ปลัดมหาดไทย เปิดเผยยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบครบ 2 สัปดาห์ ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 94,415 ราย มูลหนี้ 5,458 ล้านบาท เน้นย้ำ ยังคงเปิดรับลงทะเบียนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่การบูรณาการหาแนวทางไกล่เกลี่ยหนี้ และการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม
วันนี้ (14 ธ.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้เปิดรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวันที่ 14 ซึ่งจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. มีมูลหนี้รวม 5,458.426 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 94,415 ราย โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 84,184 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 10,231 ราย จำนวนเจ้าหนี้ 64,961 ราย โดยพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับ
- ยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร มีผู้ลงทะเบียน 6,012 ราย เจ้าหนี้ 4,925 ราย มูลหนี้ 461.689 ล้านบาท
- จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 4,027 ราย เจ้าหนี้ 3,147 ราย มูลหนี้ 233.689 ล้านบาท
- จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 3,774 ราย เจ้าหนี้ 2,587 ราย มูลหนี้ 233.577 ล้านบาท
- จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 3,674 ราย เจ้าหนี้ 2,250 ราย มูลหนี้ 264.948 ล้านบาท
- จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 2,438 ราย เจ้าหนี้ 1,846 ราย มูลหนี้ 168.493 ล้านบาท
ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 127 ราย เจ้าหนี้ 79 ราย มูลหนี้ 5.202 ล้านบาท
- จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 191 ราย เจ้าหนี้ 125 ราย มูลหนี้ 13.942 ล้านบาท
- จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 255 ราย เจ้าหนี้ 173 ราย มูลหนี้ 8.240 ล้านบาท
- จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 316 ราย เจ้าหนี้ 184 ราย มูลหนี้ 9.930 ล้านบาท และ
- จังหวัดมุกดาหาร มีผู้ลงทะเบียน 345 ราย เจ้าหนี้ 220 ราย มูลหนี้ 19.679 ล้านบาท
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้ครบ 2 สัปดาห์ของการเปิดรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งพบว่ายังคงมีพี่น้องประชาชนลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ และเดินทางมาลงทะเบียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียน โดยได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนที่กำลังประสบปัญหาการเป็นหนี้นอกระบบ ได้แสดงตัวด้วยการลงทะเบียนตามช่องทางดังกล่าว ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้ที่ทำการปกครองอำเภอได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจ สรรพากร ดำเนินมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ตามแนวทางที่ได้มอบนโยบายไว้
“นอกจากนี้ยังได้กำชับนายอำเภอทุกอำเภอได้ใช้กลไกทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ได้ร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน กรรมการคุ้มบ้าน ช่วยกันสอดส่องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่เดือดร้อนจากหนี้นอกระบบ เพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเหล่านั้น และช่วยกันดูแลด้วยการส่งเสริมหลักการพึ่งพาตนเอง ทั้งการปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ไข่ ไว้บริโภคในครัวเรือน และสร้างการรับรู้กับประชาชนผู้เดือดร้อนอย่างสม่ำเสมอว่า ทุกปัญหามีทางออก ทุกเรื่องความเดือดร้อนมีทางแก้ไข” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวอีกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญซึ่งกระทรวงมหาดไทย ยังคงบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด การใช้ความรุนแรง การข่มขู่คุกคามประชาชนผู้เดือดร้อนจากหนี้นอกระบบ ที่นอกจากเป็นการซ้ำเติมผู้ที่เดือดร้อนแล้ว ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างยิ่ง จึงได้มีการจัดตั้งโต๊ะข่าวในทุกพื้นที่อำเภอ และออกตรวจติดตามข่าวของฝ่ายปกครองอย่างต่อเนื่อง โดยหากพบการกระทำความผิด ดังเช่นที่มีเหตุการณ์ใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่ หรือการทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ผู้ที่กระทำความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
“ขอเชิญพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ได้ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือวอร์คอินได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย