หน้าแรก Thai PBS “สว.สมชาย” ชี้ “พักโทษ-ลดโทษ” ต้องไม่มีวาระซ่อนเร้นเฉพาะราย

“สว.สมชาย” ชี้ “พักโทษ-ลดโทษ” ต้องไม่มีวาระซ่อนเร้นเฉพาะราย

79
0
“สว.สมชาย”-ชี้-“พักโทษ-ลดโทษ”-ต้องไม่มีวาระซ่อนเร้นเฉพาะราย

 วันนี้ (24 ธ.ค.2566) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ข้อเสนอต่อสังคมเรื่องการพักโทษ ระบุว่า การพักโทษ การลดโทษ การอภัยโทษ การปล่อยตัวเร็วกว่ากำหนดหรือการคุมประพฤติแบบมีเงื่อนไขฯ ยังคงมีความจำเป็นอยู่ตามโอกาสตามสมควร เพื่อจูงใจให้นักโทษมีความหวัง ไม่ก่อการจลาจล ลดความแออัดในเรือนจำ นำไปสู่การคืนคนดีกลับสู่สังคม เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องด้วย

แต่ต้องพิจารณาโดยใช้หลักนิติรัฐนิติธรรมเป็นสำคัญ ตรงไปตรงมา ไม่มีวาระซ่อนเร้น เฉพาะราย โดยต้องให้ทุกองคาพยพในกระบวนยุติธรรมมีส่วนร่วมพิจารณาและตรวจสอบได้ มิใช่ปล่อยให้หน่วยใดมีอำนาจเพียงลำพัง เพราะอาจนำไปสู่การเสื่อมศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบ ดังที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงขอเสนอข้อมูลความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆในสังคม ช่วยกันพิจารณา ดังนี้

  1. วิธีแก้ปัญหาคนล้นคุกด้วยวิธีปล่อยตัวเร็วขึ้นกับนักโทษที่ได้รับผลกระทบจากการลงโทษ (Early release of sentenced prisoners) ในต่างประเทศนั้น มักจะใช้กับนักโทษที่เฉพาะกลุ่มคดีไม่ร้ายแรง เปิดโอกาสให้กลับตัว และมุ่งเน้นเฉพาะที่เป็นเด็กเยาวชน ผู้ติดยาเสพติดผิดเล็กน้อยไม่ใช่ตัวการสำคัญ ผู้บกพร่องทางจิตและผู้หญิง ฯลฯ ด้วยการให้ ลาพักโทษ ลดโทษ อภัยโทษ ปล่อยตัวก่อนกำหนด คุมประพฤติแบบมีเงื่อนไข ฯลฯ จะไม่ใช้กับนักโทษคดีอาญาร้ายแรง คดีอุกฉกรรจ์ หรือคดีทุจริตคอร์รัปชัน
  2. หลักยุติธรรมสากลในประเทศที่ได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาสูง จะพิจารณาการลดโทษ พักโทษหรือปล่อยตัว ร่วมกันถึงกำหนดโทษที่ศาลพิพากษากับการมีระยะเวลาปลอดภัยของสังคม และต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมในการพิจารณาเช่น เจ้าทุกข์ ญาติ ตำรวจ ราชทัณฑ์ อัยการ แพทย์ ภาคประชาสังคม ฯลฯ โดยศาลเป็นผู้พิจารณาให้มีการลดโทษ พักโทษหรือปล่อยตัวที่เหมาะสม มิใช่ปล่อยให้เรือนจำอันเป็นหน่วยงานบังคับโทษมีอำนาจกระทำโดยลำพัง
  3. ประเทศไทยใช้นโยบายแก้ไขคนล้นคุกมาตลอด โดยออกกฎหมายเพื่อช่วยเรื่องนี้มาแล้วหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 2562 พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย 2565 พ.ร.บ.พืชกระท่อม 2565 พ.ร.บ.ประมวลยาเสพติด 2564 ฯลฯ ที่ให้พืชกระท่อมและกัญชา เปลี่ยนเป็นยาเสพติดประเภทไม่ร้ายแรง (soft drugs) ทำให้กรมราชทัณฑ์ปล่อยนักโทษในคดีต่างๆออกจากเรือนจำไปแล้วนับหมื่นคน
  4. ปัญหาการใช้อำนาจ ลดโทษ พักโทษ ปล่อยตัว ของราชทัณฑ์ ยังเป็นข้อครหาถกเถียงถึงความเหมาะสมในดุลยพินิจอำนาจราชทัณฑ์กับอำนาจพิพากษาในคดีของศาลยุติธรรม มาโดยตลอด เห็นได้จากปรากฏการณ์เลื่อนชั้นนักโทษคดีทุจริตจำนำข้าว อย่างรวดเร็วต่อเนื่องผิดปกติ 3ครั้งใน 1 ปี ทำให้นักโทษบางรายได้รับประโยชน์รับอภัยลดโทษไปมากกว่า 10-37 ปี ทั้งๆ ที่คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาตัดสินจำคุกสูงสุด 48 ปี เพราะถือเป็นคดีอุกฉกรรจ์ทุจริตโกงชาติถือเป็นภัยสังคม
  5. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ (12 เม.ย.2565) เคยรับทราบรายงานของกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับการอภัยโทษ ซึ่งเป็นการปรับปรุงแนวทางการจัดชั้น เลื่อนชั้นนักโทษ ให้มีแนวทางชัดเจนขึ้น โดยเป็นการรับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ มีเรื่องสำคัญบางประการได้แก่
    • กำหนดให้นักโทษที่จะได้รับอภัยโทษ (ไม่ว่าลดโทษหรือปล่อยตัว) ต้องผ่านระยะปลอดภัย คือ ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือรับโทษจำคุกมาแล้ว 8 ปี (แล้วแต่ระยะเวลาใดถึงก่อน) และไม่ว่าจะเป็นนักโทษชั้นใด หลังจากนั้น จึงจะดูอายุ สุขภาพ การจัดชั้น เพื่อลดโทษ ยกเว้นแต่เป็นการถวายฎีกาเฉพาะราย
    • วางหลักเกณฑ์ใหม่ที่เข้มขึ้นเกี่ยวกับการลดโทษคดีร้ายแรงในความรู้สึกของสังคม เช่น คดียาเสพติด คดีทุจริต คดีที่ศาลให้ประหารชีวิตโดยให้การลดโทษและปล่อยตัว
    • การจัดชั้นนักโทษ (ดี ดีมาก เยี่ยม) จะเข้มขึ้นและมีกฎเกณฑ์มากขึ้นเป็นต้น

ข้อเสนอแนะเร่งด่วน

  1. สมควรให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ และ พ.ร.บ.ให้ใช้ธรรมนูญศาลยุติธรรม กำหนดให้มีศาลแผนกบังคับโทษ มีอำนาจหน้าที่ในการติดตามผลบังคับโทษ และมีอำนาจในการพิจารณาการพักโทษนักโทษเด็ดขาด
  2. หน่วยที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาในเรื่องดังกล่าวตามหลักยุติธรรมสากลโดยยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรมอย่างเคร่งครัด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่