เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2567 นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างรักษาตัวนอกเรือนจำ โดยทุกห้วงเวลานับตั้งแต่รักษาตัวครบ 30 วัน ครบ 60 วันและเกินกว่า 120 วัน เป็นไปตามขั้นตอนที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์จะต้องมีความเห็นและรายงานไปตามลำดับชั้น ซึ่งทั้งปลัดกระทรวงยุติธรรม และ รมว.ยุติธรรม ได้เซ็นรับทราบการอนุญาตนอนพักรักษาตัวนอกเรือนจำของนายทักษิณ ถือว่าเข้าเงื่อนไขและปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย
ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า กรณีของนายทักษิณ ที่นอนพักรักษาตัวนอกเรือนจำ ถูกตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นต้น โดยเฉพาะสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีตัวแทนขึ้นไปบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ และได้พบนายทักษิณ
ส่วนตัวเชื่อมั่นว่านายทักษิณนอนพักที่ รพ.ตำรวจ จริง ไม่ได้อยู่ที่คอนโดฯ อย่างที่สังคมเคลือบแคลงสงสัยแน่นอน
ขณะที่นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และในฐานะโฆษก กล่าวถึงความคืบหน้าของระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราชทัณฑ์ได้ประชุมและรายงานต่อคณะกรรมการราชทัณฑ์ให้รับทราบถึงการดำเนินการ เพราะกฎกระทรวงกำหนดให้กรมราชทัณฑ์ต้องออกระเบียบนี้
ส่วนความคืบหน้าของระเบียบแนวทางการปฏิบัติและกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่จะต้องมารองรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งในวันประชุม ฝ่ายเลขาได้เสนอในที่ประชุมว่าหากคณะกรรมการราชทัณฑ์มีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางกรมราชทัณฑ์จะต้องรับฟัง อีกทั้งในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิจะส่งข้อมูลให้กรมราชทัณฑ์ เพื่อเตรียมยกร่างหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณา
แต่ขณะนี้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำยังไม่ได้ดำเนินการใด เพราะรอระเบียบหลักเกณฑ์แนวทางการปฏิบัตินี้ก่อน ส่วนกลุ่มผู้ต้องขังในรายคดีใดที่จะได้รับการละเว้นจากระเบียบดังกล่าว ก็ต้องใช้ในการจำแนกวิเคราะห์เช่นกันว่ารายคดีใดจะได้ประโยชน์ หรือรายคดีใดต้องละเว้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน ส่วนจำนวนผู้ต้องขังล็อตแรกที่จะใช้พิจารณาก็ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอการศึกษาให้รอบด้านและต้องรอฟังความเห็นจากคณะกรรมการราชทัณฑ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อ่านข่าว : “ราชทัณฑ์” หวั่นตีตรานักโทษ ไม่ใช้ น.ช.กับ “ทักษิณ ชินวัตร”
รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังกล่าวถึงประเด็นโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ว่า เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของผู้ต้องขังที่มีสิทธิ์ได้รับ แต่การพิจารณาว่าผู้ต้องขังรายใดจะเข้าเกณฑ์โครงการดังกล่าวนั้น ผู้บัญชาการเรือนจำแต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติและความเหมาะสม ทั้งแบบกรณีมีเหตุพิเศษและแบบปกติ ซึ่งผู้ต้องขังไม่สามารถเสนอตัวเองได้ อย่างไรก็ตามเรือนจำแต่ละแห่งจะพิจารณาผู้ต้องขังที่ผ่านเกณฑ์พักโทษในทุกเดือน แล้วเสนอรายชื่อมายังกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษที่จะประชุมในทุกเดือน
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับรายงานจาก ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถึงประเด็นรายชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร ว่าเข้าเกณฑ์โครงการพักการลงโทษหรือไม่
สำหรับคุณสมบัติของนายทักษิณ หากดูจากหลักเกณฑ์ที่ว่าเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง สูงวัยและมีอาการเจ็บป่วย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาในโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป (นักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป) แต่วันนี้กรมราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงยังไม่มีข้อมูล
ส่วนกระบวนการ หากนายทักษิณผ่านเข้าโครงการดังกล่าวจริง จะเป็นการดำเนินการโดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แนวทางปฏิบัติเรื่องเอกสาร รวมถึงกรณีการติดกำไล EM จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพักการลงโทษที่จะพิจารณาเหตุต่างๆ หากจะไม่ติดกำไลก็ต้องมีเหตุผลประกอบ
นายสิทธิ ยังกล่าวถึงระบบพักการลงโทษว่า หากผู้ต้องขังคนใดเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ตามขั้นตอนแล้วจะต้องมีรายชื่อของผู้อุปการะ ซึ่งกรมคุมประพฤติจะต้องไปสืบเสาะว่าใครจะเป็นผู้อุปการะผู้ต้องขัง และเมื่อพักโทษจะประกอบอาชีพใด และจะต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติอย่างไรบ้าง หรือกำหนดอาณาเขตว่าห้ามพ้นรัศมีเท่าใด หรือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ส่วนบทบาททางการเมืองในระหว่างการพักโทษ สามารถกระทำได้ หากไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือทำผิดระเบียบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ละเมิดสิทธิคนป่วย” ชั้น 14 หรือ “นักโทษวีไอพี” ละเมิดสิทธิคนไทย
“สมชาย” เตือน จนท.อย่าใช้วิธีพิเศษช่วย “ทักษิณ” ระวังจะถูกดำเนินคดีแทน