เวทีรับฟังความคิดการขอประทานบัตร ‘เหมืองหินเตราะปลิง’ ล่ม อุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี จ่อพิจารณาประชามติในพื้นที่สัมปทานเหมืองต่อไป
วันนี้ 14 ธันวาคม 2566 อุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี จัดเวทีรับฟังความคิดการขอประทานบัตรเลขที่ 1/2565 เหมืองแร่ประเภทที่ 2 ชนิดหินแกรนิตเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ของบริษัท อิบนู อัฟฟาน แกรนิต กรุ๊ป จำกัด โดยการจัดเวทีในวันนี้เป็นความพยายามที่จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งที่ 1 จัดไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566
เครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิง ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสัมปทานเหมืองหินครั้งนี้ ประกาศเเถลงการณ์ ระบุว่า ความพยายามครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นในวันนี้ เป็นการไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียที่ปรากฏเป็นที่ประจักษว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการระเบิดภูเขาทำเหมืองแร่ที่เขาเตราะปลิง
โดยเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 อุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ได้ให้บุคคลที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ หมู่ 4 ตำบลทุ้งคล้า อำเภอสายบุรี และหมู่ 4 ตำบลลางา อำเภอมายอ เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรเหมืองแร่ แต่กลับไม่ปรากฏบุคคลที่มีที่ดินทำกินอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีการยื่นคำขอประทานบัตรถูกเชิญชวนเข้าร่วมเวที อีกทั้งชุมชนที่ใช้สายน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค จากลำห้วยเตราะปิงที่มีต้นน้ำจากแหล่งภูเขาที่มีการขอประทานบัตร รวมถึงประชาชนที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่รอยต่อของบ้านเตราะปลิง หมู่ 4 ซึ่งอยู่ในรัศมีที่จะได้รับผลกระทบการจากการระเบิดภูเขาทำเหมืองหิน ไม่ว่าจะด้วยแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิด มลภาวะทางเสียง มลพิษทางอากาศ และสารปนเปื้อนรวมถึงตะกอนหินดินทรายที่กระทบต่อแหล่งน้ำอันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิมจนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้อีก
ประชาชน ชุมชน และเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากการระเบิดภูเขาตามที่กล่าวมา กลับไม่ถูกระบุอยู่ในผู้มีสิทธิเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดที่จัดโดยอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งคนเหล่านั้นต่างก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเช่นเดียวกัน ในเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเพียงเวทีที่หน่วยงานอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี เปิดพื้นที่ให้บริษัทที่ขอประทานบัตรใช้พื้นที่เวทีในวันดังกล่าวโฆษณาชวนเชื่อเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านตามที่ควรจะเป็น และเวทีพิธีกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน
ในนามของเครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิง ขอยืนยันว่าการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมปลอมๆ และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่เก็ดขึ้นทั้งหมดเป็นเพียงพิธีกรรมที่จัดทำขึ้นให้ครบถ้วนตามกรอบที่กฎหมายกำหนดเพียงเท่านั้น อีกทั้งก่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ มีการใช้พฤติกรรมของชนที่ไร้ซึ่งอารยะ ทั้งข่มขู่ คุกคาม ประชาชนที่คัดค้านโครงการเหมืองหินอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ เพื่อหวังจะให้ประชาชนผู้รักในแผ่นดินเกิดหยุดเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการของบริษัทที่มีการยื่นขอประทานบัตร
เราขอตั้งคำถามไปยัง สหกรณ์ อิบนู อัฟฟาน ว่า ทำไมถึงยังดันทุรัง เดินหน้าขอประทานบัตรทำเหมืองทั้ง ๆ ที่ข้อมูลความเสียหาย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน วิถี และทรัพยากร ประจักรชัดอยู่แล้วว่ามีผลเสียมากกว่าผลได้ หรือท่านไม่ได้ใยดีกับหลักคุณธรรม ความเป็นธรรม ในการประกอบการทำธุรกิจใดๆ หวังเพียงกอบโกยผลประโยชน์ ผู้คน ชุมชน รอบเขาเตราะปลิงก็ไม่สนใจใยดีหรือ
ทั้งนี้เครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิงขอยืนยันว่าการกระทำของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการระเบิดภูเขาในวันนี้ เป็นเพียงการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อขอให้มีการยกเลิกโครงการเหมืองหินนี้โดยทันทีและเครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิง ขอเรียกร้องให้สภาเทศบาลตำบลเตราะบอนเปิดประชุมสภาเพื่อลงมติเพิกถอนมติการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ หมู่ 4 ตำบลทุ่งคล้า ในดำเนินการโครงการระเบิดภูเขาเหมืองหินโดยเร็ว เพื่อตอบสนองต่อเจตนารมณ์เสียงคัดค้ายของประชาชนผู้ทรงอำนาจที่เลือกพวกท่านเข้ามาทำหน้าที่
ด้านอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานีที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ได้กล่าวภายหลังการกล่าวเปิดประชาชนเครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิง ได้แสดงตัวชูป้ายแสดงออกถึงข้อความที่คัดค้านโครงการ ทางอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ประกาศยุติเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 และประกาศว่าขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ คือการทำประชามติโครงการต่อไป
ย้อนไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 เครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิง และประชาชนในพื้นที่รอบเขาเตราะปลิง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สัมปทานทำเหมืองหิน ร่วมกันจัดเวทีประชาชนคม “เวทีประชาคม ประชาชนกำหนดอนาคตตนเอง” ที่วัดเตราะปลิง บ้านเตราะปลิง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยในเวทีดังกล่าวมีเชิญนักวิชาการ นักการแพทย์ และนักกฏหมาย มาให้ข้อมูลแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดจากโครงการระเบิดภูเขาทำเหมืองแร่ ในพื้นที่ชุมชนหมู่ 4 บ้านเตราะปลิง โดย บริษัท อิบนู อัฟฟาน แกรนิต กรุ๊ป จำกัด ได้มีการยื่นคำขอประทานบัตรเลขที่ 1/2565 ทำเหมืองแร่ประเภทที่ 2 ชนิดแร่หินแกรนิตเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง
อีกทั้งในเวทีประชาคมประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แสดงความห่วงกังวลสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมที่ถือเป็นวิถีอาชีพที่หาเลี้ยงปากท้องหลักของคนในพื้นที่ และครับเรือนผู้ใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภค จากลำห้วยเตราะปลิง ซึ่งมีต้นน้ำมาจากภูเขาที่ถูกขออนุญาตประทานบัตรทำเหมืองหิน ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรง ชาวบ้านยังกล่าวเสริมอีกว่าในอดีตช่วงปี 2540 – 2545 ภูเขาเตราะปลิงเคยถูกระเบิดหินมาแล้ว ซึ่งผลพวงจากการระเบิดหินในครั้งนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงกับสวนทุเรียนที่เสียหายจากการระเบิดภูเขาเอาหิน ประกอบกับสายน้ำจากลำห้วยเตราะปลิงยังได้รับความเสียหายจากการระเบิดภูเขาอย่างหนักอีกด้วย จากสายน้ำที่ไหลเชี่ยว มีแอ่งลึกตลอดลำน้ำ และมีน้ำตลอดปี เสียหายกลายเป็นลำน้ำตื่นที่มีตะกอนหินดินทรายจากการระเบิดภูเขาไหลกลบแอ่งน้ำลึก ต้นน้ำเสียหาย ทำให้น้ำจากลำน้ำเตราะปลิงแห้งเหือด จะมีน้ำก็เฉพาะในช่วงหน้าฝนเท่านั้น ผ่านมา 20 ปี ธรรมชาติสามารถเยียวยาตัวเอง สามารถฟื้นฟูระบบนิเวศน์จนภูเขาตลอดแนวเขาเตราะปลิงกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง
การที่เขาเตราะปลิง ถูกประกาศเป็นแหล่งหิน และบริษัท อิบนู อัฟฟาน แกรนิต กรุ๊ป จำกัด เข้ามาของสัมปทานทำเหมืองหินอีกครั้ง จะเป็นการทำให้ทรัพยากรธรรมชาติรอบภูเขาเตราะปลิง และชุมชนโดยรอบได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง และในวันที่ 14 ธันวาคม 2566 นี้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี กำหนดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนอีกครั้ง เพื่อประกอบการขอสัมปทานทำเหมืองหินเขาเตราะปลิง ซึ่งทางเครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิง และ ประชาชนที่เข้าร่วมเวทีประชาคมในวันนี้ประกาศเจตนารมณ์ยืนยันชัดเจน “ไม่เอาเหมืองหินเขาเตราะปลิง” โดยได้ทำการยกมือประชาคม 100 % ไม่เห็นด้วยกับการทำเหมืองหิน และเตรียมสรุปผลการจัดเวทีประชาคมครั้งนี้ยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดการจัดเวทีประชาคมครั้งนี้มีผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานีเข้าร่วมสังเกตการณ์ในเวทีตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดเวทีประชาคม