ทุกคนก็รับรู้ ก็เป็นเรื่องเสียหาย เข้าใจได้ว่ามันไม่สมควร ไม่น่าจะมี แต่ภาพรวมของสังคมไทย เราคงปฏิเสธไม่ได้ ความสัมพันธ์ของผู้คน ของผู้บริหารระดับสูง
วงการสีกากี ”วงจรอุบาทว์” ที่ไร้หลักฐาน
นอกจาก “ตั๋วช้าง” การวิ่งเต้นแต่งตั้งโยกย้ายอีกประเด็นที่หนีไม่พ้น คือ การจ่ายเงินค่าตำแหน่ง หรือพูดง่ายๆคือ การใช้เงินเป็นใบเบิกทางในการแต่งตั้งโยกย้าย
พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า ในยุครุ่นตนที่จะขึ้นเป็นสารวัตร เมื่อ 30 ปีที่แล้ว หากเป็นสารวัตรต้องจ่าย 3 แสนบาท รอง ผกก. 5 แสนบาท ถ้า 7 แสนบาท จะได้เป็นผู้กำกับการ เป็นวัฏจักร เป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีการจับได้คาหนังคาเขา ไม่มีการลงโทษกัน
การขอตำแหน่ง การวิ่งเข้าหานักการเมือง คงเป็นเรื่องจริง คงปฏิเสธไม่ได้ เพียงแต่ว่ามันไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีผู้เสียหาย ไปร้องเรียนหรือมีการตรวจสอบกันอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม แม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่า การแต่งตั้งโยกย้ายระดับ “ผู้กำกับการ” จะต้องมีทั้ง “ตั๋ว” และ “เงิน” แต่ก็ไร้หลักฐานและไม่มีใครกล้ายืนยันได้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง หรือมีอยู่จริง