‘พริษฐ์’ มั่นใจการกระทำ ‘สส.ก้าวไกล’ ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง แง้มหากคำวินิจฉัยเป็นลบ พรรคมีแผนรองรับไว้แล้ว เผย พรุ่งนี้ ‘หัวหน้าพรรค-สส.’ ทุกคน อยู่ประชุมสภาฯ ไม่ได้ไปศาล
วันที่ 30 ม.ค. ที่พรรคก้าวไกล พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ (31 ม.ค.) กรณีการหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่
พริษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลพยายามเต็มที่ในการชี้แจงต่อข้อสงสัย และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเราผ่านกระบวนการยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าการกระทำของพรรคและ สส. ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่มีการกระทำใดที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามข้อกล่าวหา
“หากจะพูดเจาะจงเกี่ยวกับกรณี ที่มี สส.พรรคก้าวไกลในสภาชุดที่แล้ว ยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เราก็ต้องยืนยันว่าการกระทำของ สส. คนดังกล่าวไม่ได้เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ทั้งในเชิงของกระบวนการ และเนื้อหาสาระ เพราะท้ายสุดยื่นเข้าไปแล้วก็ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน” พริษฐ์ กล่าว
พริษฐ์ ยืนยันว่า สส.ของพรรคทุกคน รวมถึง ชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ก็จะอยู่ที่สภา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ สส. เพราะน่าจะมีหลายวาระสำคัญที่เข้าสู่ที่ประชุม สส. ทุกคนจึงอยากมีสมาธิเต็มที่ในการประชุมสภาฯ โดยเมื่อคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ก็คงมีการฟังคำวินิจฉัยที่สภา และหากมีความเห็นอะไรต่อจากนั้นก็จะมีการแถลงต่อสื่อมวลชน
ทั้งนี้ หากศาลมีคำวินิจฉัยว่าให้ยุติการหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 พริษฐ์ กล่าวว่า ต้องรอดูคำวินิจฉัยของศาลก่อน คงต้องรออีก 1 วัน แต่ในวันนี้ก็ต้องยืนยันว่าสิ่งที่พรรคหรือ สส. ได้ทำลงไป ไม่มีการกระทำใดที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
สำหรับแผนรองรับหลังจากนี้กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่เป็นลบ พริษฐ์ เผยว่า พรรคก้าวไกลได้มีการวางแผนสำหรับทุกสถานการณ์ไว้อยู่แล้ว แต่ในเวลานี้ต้องยืนยันว่า ทุกการกระทำของพรรคและ สส. ยังไม่มีอะไรเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และหากศาลมีคำวินิจฉัยเป็นอื่นใด ก็ต้องรอฟังความเห็นและเหตุผล
ส่วนกรณีพรรคร่วมรัฐบาลเสนอเลื่อนญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขึ้นมา พริษฐ์ กล่าวว่า ต้องรอดูก่อนว่าจะมีการเลื่อนญัตติขึ้นมาจริงหรือไม่ ซึ่งกำลังหารือร่วมกันระหว่างวิปทั้งสองฝ่าย
“แต่หากถอยสักก้าว แล้วพูดถึงภาพใหญ่ในเรื่องนิรโทษกรรม พรรคก้าวไกลยืนยันมาโดยตลอดว่าการนิรโทษกรรมคดีการเมืองจะเป็นกุญแจเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง และพยายามฟื้นฟูระบบประชาธิปไตยที่ปกติ วิธีการอาจจะแตกต่างกันไป ซึ่งพรรคก้าวไกลจะใช้วิธีการยื่นร่างกฎหมาย ส่วนพรรคเพื่อไทยเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ก็เป็นสิทธิของพรรคเพื่อไทย”
อย่างไรก็ตาม หากร่างกฎหมายของเราได้เข้าพิจารณาก่อน ก็จะใช้เวทีดังกล่าวในการอภิปราย ซึ่งจะสำเร็จได้คือต้องโน้มน้าว สส. จากพรรคการเมืองอื่นๆ ให้มาเห็นชอบกับร่างกฎหมายในฉบับของพรรคก้าวไกล
นัด ‘ดินเนอร์ฝ่ายค้าน’ 1 ก.พ. แค่หารือทั่วไป
พริษฐ์ กล่าวถึงการนัดรับประทานอาหารเย็นกระชับมิตรของแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันที่ 1 ก.พ. นี้ ซึ่งเป็น 1 วัน หลังจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีพรรคก้าวไกลหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาฯ มาตรา 112
โดย พริษฐ์ กล่าวว่า เรื่องวันที่ประจวบเหมาะกัน น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ ความจริงการหารือร่วมกันระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นประจำ เพื่อให้การทำงานร่วมกันมีเอกภาพ แม้ว่าการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้าน อาจจะไม่ได้ลักษณะเดียวกันกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะอาจไม่ได้มีการรวมตัวกันเป็นกิจลักษณะ แต่การหารือแนวทางการทำงานร่วมกันก็เป็นเรื่องสำคัญ
ส่วนเรื่องหัวข้อในการอภิปรายทั่วไป พริษฐ์ กล่าวว่า เคยถูกพูดคุยอย่างเป็นทางการในการประชุมมาแล้วเบื้องต้น แม้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจเรื่องวันเวลา แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากงบประมาณปี 2567 ผ่าน 3 วาระไปแล้ว ซึ่งเวลาที่เป็นไปได้สุดคือช่วงต้นเดือน เม.ย. ก่อนที่จะปิดสมัยประชุม ส่วนจะเป็นการแบบลงมติหรือไม่ต้องหารืออีกที
ขณะที่อาจมีเปรียบเทียบกับการรับประทานอาหารร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น พริษฐ์ กล่าวว่า ในวันพฤหัสนี้เป็นการหารือทั่วไปที่เกิดขึ้นโดยปกติอยู่แล้ว
“แต่ในระบบรัฐสภา ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ไม่ได้มีลักษณะเหมือนกัน พรรคร่วมฝ่ายค้านในหลายประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา อาจจะมีจุดยืนที่เหมือนและแตกต่างกันไปแล้วแต่กรณี เพราะอาจไม่ได้ตั้งใจมารวมกันเพื่อเป็นฝ่ายค้าน แต่เป็นกลุ่มพรรคที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการตั้งรัฐบาลเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม พริษฐ์ ย้ำว่า จุดไหนที่เห็นตรงกัน ก็ร่วมมือกันได้ และจะพยายามร่วมมือกันอย่างเป็นเอกภาพที่สุด ในมุมของพรรคก้าวไกล ตั้งเป้าจะให้เวทีสภาผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ในวันที่เราเป็นเสียงข้างน้อย เราจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจาก สส. ทั้งพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลด้วย หากมีวาระใด ที่ไม่ว่าจะเป็นพรรตใดที่จะมาร่วมกับเรา ก็เป็นหน้าที่และความต้องการ ของเราที่จะแสวงหาความร่วมมืออยู่แล้ว
สำหรับช่วงเวลาในการนัดรับประทานอาหารนั้น พริษฐ์ เผยว่า เท่าที่ทราบคือช่วงเย็นของวันพฤหัส (1 ก.พ.) หลังการประชุมสภาฯ เป็นร้านในละแวกรัฐสภา แต่รายละเอียดชื่อร้าน ขอให้รอการแถลงอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ร้านอาหารดังกล่าวมีชื่อว่า ‘เส่ย’ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับอาคารรัฐสภา