หน้าแรก Voice TV ‘ณัฐพงษ์’ ฝาก 5 ก้าวการบ้านรัฐบาล ต้องปฏิรูปงบประมาณให้โปร่งใส

‘ณัฐพงษ์’ ฝาก 5 ก้าวการบ้านรัฐบาล ต้องปฏิรูปงบประมาณให้โปร่งใส

68
0
‘ณัฐพงษ์’-ฝาก-5-ก้าวการบ้านรัฐบาล-ต้องปฏิรูปงบประมาณให้โปร่งใส

‘ณัฐพงษ์’ ฝากการบ้านรัฐบาล 5 ก้าว ต้องเอาจริงปฏิรูปงบประมาณให้โปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วม ลั่นเวทีนี้ไม่ได้มาทำลาย แต่เพื่อเอาชนะรัฐบาล

วันที่ 5 ม.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย หลังจากสมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางแล้ว ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนสุดท้ายเพื่อสรุปเนื้อหาของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ณัฐพงษ์ ออกตัวว่า ตนเองเคยเป็นผู้ออกเสียงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยมาก่อน เพราะมองว่ารัฐบาลในยุคนั้นเป็นตัวแทนพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่มีแรงส่งมาจากรัฐบาล ทักษิณ 1 ช่วงปี 2540 ปฏิรูประบบราชการ นวัตกรรมการเมืองใหม่ๆ อาทิ นโยบายกึ่งการคลัง ที่ช่วยพลิกฟื้นประเทศได้ จนกระทั่งมาถึงยุค ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ ช่วงปี 2550 ยังคงมีแรงส่งจากรัฐบาลเดิมเกื้อหนุนอยู่ นโยบายต่างๆ ที่สำเร็จเป็นที่จดจำของคนไทยหลายคน เช่น กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค หรือนโยบายอื่นๆ เช่นการรับจำนำข้าว 

ล้วนทำในรูปแบบกองทุน หรือรูปแบบกึ่งการคลังแทบทั้งสิ้น ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายวินัยการเงินการคลัง และดำเนินนโยบายควบคู่ไปกับเครื่องมืออื่นๆ อย่างการปฏิรูปกระบวนการงบประมาณและบัญชีภาครัฐ ดังมติ ครม. ในวันที่ 15 ม.ค. 2545 ให้มีการปรับปรุงกระบวนการงบประมาณ และการบัญชีภาครัฐเสียใหม่ โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยลดขั้นตอนการเบิกจ่าย และสามารถรายงานผลแบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังช่วยขจัดปัญหาคอรัปชันได้ ถือเป็นคุณปการและหมุดหมายสำคัญของการปฏิรูประบบการคลัง

“แต่แรงส่งเดิม บุญเก่าๆ เหล่านั้น กำลังจะส่งมาไม่ถึงรัฐบาลชุดนี้ นอกจากท่านกำลังจะถูก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 28 ค้ำคอแล้ว กฎหมายที่กำลังจะทำให้ท่าน คิดใหญ่ ทำไม่เป็น หรืออาจจะทำให้ท่าน คิดไป ทำไป หรือคิดอย่าง ทำอย่าง มาตกม้าตาย เพราะจะใช้เพียงวินัยกึ่งการคลังแบบเดิมๆ วิธีเดียว ไม่ได้อีกต่อไป” 

ณัฐพงษ์ ชี้ว่า การผลักดันนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นอย่างมาก เพื่อกระตุ้นการบริโภค ต้องมาหวังพึ่ง พ.ร.บ.กู้เงิน ที่รอคำตอบคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งถ้าตอบมาแบบกำกวม คิดว่ารัฐบาลไม่กล้าเสี่ยง และต้องกลับไปหากึ่งการคลังแบบเดิมๆ ที่ทำไม่ได้อีกแล้ว เพราะมีกฎหมายวินัยการเงินการคลังอยู่

ณัฐพงษ์ หยิบยกวิกฤตจริง ที่ไม่ใช่วิกฤตทิพย์ คือวิกฤตทางการคลัง ที่ตัวเลข GDP เป็นโรคเรื้อรัง และรัฐบาลไม่มีพื้นที่ทางงบประมาณมาผลักดันอะไรได้อีก และวิกฤตด้านความสามารถในการแข่งขัน อย่างอุตสาหกรรม EV ซึ่งฝ่ายค้านชี้ว่า รัฐบาลจัดสรรงบแบบผิดฝาผิดตัว ตลอดจนวิกฤตสิ่งแวดล้อม รัฐบาลต้องคิดอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ แต่รัฐบาลไม่ได้คิดเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าหรือ จึงมาอาศัยงบกลาง

ส่วนเรื่องความสงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐบาลยังค้างคำตอบของปมคดีที่ยังค้างคาใจ ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 25 ธ.ค. 2567 นี้ อยากให้นายกรัฐมนตรีคลี่ปม อย่างที่ท่านบอกว่ากระบวนการทางนิติรัฐ นิติธรรม ไม่ต้องใช้งบประมาณ และขอฝากท่านในฐานะ ผอ. กอ.รมน. ทราบหรือไม่ว่าแม่ทัพภาค 4 ส่วนหน้า ยังคงดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างอยู่เลย ซึ่งขัดกับนโยบายที่นายกรัฐมนตรีแถลงในสภาฯ

ณัฐพงษ์ เสนอวิธีแก้ปัญหางบไม่ตรงปก ที่พบอยู่ในทุกจุด เช่น งบแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก กลับมีเพียงงบติดอุปกรณ์สนามบิน และงบจัดสัมมนา หรือแผนงานเกษตรสร้างมูลค่า กลับกลายเป็นเพียงงบชำระหนี้ ธ.ก.ส. วันนี้การจัดทำงบประมาณเข้าขั้นวิกฤต แม้แต่สำนักงบประมาณก็ยังไม่สามารถเคาะตัวเลขให้เห็นได้ทันที เพราะระบบงบประมาณยังมีปัญหา ซึ่งฝ่ายค้านมีทางออก ประกอบด้วย 2 ก้าวทำทันที 1 ก้าวทำปีหน้า 1 ก้าวทำครึ่งเทอม และ 1 ก้าวทำ 4 ปี

ก้าวทันที ที่ 1 นายกรัฐมนตรีเอาจริงกับการปฏิรูปการจัดทำงบประมาณ ให้มีความโปร่งใส และประชาชนมีส่วนร่วม แต่ปัจจุบันสำนักงบประมาณ ยังไม่ส่งคำขอข้อมูลงบประมาณของกรรมาธิการกลับคืนมา จึงขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้สำนักงบฯ ส่งข้อมูลให้คณะกรรมาธิการฯ โดยทันที มิเช่นนั้นกรรมาธิการจะดำเนินตาม ป.อาญา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ก้าวทันที ที่ 2 ในฐานะผู้กุมเสียงข้างมากในสภา ต้องปฏิรูปกระบวนการอนุมัติงบในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณ 2567 อย่าแบ่งอนุกรรมการศึกษางบประมาณฯ ตามผู้รับเหมา แต่ให้แบ่งตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ภายใต้บริบทโลก และความต้องการของประชาชน ส่วนก้าวที่ 3 ทำได้ในปีงบประมาณ 2568 ที่รัฐบาลจะไม่มีข้ออ้างว่าไม่ใช่งบของรัฐบาลแล้ว ต้องมีมาตรการในเชิงนโยบายเพื่อป้องกันการล็อกสเปคโดยไม่ผ่านการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง 

สำหรับก้าวที่ 4 สามารถทำได้ในครึ่งเทอม คือจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ เพื่อให้รัฐบาลสามารถตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ ได้ ที่ให้รัฐบาลจัดสรรงบงานภารกิจ เช่น แผนบูรณาการ แผนยุทธศาสตร์ ส่วนงบงานประจำ เป็นการจัดสรรโดยข้าราชการประจำ ที่งบแต่ละประเทศก็จะมีการพิจารณาแตกต่างกันด้วย สำหรับก้าวที่ 5 ซึ่งทำใน 4 ปี คือการจัดสรรงบประมาณโดยเอาภารกิจนำ 

“เวทีการพิจารณางบประมาณ 3 วันนี้ ไม่ได้มาทำลายล้างท่าน แต่เป็นเวทีที่พวกผมมาซ้อมมือเพื่อเอาชนะท่าน พวกเราจะเอาชนะท่านด้วยการทำงานที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ และข้อเสนอในการบริหารประเทศที่ดีกว่า ด้วยการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ทำงานอย่างเข้าใจปัญหา และรู้วิธีแก้ปัญหาไม่แพ้ท่าน มาแข่งกันเอาชนะใจประชาชน วันนี้อำนาจอยู่ในมือท่าน บริหารให้ดี เพราะผมคิดว่าผู้แพ้จากการทำหน้าที่ของตัวเองใน 4 ปีนี้ จะถูกบดขยี้ด้วยฉันทามติของประชาชน” ณัฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่