เนปาลให้การรับรองการจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกันเป็นชาติแรกในเอเชียใต้ ซึ่งนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิทางเพศต่างกล่าวยกย่องว่าเหตุการณ์นี้นับเป็นชัยชนะของสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ในเนปาล
เจ้าหน้าที่ในเขตลัมจุง ซึ่งเป็นพื้นที่ทางตะวันตกของเนปาล ได้รับจดทะเบียนสมรสของ มายา กูรัง วัย 35 ปี หญิงข้ามเพศที่ไม่ได้ขอการเปลี่ยนเพศในเอกสารราชการ และ สุเรนทรา ปาเดย์ วัย 27 ปี ชายคนรักของเธออย่างเป็นทางการ เมื่อช่วงวันพุธที่ผ่านมา (29 พ.ย.) หลังจากเมื่อ 5 เดือนที่แล้วที่ศาลฎีกาเนปาลได้ออกคำสั่งชั่วคราว ให้คู่รักเพศเดียวกันในเนปาลสามารถจดทะเบียนสมรสด้วยกันได้
ก่อนหน้านี้ ไต้หวันเป็นเพียงแค่รัฐแห่งเดียวในเอเชีย ที่ผ่านกฎหมายให้มีการสมรสในเพศเดียวกันได้
กูรัง ซึ่งเป็นหญิงข้ามเพศ ระบุกับสำนักข่าว BBC ว่าการจดทะเบียนสมรสของพวกเธอและสามีถือเป็น “วันสำคัญ” ไม่ใช่แค่สำหรับคู่รักของเธอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชนกลุ่มน้อยทางเพศทั้งหมดในเนปาลด้วย “การต่อสู้เพื่อสิทธิไม่ใช่เรื่องง่าย เราได้ทำมันสำเร็จแล้ว และมันจะง่ายขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป” กูรังกล่าว “การจดทะเบียนได้เปิดประตูสู่หลายสิ่งหลายอย่างสำหรับเรา”
คู่สามีภรรยาใหม่คู่นี้ระบุว่า เขาและเธอต้องการเปิดบัญชีธนาคารร่วมกัน และแบ่งปันกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่พวกเขาและเธอซื้อเอาไว้ แต่ความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทั้สองคือการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม เมื่อสถานภาพการเงินของพวกเขามีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ทั้งสองใช้ชีวิตรักร่วมด้วยกันมาเกือบทศวรรษ โดยทั้งคู่จัดพิธีแต่งงานระหว่างกันที่วัดแห่งหนึ่งในเนปาล เมื่อช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลแขวงในกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล ปฏิเสธที่จะอนุญาตให้มีการจดทะเบียนสมรสในเพศเดียวกันระหว่างกูรังและปาเดย์ แม้จะมีคำสั่งของศาลฎีกาที่สั่งให้รัฐบาลเนปาลให้การรับรองการจดทะเบียนสมรสของทั้งสองจนกว่าจะมีการเตรียมการออกกฎหมาย เพื่อแก้ไขกฎหมายสมรสเดิมที่มีเฉพาะในชายและหญิง โดยศาลแขวงให้เหตุผลแย้งว่า ศาลชั้นต้นไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวของศาลฎีกา เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวมุ่งเป้าบังคับไปที่รัฐบาลเท่านั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เฮม ราช คาฟเล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของเทศบาลชนบทดอร์ดี กล่าวกับสำนักข่าว Reuters ว่า “เราได้ออกทะเบียนสมรสให้กับทั้งคู่แล้ว จากการพิจารณาคำสั่งศาลฎีกาและคำแนะนำจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง”
ซูนิล บาบู ปันต์ แกนนำนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ LGBTQ+ ในเนปาล เรียกช่วงเวลา “ประวัติศาสตร์” นี้ว่าเป็นชัยชนะของชนกลุ่มน้อยทางเพศและทางเพศสภาพ ทั้งนี้ ปันต์กล่าวเสริมอีกว่า “ตอนนี้ เราสามารถจดทะเบียนสมรสได้เหมือนกับคู่รักทั่วๆ ไป แต่เรายังต้องทำมากกว่านี้เพื่อให้ได้สิทธิอื่นๆ”
ที่มา: